'โชห่วย'ให้รวยอย่างยั่งยืน
10 มี.ค. 2557
จับชีพจรธุรกิจเอสเอ็มอีในอนาคต ปรับทำ 'โชห่วยให้รวยอย่างยั่งยืน' : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน
หากดูตัวเลขสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2557 มีกิจการขนาดกลางและขนาดย่อย หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่จดทะเบียนมีการยกเลิกกิจการถึง 1,420 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2556 คิดเป็น 18% และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 หดตัวลงคิดเป็น 69% และตัวเลขที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 5,317 ราย ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2556 คิดเป็น 35% แต่เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 83% นั่นยอมหมายถึงว่าผู้ประกอบการเริ่มมีความมั่นใจธุรกิจเอสเอ็มอีมาบ้างแล้ว
เนื่องเพราะตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว.ยืนยันว่า การส่งออกสินค้าเอสเอ็มอีของไทยในเดือนมกราคม 2557 มีมูลค่า 157,396.52 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2556 คิดเป็น 10% และเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 9.42% โดยมีประเทศจีนมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 20,486.23 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 15,936.39 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 12,927.49 ล้านบาท มาเลเซีย มูลค่า 7,733.55 ล้านบาท และอินโดนีเซีย มูลค่า 7,617.65 ล้านบาท
จากการสำรวจข้อมูลจากเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 500 ราย ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 นายปฏิมา ระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองรุนแรงถึง 56% ได้รับผลกระทบปานกลาง 25% ได้รับผลกระทบน้อย 4% และไม่ได้รับผลกระทบ 15% เทียบจากผลสำรวจเดือนมกราคม มีผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง 38% ได้รับผลกระทบปานกลาง 28% ได้รับผลกระทบน้อย 12% และไม่ได้รับผลกระทบ 22% (กรุงเทพธุรกิจ)
ในมุมมองของ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่สะท้อนผ่านเวทีสัมมนา “พิซซ่า โมเดล” โมเดลความอยู่รอดอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในยุควิกฤติ ก่อนหน้านี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ เอสเอ็มอีจะคาดหวังคำสั่งซื้ออย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน (กรุงเทพธุรกิจ)
สอดคล้องในแนวคิดของ นายวรพันธ์ ประเสริฐยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรการทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่สะท้อนในระหว่างเปิดงานสัมมนาหัวข้อ "ทำโชห่วยให้รวยอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 21" จัดโดยบริษัท ซีพี ออลล์ (มหาชน) จำกัด ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ร่วมกับกรมการค้าภายใน หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ และสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ที่โรงแรมพิมาน จ.ศรีสะเกษ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าการที่จะให้เอสเอ็มอีไทยอยู่ได้ต้องผลิตสินค้าที่หลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคเนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้ประกอบการต้องตื่นตัว เพื่อให้ทันสถานการณ์ เพราะเชื่อมั่นว่าธุรกิจค้าปลีกและกิจการขนาดย่อมเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่คนระดับรากหญ้าสามารถทำได้
ด้าน นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ (มหาชน) จำกัด และนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย มองว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไทยโตปีละ 8% เดิมทีปี 2557 คาดดว่าจะโต 10% แต่ 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์ค้าปลีกและธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ค่อยดี เกิดมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของบ้านเมือง เศรษฐกิจโลกถดถอย ชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาลทำให้เงินสะพัดหายไปนับแสนล้านบาท ราคายางพาราตกต่ำ เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคงดใช้จ่ายในส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ถ้าพูดถึงในร้านสะดวกซื้อไม่กระทบเท่าไร เนื่องจากจะจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงร้านโชห่วย หรือร้นชำก็ยังสามารถอยู่ได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีคนมักซื้อสินค้าที่จำเป็นใกล้บ้าน แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วย
"ตอนนี้ตลาดมูลรวมของค้าปลีกอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท แต่เอสเอ็มอีคิดว่าช่วงนี้จะกระเตื้อง 1-3% ทางซีพีออลล์เองก็ได้มาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง บางส่วนนำสินค้ามาวางที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในแต่ละท้องถิ่น บางส่วนที่ไม่สามารถวางขายได้ แต่ให้ขายผ่านแผ่นพับ หรือแคตตาล็อก โดยผู้บริโภคที่สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ ตั้งเป้าปีนี้จะขายได้ 5,000 ล้านบาท" นายสุวิทย์ กล่าว
ขณะที่ นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวถึงเทคนิคการบริหารจัดการค้าปลีกทันสมัยและการจัดการธุรกิจยุคใหม่ให้ประสบผลสำเร็จว่า ต้องดูว่าเรากำลังดำเนินกิจการอะไร อย่าคิดที่จะไปชนกับยักษ์ใหญ่ อย่าเปิดกิจการที่ตัวเองชอบ หวังแต่จะมีความสุข แต่ต้องเปิดกิจการที่มีเหตุผล ลูกค้าต้องการ และต้องปรับรูปแบบให้ทันสมัยอยู่เสมอ ต้องหาสินค้าใหม่ๆ ถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางธุกิจอย่างหนึ่ง และต้องสร้างความแตกต่างกับร้านโชห่วยในอดีต อย่าง ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทยจะมีสินค้าใหม่ๆ เดือนละ 200 รายการ ปัจจุบันในร้านมีสินค้าทั้งหมด 2,200 รายการ แต่การที่จะเปลี่ยนสินค้าต้องดูความนิยมของลูกค้าด้วย หากสิ่งใดยังขายได้ก็เก็บไว้ก่อน หากเป็นอาหารต้องเน้นไปที่อร่อย สะอาด สะดวก สามารถตอบสนองต่อวิถีการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับในตัวสินค้าอีกด้วย
เช่นเดียวกับ น.ส.ดวงกมล ศรีคราม เจ้าของไร่ทอง ออแกนิค ฟาร์ม ต.ทุ่ม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ มองว่าธุรกิจค้าปลีก หรือเอสเอ็มอี สามารถอยู่ได้ อย่างที่บ้านเธอ เดิมทีทำนา และมีร้านโชห่วยด้วย พอตอนหลังมีร้านสะดวกซื้อเข้าไปในพื้นที่ก็ไม่กระทบ เนื่องจากในชุมชนอาศัยการขายย่อย หลักสิบ หลักร้อยบาทต่อรายต่อครั้ง ราคาสินค้าก็ถูกกว่า ตอนหลังมีการปรับปรุงร้านทำให้อยู่ได้ ส่วนนาข้าวหันมาทำเกษตรอินทรีย์ แปรรูปทำเป็นข้าวสาร พืชผักออร์แกนิค ข้าวกล้องงอก ขายเอง โดยจะมีลูกค้าที่รักสุขภาพเป็นลูกค้าประจำ และกระจัดกระจายหลายจังหวัด จึงมั่นใจว่าเอสเอ็มอีหากมีการตื่นตัวปรับปรุงกิจการตามที่ลูกค้าต้องการก็สามารถอยู่ได้
พอจะมองแนวทางได้ว่าการประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ยังมีแนวทางที่จะอยู่ได้ โดยเฉพาะด้านค้าปลีกและโชห่วย แต่ผู้ประกอบการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ ทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ก็จะสามารถฝ่าวิกฤติได้
------------------------
(จับชีพจรธุรกิจเอสเอ็มอีในอนาคต ปรับทำ 'โชห่วยให้รวยอย่างยั่งยืน' : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน)