เลี้ยงปลาหมอไทย'ชุมพร1'ในบ่อดิน
ทำมาหากิน : เลี้ยงปลาหมอไทย 'ชุมพร1' ในบ่อดิน ใช้พื้นที่น้อย-รายได้งามที่สันกำแพง : โดย...ดลมนัส กาเจ
จากบทเรียนที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงปลาในระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเอกชน ทำให้ "สุเทพ ปั่นติวงศ์" หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน และผู้ทรงคุณวุฒิ สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ด้านประมง รวบรวมสมาชิกผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมารวมกลุ่ม หันมาเลี้ยงปลาหมอไทยเลือกสายพันธุ์ "ชุมพร1" ครบวงจร ปรากฏว่าสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตลาดมีความต้องการสูง
สุเทพ ให้เหตุผลที่เลือกเลี้ยงปลาหมอไทยพันธุ์ชุมพร 1 ว่า เพราะจากการศึกษาพบว่า ปลาหมอไทยเป็นปลาที่มีความอดทน อึด เลี้ยงง่าย มีพื้นที่บ่อดินเพียง 1-2 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงเพื่อบริโภค หรือขายได้แล้ว เพราะอัตราปลาหมอในบ่อดิน 1 ตารางเมตร ลึก 80 เซนติเมตร สามารถปล่อยปลาหมอได้ 35-50 ตัว ขณะที่ปลานิลปล่อยได้เพียง 6 ตัวเท่านั้น และไม่ต้องปั่นออกซิเจน ที่สำคัญปัจจุบันกรมประมงมีการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปลาหมอไทยพันธุ์ชุมพร 1 ให้มีคุณสมบัติตัวโตถึง 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม เลี้ยงง่ายในบ่อดินขนาดเล็ก เนื้อนุ่มอร่อย จึงนำมาเลี้ยงรุ่นแรกเมื่อปีที่แล้ว ในพื้นที่บ่อดินขนาด 180 ตารางเมตร ที่บ้านกลางพัฒนา ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ปล่อยพันธุ์ปลา 1 หมื่นตัว เลี้ยงได้ 4 เดือนได้ตัวขนาด 7 ตัวต่อกิโลกรัม สามารถขายได้ 7-8 หมื่นบาท หักต้นทุนกำไรเกินครึ่ง ปัจจุบันเพิ่มที่เลี้ยงทั้งหมด 15 บ่อ
ยิ่งปัจจุบันเชียงใหม่มีปัญหาราคาที่ดินสูงมาก ทำให้พื้นที่เลี้ยงปลาลดลง ขณะที่ตลาดผู้บริโภคต้องการปลามากขึ้น เพราะเป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาถูกที่สุด สุเทพ มองว่า ถ้าจะให้โอกาส ปลาหมอไทยน่าจะเป็นการให้โอกาสแก่เกษตรกรรายย่อย เพราะมีบ่อดินขนาด 100 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงปลาหมอไทยได้ 5,000 ตัว 4 เดือนขายได้ 3.5-4 หมื่นบาท ที่สำคัญเกษตรกรรายย่อยมีที่ 100-200 ตารางเมตร เขาสามารถเลี้ยงได้ ตอนนี้ตลาดเชียงใหม่ต้องการปลาหมอไทยวันละ 2 ตัน แต่กลุ่มของตนมี 59 ราย ผลิตได้วันละ 500 กิโลกรัมเท่านั้น เขาจึงไปรณรงค์ให้อำเภออื่นๆ ของ จ.เชียงใหม่ และจ.ลำพูน หันมาเลี้ยงปลาหมอไทยเพื่อป้อนให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่
"ช่วงแรกเราลงทุนแพง เพราะต้องขุดบ่อ ไปซื้อพันธุ์ปลาหมอไทยพันธุ์ชุมพร 1 ที่ จ.ชุมพร ในราคาตัวละ 1.50 บาท เนื่องจากต้องขนส่งทางเครื่องบิน แต่ปัจจุบันทางกลุ่มสามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาได้แล้ว ขายในราคาตัวละ 50 สตางค์ พื้นที่ 100 ตารางเมตรปล่อยปลา 5,000 ตัว ใช้เวลา 4 เดือนอาหารหมดไป 1 ตัน คำนวณแล้วกำไรกว่า 2 หมื่นบาท หากมีพื้นที่ครึ่งไร่ กำไร 8 หมื่นบาท ปีละ 2 รุ่น ถือว่ารายได้ดี อย่างผมมีการแปรรูปด้วย ทำเป็นปลาหมอเผาเกลือ มีน้ำจิ้ม ผัก ปลาหมอ 3 ตัวขายชุดละ 150 บาท ถ้าชุดใหญ่ 1 กิโลกรัม 300 บาท ขณะที่ราคาปลาหมอสดๆ ที่หน้าบ่อขายราคากิโลกรัมละ 100 บาท" สุเทพ กล่าว
ด้าน เดช ปั้นเมา เกษตรกรบ้านสบแฝก ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย บอกว่า เริ่มเลี้ยงรุ่นแรกในพื้นที่ 150 ตารางเมตร ปล่อยปลาหมอไทยชุมพร 1 จำนวน 1 หมื่นตัว จับปลาได้ 600 กิโลกรัม มีรายได้กว่า 6 หมื่นบาท ครั้งแรกลงทุน 3 หมื่นบาท รวมค่าขุดบ่อด้วย รุ่นที่ 2 คาดว่าจะมีกำไรมากขึ้น เพราะบ่อเลี้ยงมีอยู่แล้ว
ขณะที่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกว่า ปีนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีงบประมาณเป็นของตัวเองเป็นปีแรก จึงนำงบไปสนับสนุนเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง อย่างกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ที่สุเทพเป็นแกนนำถือเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งอีกแห่งหนึ่ง ที่สามารถนำเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพ้นจากการถูกเอาเปรียบจากระบบเกษตรพันธสัญญามาได้
ก็นับเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงปลา หากต้องการรายละเอียดสอบถาม สุเทพ ได้ที่ โทร.08-1595-0529
-------------------------
(ทำมาหากิน : เลี้ยงปลาหมอไทย 'ชุมพร1' ในบ่อดิน ใช้พื้นที่น้อย-รายได้งามที่สันกำแพง : โดย...ดลมนัส กาเจ)