ไลฟ์สไตล์

พลิกที่นาร้างปลูก'ฟักทอง'พันธุ์ดี'ปากพนัง'

พลิกที่นาร้างปลูก'ฟักทอง'พันธุ์ดี'ปากพนัง'

31 มี.ค. 2557

พลิกที่นาร้างปลูก'ฟักทอง'พันธุ์ดี อีกพืชทำเงินเกษตรกร'ปากพนัง' : สุรัตน์ อัตตะรายงาน

หน้าข่าวท้องถิ่น / จันทร์ที่ 31 มี.ค.57 /  รายงานลูกเห็บภาคเหนือ  /  เสร๊จแล้ว


พลิกที่นาร้างปลูก'ฟักทอง'พันธุ์ดี อีกพืชทำเงินเกษตรกร'ปากพนัง' : สุรัตน์ อัตตะรายงาน

         ไม่เพียงข้าวและปาล์มน้ำมันเท่านั้นที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนลุ่มน้ำปากพนัง ทว่าวันนี้ยังมีพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่ทำรายได้ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ "ฟักทอง" ที่ชาวบ้านปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันและสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในทุกวันนี้

         “ปกติพื้นที่บริเวณนี้น้ำจะท่วมทุกปี เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ ช่วงน้ำท่วมจะท่วมนาน แต่พอถึงหน้าแล้งจะแห้งแล้งมาก เมื่อก่อนที่ยังไม่มีโครงการลุ่มน้ำปากพนังของในหลวง ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชทุกชนิดต้องพึ่งพาเทวดาหรือน้ำฝนเท่านั้น ถ้าปีไหนฝนฟ้าดี ผลผลิตก็ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าปีไหนไม่ดีปีนั้นก็แย่ไปตามๆ กัน”

         อารมณ์ ปลอดอ่อน เกษตรกรปลูกฟักทองวัย 53 ปี แห่งบ้านเกาะทวด ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เล่าย้อนถึงปัญหาภาคเกษตรของคนลุ่มน้ำปากพนังในอดีตที่ต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำ จนมาในระยะไม่กี่ปีมานี้ หลังโครงการลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ส่งผลให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เพราะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในภาคการเกษตร

         เธอเล่าต่อว่าเมื่อก่อนมีอาชีพทำนาปลูกข้าว แม้จะได้ผลผลิตดี แต่ก็ประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากขายไม่ได้ราคา ต้องหันมาหาพืชชนิดใหม่ปลูกแทน จนในที่สุดมาลงตัวที่ฟักทอง เพราะลงทุนไม่สูง ขายได้ราคาและไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด โดยจะปลูกปีละครั้ง หลังน้ำท่วมใหญ่ประมาณเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมีนาคมก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งระยะปลูกฟักทองตั้งแต่ลงแปลงจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน โดยจะเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบจากนั้นก็ทำลายต้นทิ้งเพื่อปลูกใหม่ในปีถัดไป

         “ชาวบ้านที่นี่เขาปลูกฟักทองหรือที่บ้านเราเรียกน้ำเต้ากันเกือบทุกบ้าน เฉลี่ยรายละ 3-15 ไร่ บางรายมีอาชีพปลูกฟักทองอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นอาชีพเสริมรายได้มากกว่า เพราะมีพืชหลักอย่างข้าวและปาล์มน้ำมันอยู่แล้ว ส่วนของฉันก็มีอยู่ 14 ไร่ที่ปลูกฟักทอง ที่เหลืออีก 10 กว่าไร่ก็ปลูกปาล์มน้ำมัน”

         อารมณ์แจงรายละเอียดขั้นตอนการปลูกฟักทองจะเริ่มปลูกลงแปลงหลังน้ำท่วมใหญ่ ประมาณเดือนธันวาคม จากนั้นใช้เวลาดูแลประมาณ 85 วันหรือ 3 เดือนก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี โดยจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 รอบก่อนจะรื้อต้นพันธุ์เพื่อทำลายทิ้ง จากนั้นก็จะเตรียมพักดินประมาณ 3 เดือนตั้งแต่เมษายนถึงพฤษภาคม ก่อนจะลงพืชอายุสั้นอย่างเช่นผักชี คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พอเข้าสู่ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ตุลาคมถึงพฤศจิกายนน้ำก็จะท่วมเต็มพื้นที่จนไม่สามารถทำอะไรได้

         “ของฉัน 14 ไร่ ต้นทุนอยู่ที่ 4 หมื่น ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ เมื่อก่อนใช้พันธุ์ทองอำไพ 342 ให้น้ำหนักลูกละ 2-3 กิโล ต่อมาเปลี่ยนเป็นทองอำไพ 426 ของบริษัทเจียไต๋ ลูกใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 กิโลต่อลูก ซึ่งน้ำหนักขนาดนี้ตลาดชอบมาก ส่วนใหญ่พ่อค้าจะมาเหมายกแปลงเพื่อส่งต่อไปยังมาเลย์อีกทอดหนึ่ง อย่างปีนี้เขาให้ราคาอยู่ที่ 8-10 บาทต่อกิโล บางปีก็ได้ราคาสูงถึงกิโลละ 25 บาท ขึ้นอยู่กับผลผลิตออกสู่ตลาดและความต้องการในปีนั้นๆ ด้วย”

         สำหรับจุดเด่นของฟักทองที่ปลูกในพื้นที่ อ.ปากพนัง เธอบอกว่าไม่ใช่แต่ลูกใหญ่และให้น้ำหนักมากเท่านั้น แต่รสชาติยังหวานกรอบอร่อยอีกด้วย เพราะนอกจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพแล้ว พื้นที่ปลูกจะมีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกฟักทองส่วนใหญ่น้ำจะท่วมทุกปี ส่งผลให้น้ำได้พัดพาตะกอนที่เป็นธาตุอาหารจากด้านบนมาสะสมอยู่ในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก

         “ปุ๋ยเราจะใช้เท่าที่จำเป็น เพราะดินที่นี่ดีอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาในช่วงน้ำท่วม พื้นที่ปากพนังจะต้องเจอน้ำท่วมใหญ่ทุกปี บางปีก็ท่วมนานเป็นเดือน เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ หลังน้ำลดก็จะปลูกฟักทอง ช่วงแรกใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-7 บำรุงต้นและใบ จากนั้นก็ใช้สูตรเสมอ 15-15-15 เพื่อบำรุงดอกและผล เขาว่ากันว่าฟักทองที่นี่รสชาติอร่อยที่สุดในโลก”

         ไม่เพียงอารมณ์เท่านั้นที่หวังพึ่งรายได้จากการปลูกฟักทอง ปทุมรัตน์ บัวแก้ว เกษตรกรใน ต.เกาะทวดอีกรายที่หันมาเอาดีจากการปลูกฟักทองเพื่อมีรายได้เลี้ยงครอบครัวในระหว่างที่ปาล์มน้ำมันยังไม่ให้ผลผลิต โดยเธอเริ่มต้นปลูกที่ 5 ไร่ จากนั้นก็ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม จนปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 ไร่เศษ

         ปทุมรัตน์เล่าว่าแต่ก่อนมีอาชีพรับจ้างปอกปูม้าในโรงงาน เนื่องจากทำนาไม่ค่อยได้ผล เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ จึงปล่อยพื้นที่ทิ้งร้าง แต่หลังจากมีโครงการพระราชดำริลุ่มน้ำปากพนังเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ จากนั้นจึงปลูกฟักทอง เนื่องจากเห็นว่าน่าจะเป็นพืชที่ทำรายได้ดีกว่าการทำนา

         “แรกๆ เห็นชาวบ้านปลูกฟักทอง ก็ลองปลูกดูบ้าง ปรากฏว่าทำรายได้ดีมากๆ ลงทุนก็ไม่มาก 10 ไร่ลงทุนไปประมาณหมื่นกว่าบาท แต่มีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 6-8 หมื่นบาท ถ้าปีไหนเขาให้ราคาดีก็อยู่ที่ไร่ละแสน ซึ่งก็เยอะกว่าทุกพืชที่ปลูกมา”

         ส่วนเรื่องตลาดนั้น เธอบอกว่าไม่มีปัญหา ปัจจุบันมีทั้งพ่อค้าในพื้นที่และมาจากที่อื่นมารับซื้อถึงแปลงปลูก โดยเสนอราคารับซื้อที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีในหมู่พ่อค้าและผู้บริโภคว่าฟักทองปากพนังมีคุณภาพ เนื้อแน่น สีเหลืองทองและรสชาติอร่อยกว่าที่อื่นมาก

         “ไม่ใช่จะชมตัวเองว่าฟักทองเราดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ได้ถามจากพ่อค้าที่มารับซื้อและผู้บริโภคที่ซื้อไปรับประทาน เขายืนยันเลยว่าฟักทองปากพนังดีที่สุด เมื่อเทียบกับฟักทองจากที่อื่นๆ ทั้งในเรื่องรสชาติและขนาดของผล” ปทุมรัตน์กล่าวอย่างภูมิใจและถ้าสนใจผลผลิตฟักทองโทร.08-2481-1843 ได้ตลอดเวลา

         "ฟักทอง" นับเป็นอีกพืชทางเลือกของเกษตรกรในพื้นที่ อ.ปากพนัง ที่ยังคงสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่แพ้พืชเศรษฐกิจหลักอย่างข้าว ปาล์มน้ำมัน และส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คนปากพนังมาอย่างยาวนาน

........................................

(หมายเหตุ : พลิกที่นาร้างปลูก'ฟักทอง'พันธุ์ดี อีกพืชทำเงินเกษตรกร'ปากพนัง' : สุรัตน์ อัตตะรายงาน)