ไลฟ์สไตล์

'ก๊อด ไดมอนด์'เจ้าพ่อมงกุฎนางงาม

25 ม.ค. 2557

'ก๊อด ไดมอนด์'เจ้าพ่อมงกุฎนางงาม : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์

 
 
                  เพียงแค่ต้องการ "โปรไฟล์" แท้ๆ สี่ปีก่อน "ชวลิต ชมเมือง หรือ "ก๊อด ไดมอนด์" จึงเสนอตัวเข้าไปออกแบบมงกุฎให้แก่เวทีประกวดนางงาม
 
                  ทว่า ผลงานเข้าตาผู้จัด! หลังจากนั้นมางานออกแบบและผลิตมงกุฎนางงามตามออเดอร์ จึงกลายเป็นงานหลัก โดยผลงานล่าสุดคือ มงกุฎของนางสาวเชียงใหม่ และนางสาวไทยปี 2556
 
                  ชวลิต เรียนจบด้านนิเทศศิลป์โฆษณา จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทำงานอยู่พักหนึ่ง เมื่อบิดาป่วยจึงหยุดงานมาดูแลเป็นเวลา 4 ปีเต็ม
 
                  หลังจากนั้นเพื่อนซึ่งมีร้านนาฬิกา ชวนให้ออกแบบงานจิวเวลรี่มาวางขายในร้าน แต่ความที่เขาคิดว่า หากจะทำต้อง "รู้จริง" จึงลงทุนไปเรียนหลักสูตรดังกล่าวอีก 1 ปี ขณะอายุ 33 ปี
 
                  "ก่อนหน้านั้นหยุดการทำงานไปช่วงหนึ่งดูแลพ่อป่วย จนพ่อเสีย เพื่อนมาคุยกันว่า มาหาอะไรทำกันดีกว่า ผมเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เรียนค่อนข้างโอเค เพื่อนเสียดายก็เลยดึงตัวมาช่วยงาน ทำจิวเวลรี่ดีกว่าไหม ทำไงให้โอเคสุด ตั้งโจทย์หาข้อมูลกัน ผมเรียนจบด้านนิเทศศิลป์โฆษณาจากเพาะช่าง แต่ไม่ทำงานด้านนี้เลย ก่อนหน้านี้ทำงานออกแบบเครื่องประดับให้ "คุณก๊อท" จักรพันธ์ อาบครบุรี (นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง) เป็นงานนางโชว์มากกว่า 
 
                  "เราอยากออกแบบแหวนไปวางขายในร้าน แต่คิดว่าต้องรู้จริงด้วย ก็เลยไปเรียน หาที่เรียนที่ถูกที่สุด ผมเรียนเป็นช่างเลย เป่าไฟ ขัดแต่ง คือรู้เลยว่าช่างเหนื่อย แต่เราไม่ได้เกิดมาลุยขนาดนั้น ข้อมือต้องแข็ง ตอนที่เรียนก็ท้อ เอาเหล็กกับเหล็กขูดเจาะ ขูดกันให้เป็นรอย...พอคิดจะทำจิวเวลรีว่าจะทำแหวนอย่างเดียว ก็เห็นว่าที่อื่นก็มีขาย ใครมีเงินก็ซื้อแหวนสำเร็จมาวางขายได้ เราจบอาร์ต จบเพาะช่าง น่าจะทำอะไรแตกต่าง ทำอะไรที่มีโปรไฟล์ดีกว่า มองมงกุฎนางงามว่าน่าจะตอบโจทย์ได้ดีเลยลองดู"
 
                  ความที่เป็น "หน้าใหม่" ไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน ไม่ได้อยู่ในวงการ จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกค้าไม่เชื่อใจ
 
                  สิ่งที่เขาทำในตอนนั้นคือ พรีเซ้นต์ผลงาน ความคิด มีความรู้ด้านศิลปะ และยืนยันว่าสามารถผลิตงานให้ได้ตามกำหนดเวลา 
 
                  ผลงานชิ้นแรกก็สร้างความน่าเชื่อถือให้คุณก๊อดไม่น้อย 
 
                  "งานแรกเป็นงานต่างประเทศ ทำมงกุฎให้แก่มิสทัวริสม์ ควีน อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ผู้ใหญ่ค่อนข้างพอใจ เลยมีโอกาสทำให้คุณบุรินทร์ วงศ์สงวน อีกท่านซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลการผลิตมงกุฎนางสาวไทยมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว ท่านดูแลการประกวดนางสาวไทยปี 2552 หลังจากนั้นคนบอกกันปากต่อปาก ผมได้ทำมงกุฎของมิสไทยแลนด์เวิลด์ และอีกหลายเวทีต่อมาเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือเวทีมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส เวทีนางสาวเชียงใหม่ การประกวดนางสาวไทย ผลงานที่ผ่านมา เช่น มงกุฎของมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี 2553-2554 นางสาวสงกรานต์ ธิดาระนอง เยอะมาก" 
 
                  ขนาดว่าไม่มีหน้าร้าน อาศัยลูกค้าบอกกันปากต่อปาก หนุ่มก๊อดก็มีออเดอร์เฉลี่ยปีละ 50 มงกุฎแล้ว 
 
                  และว่า "ตอนนี้งานเต็มทั้งปีแล้ว..จับพลัดจับผลูทำ ไม่มีใครทำมาก่อน ทำก่อนได้ก่อน เมื่อก่อนไม่คิดว่าจะทำเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้ คือคิดว่าจะทำเพื่อเป็นโปรไฟล์ตัวเองเท่านั้นว่าเคยทำมงกุฎให้เวทีนี้มาก่อน ตอนนี้ทำให้ทั่วประเทศไทย มีของมิสสิงคโปร์ มิสสวิตเซอร์แลนด์อีก เรารู้สึกว่าโอเคแล้วนะ"
 
                  เชื่อหรือไม่ว่าในการทำมงกุฎแต่ละครั้ง ลูกค้าส่วนใหญ่บอกว่าทำมงกุฎสำหรับเวทีนี้ ไม่มีคอนเซ็ปต์ให้ เป็นหน้าที่ของที่ต้องไปหาโจทย์เอง
 
                  "ที่อื่นออกแบบก่อนใส่คอนเซ็ปต์ทีหลัง ของผมคิดคอนเซ็ปต์ก่อน หาแรงบันดาลใจ และออกแบบให้เข้ากับเวทีนั้น เราต้องไปหาโจทย์ เพราะอยากสร้างความแตกต่าง เช่น นางสาวสงกรานต์ ค้นประวัติว่าคืออะไร คืออะไรมีเทพธิดา 7 องค์ ต้องมารับศีรษะพ่อ (ท้าวกบิลพรหม) เราออกแบบให้มีมงกุฎมีเจ็ดยอดเป็นเกล็ดน้ำ มีความเกี่ยวเนื่อง มีลายไทย แต่ละแห่งไม่ซ้ำกัน อย่างมิสทิฟฟานี่ออกแบบเป็นนกยูง เพราะมิสทิฟฟานี่เป็นผู้ชายสวยสุด แล้วนกยูงที่สวยที่สุดคือตัวผู้ ทุกคนเออจริง ลืมไป เดิมว่ามองเป็นตัวเมีย ผู้หญิง เป็นจุดเริ่มฮือฮาว่าคนนี้มีอะไร"
 
                  สำหรับเวทีนางสาวไทย คุณก๊อดมองว่า นางสาวไทยมาจากสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย วชิราวุธมาจากรัชกาลที่ 6 คนดูแลต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี 
 
                  "พระองค์ท่านทรงอุปถัมภ์ ทำไงเพื่อเชิดชูเกียรติท่าน ค้นว่ามีเครื่องประดับของพระองค์ท่าน พระพันปีหลวงพระราชทานลงมา เป็นสร้อยคาร์เทียร์ เอามาออกแบบเป็นมงกุฎ พอเสนอเรื่องกับผู้ใหญ่บอก ทางวชิราวุธชอบมาก เพราะเกี่ยวเนื่องกับทางวชิราวุธ และมีตราของวชิราวุธเดิมทำเป็นรูปสามง่าม ต้องเป็นวชิระมี 5 ง่าม มียอดตรงกลางอีกอัน เราออกแบบเป็นสามมิติให้เห็น เราทำการบ้านหนักตอบโจทย์ให้ลูกค้า เหมือนเป็นการดูแลลูกค้าด้วยผลงาน ตรงนี้อาจทำให้ลูกค้าชอบในการร่วมงานกับผม"
 
                  ส่วนมงกุฎนางสาวเชียงใหม่ ซึ่งจัดประกวดเมื่อต้นปี 2557 ก็มีคอนเซ็ปต์เช่นกัน 
 
                  "ผมไปค้นข้อมูลว่า ล้านนาคืออะไร มีศิลปวัฒนธรรมคืออะไร ศิลปะท้องถิ่น พบว่ามีลายกนกผักกูด ลายกนกหัวขด ลายเมฆไหล เป็นลายประจำท้องถิ่น เอาไงมาบวกกันได้ กองประกวดอยากได้นกยูงอีก เรากลัวว่าเคยใช้นกยูงทำให้มิสทิฟฟานี่จะชนกันไหม พอไปค้นข้อมูล "นกยูง" ทางล้านนาหมายถึง หญิงสูงศักดิ์ สวยงาม เราเอาหน้าบัน วัดพันเตา ออกแบบผสมผสาน นกยูงวัดพันเตาดูแข็งๆ นิดหนึ่ง ทำไงให้ดูหวาน ซอฟท์ลง ก็หาแบบให้ดูซอฟท์ลง เราก็หาลายกนกผักกูด มารวมกันเป็นลายใหม่ขึ้นมา...ลายของสร้อย (มงกุฎนางสาวไทยปีล่าสุด) มงกุฎนี้มีลายมงกุฎสามอย่างมารวมกัน เมื่อก่อนเป็ลายผ้าปักกำมะหยี่ และเอาลายพระศอ ส่วนวชิระทำให้เหมือนตราของวชิราวุธมากสุด และเอาไว้สูงสุด เพราะเป็นชื่อของรัชกาลที่ 6 เราต้องเชิดชู" 
 
                  สำหรับสนนราคา หากเป็นมงกุฎขนาดเล็กราคาขั้นต่ำ 4 หมื่นบาท โดยขึ้นกับคุณภาพ โครงสร้าง และรายละเอียดของงาน 
 
                  ขณะที่ราคามงกุฎนางสาวไทยอยู่หลักหลายแสนบาท เพราะใช้เพชรจริง พลอยจริง 
 
                  "อย่างของมิสไทยแลนด์เวิลด์ ผมออกแบบให้ดึงจี้ออกจากมงกุฎมาใช้ได้เลย คือในมงกุฎทำเป็นลายประกอบลงไป วันไหนไม่ใช้ก็ดึงออกมาเป็นจี้ เป็นเข็มกลัดได้ อันนั้นเป็นเพชรจริง พลอยจริง เป็นกิมมิคให้ลูกค้าว่า นางงามได้นำไปใช้จริงได้ด้วย วันไหนไม่ต้องออกงานใส่มงกุฎ ก็ใส่เป็นจี้ไปงานกลางคืนได้ บางกรณีผมถูกใจลูกค้าทำเข็มกลัดจำลองให้อีกที คือเอาของจริงมาทำเข็มกลัด ส่วนที่อยู่บนมงกุฎเป็นพลอยหรือเพชรเทียม คือลดแลกแจกแถมไป"  
 
                  แม้เป็นการลดแลกแจกแถม หรือทำเกินจากที่ตกลงกันไว้ เขาจะบอกให้ลูกค้าทราบ เข้าใจว่าเป็นเทคนิคในการ "มัดใจ" ลูกค้า ดังที่คุณก๊อดบอกว่า
 
                  "เราเป็นคนออกแบบเอง เติมตรงนี้ใส่ไป เอ๊ะสวยขึ้น แล้วเราจะลดหรือ มันค้านความรู้สึก ก็ใส่ไปเถอะ ทำไป แต่จะบอกลูกค้า หากไม่บอกลูกค้าไม่รู้ 
 
                  และเราออกแบบมาอีกอย่าง พอทำจริงใส่ไปเกินร้อย บอกว่าเราเติมโน่นนี่นั่นให้ ลูกค้าพอใจเพราะเขาได้ประโยชน์ แต่เราต้องบอกเพื่อให้ลูกค้าประทับใจด้วย"
 
                  ความประทับใจนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่ "ผลงาน" คงเป็นปัจจัยหลัก มิเช่นนั้นลูกค้าคงไม่พากันสั่งจองตั้งแต่ต้นปี ! 
 
 
 
 
"ใส่แล้วต้องสวย สง่า เป็นนางพญา"
 
 
                  คุณก๊อดบอกว่า มีบ้างบางครั้งที่ลูกค้าให้โจทย์มาบ้าง แต่เขาต้องตีกรอบให้ เช่น บางคนอยากได้มงกุฎสูง 17 เซนติเมตร เราบอกสูงไปไม่สวยนะ หากทำวงบานไปก็ไม่สวย หรือใช้พลอยสีนี้เวลาขึ้นเวทีเป็นแบบนี้ ไม่เหมาะอีกเช่นกัน
 
                  "บางครั้งผู้ใหญ่ขอเปลี่ยนตรงนั้น ตรงนี้ เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนให้ ผมไม่ดื้อ แต่เปลี่ยนแล้วไม่สวยเราต้องบอก เพราะออกมาไม่ดีคนถูกด่าคือผม ผมไม่มีหน้าที่ชี้แจงว่าตรงนี้ผู้ใหญ่บอก...บางทีลูกค้าอยากได้โน่นนี่ เหมือนความชอบส่วนตัวชอบกินเผ็ด เช่น กินแกงส้มแต่เอาเผ็ดๆ มันไม่กลมกล่อม เรามีหน้าที่บอกเขาว่าต้องลดเผ็ด ลดเค็ม มงกุฎก็เหมือนกัน พลอยสีนี้เวลาเข้าแสงไฟแล้วไม่สวยนะ ลูกค้าบางคนก็เชื่อ บางคนไม่เชื่อ แต่เราดื้อเหมือนกัน สู้ก่อน ไม่กลัวว่าลูกค้าโกรธ"
 
                  "ผมคือผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ หน้าที่คือทำให้งานออกมาดี ถ้ามาเดินตามความต้องการของลูกค้า เช่น อยากได้มงกุฎสูง 17 เซนติเมตร ตัววงบานออกไป ทำแล้วออกมาไม่สวย ผมไม่ทำดีกว่า คือมันสูงมากใส่แล้วไม่สวย บางคนบ่นว่าทำไมใส่แล้วหนัก ผมบอกถ้างั้นไม่ต้องประกวดนางงาม มันต้องใส่มงกุฎ และเมืองไทยไม่เหมือนเมืองนอก นางงามเมืองนอกใส่มงกุฎปีละ 2-3 ครั้ง วันรับตำแหน่งและงานอีเวนท์ แต่ของไทยได้ตำแหน่งต้นปี ออกงานตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี"
 
                  "น้ำหนักมงกุฎโดยเฉลี่ย 600-700 กรัม เราออกแบบจะรู้ว่าลวดลายบางอย่างกดศีรษะทำให้ปวดหัว กะโหลกคนไทยเป็นแบบนี้ ฝรั่งแบบนี้ ไซส์ต่างกัน บางคนใส่แล้วติดหัว หรือไหลลงคอ เราต้องทำให้ตอบโจทย์ว่าใส่แล้วสวย สง่า เป็นนางพญา นี่คือโจทย์สำคัญ โครงสร้างหน้าคนไทยไม่อินเตอร์ กระหม่อมแคบ มงกุฎไม่ใช่ทรงกลมบ๊อก แต่เป็นทรงรีรับกับท้ายทอย เราต้องอธิบายให้ลูกค้าฟัง ไม่งั้นบางคนเอาไปดัด เราสั่งห้ามเลยว่าเหมาะสำหรับตัวคุณ อย่าให้คนอื่นใส่เล่น"
 
 
...........................
 
('ก๊อด ไดมอนด์'เจ้าพ่อมงกุฎนางงาม : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์)