
พศ.ชี้พระพุทธรูปปางพยาบาลมีในพุทธประวัติ
พศ.ชี้พระพุทธรูปปางพยาบาลมีในพุทธประวัติ ด้านระเบียบ มส.ระบุ วัดไหนสร้างพระปางพิสดารต้องขออนุญาตก่อน หากไม่เชื่อให้เจ้าคณะผู้ปกครองตักเตือน ทุ่มงบหนุนพระเรียนปฏิบัติธรรมถึง ป.โท
ดร.อำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า จากการที่วัดขนอนเหนือ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีการปั้นพระพุทธรูปปาง พยาบาลภิกษุอาพาธ จนเป็นที่ฮือฮาของนักท่องเที่ยวนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทย นิยมที่จะสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพุทธประวัติ ซึ่งพระพุทธจริยาปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ก็น่าจะสร้างมาจากพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลที่พระองค์เสด็จเยี่ยมพระภิกษุที่อาพาธเสมอ ทั้งนี้ ปางพระพุทธรูปดังกล่าวอาจจะไม่ค่อยมีใครสร้างขึ้น จึงทำให้รู้สึกแปลกตา ทั้งที่จริงแล้ว สร้างมาจากพุทธประวัติทั้งสิ้น ส่วนรูปแบบการสร้างปางพระพุทธรูปนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้สร้างและกำลังศรัทธาของประชาชน เช่น พระพุทธรูปยืนบางองค์ก็สูงชะลูดไม่ได้สัดส่วน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะสร้างจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
“หากมองแล้วว่า พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ไม่มีลักษณะที่น่าเกลียด และเป็นที่ศรัทธาของประชาชนก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีพุทธลักษณะที่ไม่เหมาะสมออกไปในแนวอุบาทว์ ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะจังหวัดเข้าไปดูแลอย่างไรตาม มหาเถรสมาคม ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดสร้างพระพุทธรูปไว้ว่า การจะสร้างพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะแปลกๆ ต้องขออนุญาตจากมหาเถรสมาคม หรือเจ้าคณะจังหวัดผู้ปกครองถึงความเหมาะสมก่อน หากวัดไหนสร้างพระพุทธรูปปางพิสดาร โดยไม่ขออนุญาต ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการตักเตือน”ผอ.สำนักเลขาธิการมส.กล่าว
นายแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ จะต้องเป็นปางที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติโดยตรง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามพุทธประวัติ เช่น ปางไสยาสน์ ปางมารวิชัย ปางลีลา เป็นต้น ซึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ให้การยอมรับปางพระพุทธรูปทั้งหมด 70 กว่าปางเท่านั้น แต่สำหรับในฝ่ายมหายาน อาจจะมีการสร้างปางพระพุทธรูปที่แตกต่างออกไปบ้างตามคติความเชื่อของแต่ละนิกาย แต่มีบางกรณีที่มีศิลปินบางคน อาจทำการสร้างพระพุทธรูปปางที่แตกต่างออกไปจากแบบที่เป็นทางการ เพื่อความสวยงามทางศิลปะ ตรงนี้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้มีความเหมาะสมต่อสมณสารูปแห่งพระพุทธรูป คือ มีความสำรวมและงดงามตามหลักทางพระพุทธศาสนา
ทุ่มงบหนุนพระเรียนปฏิบัติธรรมถึงป.โท
ดร.อำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานำพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า จากการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ได้มีการนำหนังสือจากพล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เข้ารายงานต่อที่ประชุม โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า โครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนมส. ในการดำเนินงานสำนักปฏิบัติธรรมในแนวทางดังนี้
1.สนับสนุนคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติในการผลิตพระวิปัสสนาจารย์ระดับปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา หรือเทียบเท่า เพื่อให้ประจำอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อย 75 รูป ในเวลา 3 ปี 2.สนับสนุนคณะกรรมการเผยแผ่ฯในการผลิตพระวิปัสสนาจารย์ ระดับประกาศนียบัตรสาขาวิปัสสนาภาวนา หรือเทียบเท่า เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสำนักปฏิบัติธรรมทุกแห่งทั่วประเทศ รวม 3,000 รูป ในเวลา 5 ปี 3.ให้ทุนสนับสนุนสำนักปฏิบัติธรรมที่มีผลงานดีเด่นในแต่ละเขตปกครองปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป โดย มส.จะเป็นผู้พิจารณา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สำนักปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งรักษาระเบียบวินัยที่ได้วางไว้ และสร้างผลงานในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรม โดยทางมส. ได้มอบหมายให้ พศ. คอยประสานงานกับทางโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ เพื่อดำเนินงานต่อไป
น.ต.เกริก ตั้งสง่า กรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ กล่าวว่า ในการสนับสนุนการผลิตพระวิปัสสนาจารย์ระดับปริญญาโท นั้นทางโครงการจะมีทุนสนับสนุนรูปละ 50,000 บาท ตลอด 3 ปี ส่วนพระวิปัสสนาจารย์ระดับประกาศนียบัตรจะสนับสนุน รูปละ 5,000 บาทต่อปีๆ ละ 600 รูป เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งการที่ทางโครงการมาสนับสนุนการปฏิบัติธรรมนั้น เพราะเห็นว่าแนวทางการปฏิบัติธรรมจะทำให้คนอยู่ในศีลธรรม ขณะเดียวกันเมื่อคนเข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว ทางโครงการเชื่อว่าไม่มากก็น้อยที่จะมีจิตใจสงบ สะอาด และการปฏิบัติธรรมยังถือเป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 29 มิ.ย. เวลา 14.00น. ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม จะมีพิธีถวายทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยประจำปีการศึกษา 2552 และพิธีถวายทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับสนับสนุนการผลิตพระวิปัสสนาจารย์ด้วย