ไลฟ์สไตล์

ตามรอยวิจัยแหล่งโบราณคดีปางมะผ้า

ตามรอยวิจัยแหล่งโบราณคดีปางมะผ้า

11 ก.พ. 2557

ตามรอยวิจัยแหล่งโบราณคดีปางมะผ้า แหล่งใหม่วัฒนธรรมโลงไม้-โบราณวัตถุอายุ 2,600ปี : สกว.รายงาน

                รศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะวิจัยโครงการ “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” นำคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่ที่ได้รับการวิจัยด้านโบราณคดีเชิงบูรณาการร่วมกันของศาสตร์ด้านโบราณคดี วงปีไม้และสิ่งแวดล้อม มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการจัดการมรดกวัฒนธรรม ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
    
                โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยต่อยอดมาตั้งแต่โครงการการสำรวจและการจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2541 เรื่อยมาจนถึงโครงการในปัจจุบัน สำหรับโครงการวิจัยการปฏิสัมพันธ์ฯ นี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยของ รศ. ดร.รัศมี กับ ทพญ. ดร.กนกนาฏ จินตกานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ.นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านมานุษยวิทยากายภาพฟันและกระดูกคน รศ. ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและวงปีไม้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ. ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา นักธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อตอบโจทย์วิจัยในช่วงเวลาระหว่าง 10,000-1,000 ปีมาแล้ว ว่าสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างไรในแง่ของการดำรงชีวิตและเทคโนโลยี รวมถึงเป็นประชากรกลุ่มเดียวกันหรือไม่ โดยเน้นที่วัฒนธรรมโลงไม้ซึ่งเป็นพิธีกรรมการปลงศพของคนบนพื้นที่สูง
    
                ในช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ที่คณะวิจัยทำการศึกษานี้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ชัดเจน อันจะสามารถตรวจสอบข้อสมมติฐานว่า 1) วัฒนธรรมหินกะเทาะสมัยไฮโลซีนตอนต้นเป็นวัฒนธรรมที่มีความต่อเนื่องจากวัฒนธรรมเดิมในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย มีการปรับตัวเรื่องการดำรงชีพ เทคโนโลยี ความเชื่อ และการตั้งถิ่นฐานอย่างไร รวมถึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในระดับท้องถิ่นอื่น ๆ ของไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ 2) วัฒนธรรมโลงไม้ในช่วงเวลา 2,300-1,000 ปี เป็นวัฒนธรรมเดิมที่พัฒนาต่อเนื่งจากวัฒนธรรมหินกะเทาะ หินใหม่ โลหะ หรือเป็นประชากรกลุ่มใหม่ที่เป็นชุมชนเกษตรกรรมเคลื่อนย้ายมาจากจีน ซึ่งนำวัฒนธรรมและนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการทำกสิกรรม โลหกรรม และรูปแบบพิธีกรรมฝังศพแบบใหม่เข้ามา 3) งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าวัฒนธรรมโลงไม้ที่พบในบริเวณแนวตะวันตกตั้งแต่ยูนนาน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุโขทัย กาญจนบุรี ลงไปถึงหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ โครงการวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมจากโลงไม้ว่ามีความเหมือน คล้ายคลึง หรือแตกต่างกัน
    
                คณะวิจัยได้ใช้ข้อมูลเดิมจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่มาเปรียบเทียบกับข้อมูลใหม่ในการศึกษาแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก และแหล่งอื่น ๆ ที่มีอายุร่วมสมัยเพื่อเปรียบเทียบลักษณะของคน เนื่องจากข้อมูลในแหล่งใหม่นี้เป็นแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมโลงไม้ที่มีข้อมูลค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะถูกรื้อค้นและเผาไฟทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้าน แต่ก็เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีศักยภาพในการวิจัยที่สูงมาก เพราะมีโครงกระดูกคนร่วมกับโลงไม้จำนวนมากทั้งที่อยู่ภายในโลงที่ปิดฝาอยู่และกระจายตามพื้น นอกจากนี้ยังมีร่องรอยวัตถุต่าง ๆ อาทิ เศษผ้า เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเซ่น เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยตอบคำถามเรื่องประชากรที่อยู่บนพื้นที่สูงในอดีต สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากร อาหารการกิน การจัดองค์กรทางสังคม ความเชื่อ ฯลฯ
    
                นอกจากองค์ความรู้ที่มีการผลิตอย่างมากมายและต่อเนื่องของโครงการวิจัย คลังข้อมูลภาพและเสียงตลอดระยะเวลากว่าสิบปียังคงความสำคัญทั้งในแง่ที่เป็นข้อมูลชั้นต้นทางวิชาการและการนำไปใช้เพื่อการเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณะ แต่มีข้อจำกัดคือ การนำเสนอที่ขาดความลุ่มลึกและต้องให้ผู้วิจัยเป็นผู้ตรวจสอบหรืออยู่ในกระบวนการเขียนบทด้วยตนเอง ประกอบกับการทำงานในระยะหลังได้ทดลองนำผลการวิจัยมาผลิตเป็นสื่อประเภทภาพยนตร์สารคดี และคลังข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ จึงมีการขยายขอบเขตการทำงานสู่โครงการนำร่องของ สกว. ในการสร้างความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่โดยคณะบุคคลที่มีศักยภาพ เพื่อจะได้นำเสนอแง่มุมที่ถูกต้องครบถ้วนที่สุดภายใต้รูปแบบงานที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็จะนำองค์ความรู้กลับไปสู่ชุมชนวิจัย จึงเกิดเป็นโครงการ “การจัดทำสื่อจากผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งมีนายศุภร ชูทรงเดช ศิลปินและผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี เป็นหัวหน้าโครงการ และมี รศ. ดร.รัศมีเป็นที่ปรึกษา
    
                โครงการจัดทำสื่อดังกล่าวได้นำฐานข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ การพัฒนาหลักสูตร และการจัดทำสื่อสำหรับใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน นำร่องโดยหน่วยจัดการศึกษาอำเภอปางมะผ้า เพื่อให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการวิเคราะห์หลักสูตร การออกแบบสื่อที่เหมาะสม ตรวจสอบและทดลองใช้สื่อในหลักสูตรรายวิชาแม่ฮ่องสอนศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับอนุปริญญาสาขาวิชาปกครองท้องถิ่นและสาขาการศึกษาปฐมวัย ตลอดจนนักศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย
    
                “งานวิจัยที่ดำเนินการมาทั้งหมดภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ล้วนเชื่อมโยงการสร้างความรู้สู่คนท้องถิ่น เมื่อกระบวนการทำงานวิชาการผ่านพ้นแล้ว ข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้จะได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ได้จริง และคนในชุมชนท้องถิ่นก็สามารถลุกขึ้นมาทำงานวิจัยแบบท้องถิ่นสู่การจัดการและพัฒนาพื้นที่ตนเองด้วยความรู้แบบวิชาการกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นห่วงคือการให้ความสำคัญกับการสำรวจและอนุรักษ์ดูแลแหล่งโบราณคดีของชาวบ้านไม่ให้ถูกรบกวน โดยเฉพาะการสำรวจถ้ำผีแมนโลงลงรักในแหล่งใหม่ที่ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นสิ่งที่อยู่ใต้ชั้นดินจะถูกทำลาย รวมถึงการดูแลป้องกันการลักลอบขุดค้นจากที่อื่นอันจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้ก็อยากจะให้หน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมศิลปากรเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย เพื่อให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของคนในท้องถิ่นและประเทศไทยต่อไป” รศ. ดร.รัศมีกล่าวสรุป