
สัมภาษณ์พิเศษ : 'ต่อศักดิ์ โชติมงคล'
19 เม.ย. 2557
สัมภาษณ์พิเศษ : 'ต่อศักดิ์ โชติมงคล' ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง 'ไม่สนับสนุนคนไทยสูบบุหรี่ ถ้าเลิกไม่ได้ขอให้สูบบุหรี่ไทย'
โรงงานยาสูบครบรอบ 75 ปี ก้าวสู่ยุคที่ 4 "ยุคของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน" รวมทั้งการย้ายครอบครัวครั้งยิ่งใหญ่ไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ณ ที่ตั้งใหม่ในนิคมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายในปี 2559-2560 ในแนวคิด "แฟคทอรี่ อิน เดอะ พาร์ค" พร้อมทำหลังคาโรงงานให้เป็น "โซลาร์ รูฟ 8,000 เมกะวัตต์" แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งเตรียมสานฝัน "คิวบาร์โค้ด" บนซองบุหรี่ไทยเจ้าแรกในโลกให้เกิดด้วยเช่นกัน
ต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความเป็นมาของโรงงานยาสูบว่า เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข มีปรัชญาหลักว่า "ไม่สนับสนุนให้คนไทยสูบบุหรี่ แต่ถ้าจะสูบบุหรี่ขอให้เลือกบุหรี่จากโรงงานยาสูบ" ปัจจุบันโรงงานยาสูบมีพนักงาน 2 หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ มีเอเย่นต์และร้านที่จำหน่ายบุหรี่ในความดูแลประมาณ 5 แสนราย มีชาวไร่ที่ปลูกใบยาส่งให้โรงงานยาสูบ 25,000 ครอบครัว โรงงานยาสูบเริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2482 นับถึงวันที่ 19 เมษายน 2557 ครบ 75 ปีพอดี
ขอแบ่งความเปลี่ยนแปลงของโรงงานยาสูบออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรกตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2482-พ.ศ.2501 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รวบรวมกิจการที่มีรายได้ต่อประเทศ โดยซื้อธุรกิจบุหรี่จากเอกชนจัดตั้งเป็นโรงงานยาสูบขึ้น เริ่มดำเนินการครั้งแรกภายใต้การบริหารงานของชาวต่างชาติ จนกระทั่งมาถึง ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบคนที่ 8 ซึ่งเป็นคนไทย คือ หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) โดยท่านตัดสินใจว่า "ถึงเวลาที่พวกเราจะต้องยืนด้วยขาของตัวเองแล้ว" เพราะการขึ้นภาษีในขณะนั้นสูงมากจนรับไม่ได้ ท่านจึงได้ส่งคนไปเรียนต่างประเทศ สร้างความรู้ความสามารถ พัฒนาคน พัฒนาองค์กร พัฒนาเครื่องมือเครื่องจักร และเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยฝีมือคนไทย
"ที่สำคัญที่สุด หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้รวบรวมพื้นที่ต่างๆ ของโรงงานยาสูบที่กระจัดกระจายมารวมกัน ณ ที่ดินปัจจุบัน จากโรงงานที่หนึ่งตั้งอยู่สะพานเหลือง โรงงานที่สองตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เอเชียทีคในปัจจุบัน โดยซื้อที่ดินจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 641 ไร่ เมื่อปี พ.ศ.2492 และเริ่มทำโรงงานที่สาม สร้างอาคารวิศวะ ต่อมาก็สร้างอาคารหลังนี้ โดยตั้งชื่อว่า อาคารชำนาญยุทธศิลป์ เพื่อรำลึกถึงท่าน เพราะพวกเรามีวันนี้ได้เพราะการตัดสินใจของท่านในวันนั้น ที่ว่าเราต้องยืนได้ด้วยตัวเอง"
ต่อมายุคที่สอง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2501-2535 เริ่มตั้งแต่ย้ายโรงงานทั้งหมดมา ณ ที่ดินปัจจุบัน ถือเป็นยุครุ่งเรือง ในปี พ.ศ.2509 รัฐบาลในสมัยนั้นออกพระราชบัญญัติยาสูบ ให้โรงงานยาสูบผลิตบุหรี่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นความรุ่งเรืองสุดขีด สมัยนั้นคนไทยหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะมีค่านิยมที่มองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องเท่ โก้เก๋ทันสมัย โรงงานยาสูบเคยส่งเงินรายได้ให้รัฐบาลเป็นอันดับต้นๆ ซึ่ง จอมพล ป.เคยเขียนจดหมายมาขอบคุณโรงงานยาสูบที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเงินสูงถึง 12% ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐในสมัยนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2535 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ จากภาพลักษณ์ "พระเอก" กลายเป็น "ผู้ร้าย" ในสายตาประชาชนทันที จากหน่วยงานที่ดีที่สุดของรัฐบาล ไม่เคยขาดทุนเลย ส่งเงินเข้ารัฐมาตลอด อยู่มาวันหนึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวร้าย ถูกควบคุม เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และหลังจากนั้นก็มีการออกกฎหมายอื่นๆ มีการรณรงค์ถึงพิษภัยจากบุหรี่ต่างๆ นานาตามมา ส่งผลให้รายได้ของโรงงานยาสูบลดลงเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2540 รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารไอเอ็มเอฟ ทำให้มีแนวคิดที่จะขายโรงงานยาสูบ
"พอขึ้นสู่ยุคที่สาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ซึ่งช่วงนั้นมีการแข่งขันสูง มีบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โรงงานยาสูบต้องควบคุมยอดจำหน่ายให้คงเส้นคงวา เพื่อแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศ แต่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2557) สัดส่วนยอดจำหน่ายของบุหรี่ไทยยังนำบุหรี่ต่างประเทศอยู่ คือ สัดส่วนบุหรี่ไทย 75% สัดส่วนบุหรี่ต่างประเทศ 25"
ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่โรงงานยาสูบครบรอบ 75 ปี ก้าวสู่ปีที่ 76 จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น โดยการย้ายโรงงานทั้งหมดไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่กว่า 220 ไร่ ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 80% มีการซื้อเครื่องจักรใหม่ ย้ายเครื่องจักรเก่าที่มีอยู่ คาดว่า จะย้ายได้ทั้งหมดประมาณ พ.ศ.2559-2560 บริบทการบริหารจัดการที่เคยอยู่ที่เดียวก็จะแยกการจัดการออกไป
"ใบยา ซึ่งเป็นต้นน้ำมีทั้งหมด 14 สถานี กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสานตอนเหนือ นอกจากนี้ ยังมีโรงงานแยกก๊าซ มีอุตสาหกรรมบ่มใบยาที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เป็นต้นน้ำที่ต้องอยู่ร่วมกับชาวไร่กว่า 25,000 ครอบครัว ที่ดูแลกันมา 3 ชั่วอายุคน เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ช่วยเหลือกันทุกกระบวนการปลูกใบยา ประกันราคาใบยา และประกาศใช้จีเอพี ในช่วงกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้ใบยาที่ได้มาตรฐานสากล พนักงานยาสูบกับชาวไร่มีความสนิทชิดเชื้อกันเหมือนพี่น้องกัน เราขายใบยาตามคุณภาพ ไม่ได้ขายตามปริมาณ ต้องดูแลชาวไร่ 25,000 ครอบครัวให้อยู่ได้ ใช้วิธีให้เบ็ดไปตกปลาหาเลี้ยงตัวเอง ผลที่ได้รับชาวไร่อยู่ได้ โรงงานยาสูบอยู่ได้"
ส่วน "กลางน้ำ" คือ ขั้นตอนการผลิต ที่จะมีการย้ายโรงงานไปอยู่ที่นิคมโรจนะ การบริหารจัดการต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีการควบคุมคุณภาพประสิทธิภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เป็นสถานที่ที่พนักงานอยู่แล้วมีความสุข มีรายได้ดี คุณภาพชีวิตพนักงานและครอบครัวดี เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะพนักงานต้องย้ายครอบครัวไปทำงานที่ใหม่ ลูกๆ ต้องหาที่เรียนใหม่ จึงไปหาโรงเรียนใกล้ๆ โดยจะพัฒนาตั้งแต่ระดับเด็กเล็กและร่วมพัฒนากับโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อให้ลูกหลานพนักงานมีที่เรียนดีๆ มีคุณภาพ ต้องไปขอความร่วมมือกับ อบจ. อบต.ในพื้นที่ให้เป็นเครือข่ายที่ดี
"ผมนำแผนที่รอบๆ โรงงานยาสูบแห่งใหม่มากางดูเลย ต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้โรงงานยาสูบยืนอยู่ได้ พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่แล้วมีความสุข ครอบครัวมีความสุข นอกจากนี้พนักงานจะต้องมีวินัยทางการเงิน เรียกว่า โครงการยาสูบยิ้ม พนักงานโรงงานยาสูบทุกคนจะต้องมีประวัติ 2 เล่ม คือ ประวัติส่วนตัวและประวัติทางการเงิน หรือบัญชีครัวเรือน เพื่อวางแผนดำเนินชีวิตในอนาคตได้ถูกต้อง สร้างวินัยทางการเงิน ห้ามสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น"
ในส่วนของโรงงานต้องเป็นโรงงานที่ดี ต้องประหยัดพลังงาน ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ถนนรอบนอกอนุญาตให้รถที่ใช้น้ำมันวิ่งได้ แต่ถนนด้านในห้ามรถที่ใช้น้ำมัน ก๊าซ และแก๊ส อนุญาตให้เพียงใช้แต่รถที่ใช้ไฟฟ้า หรือจักรยาน หรือเดินเท่านั้น เพื่อให้ควบคุมคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมได้ ขณะนี้ปลูกต้นไม้ไว้แล้ว วางแนวคิดไว้ให้เป็น "แฟคตอรี่ อิน เดอะ พาร์ค" จะปลูกต้นไม้รอบโรงงานในอัตราส่วน ต้นไม้ 60 โรงงาน 40 มีสนามฟุตบอล สนามกีฬา นอกจากนี้จะมีการจัดนิทรรศการความเป็นมาของโรงงานยาสูบให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้
ส่วนที่ดินเดิมที่ตั้งอยู่ ณ ปัจจุบัน ที่ได้บริจาคเป็นถนนรัชดาภิเษกและคลองไผ่สิงโตไปแล้วส่วนหนึ่ง แบ่งเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จำนวน 40-50 ไร่ เป็นสวนเบญจกิติ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2535 ไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่โรงงานในปัจจุบัน หลังจากย้ายออกไปก็จะยกที่ดินให้เป็นส่วนต่อขยายของสวนเบญจกิติ ซึ่งเมื่อรวม 2 ส่วนเข้าด้วยกันจะมีเนื้อที่ 440 ไร่ ถือเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นสวนสาธารณะแฝดคู่กับสวนลุมพินี และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 40 ไร่ เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลโรงงานยาสูบ ศูนย์กีฬา ในปัจจุบัน ซึ่งก็จะคงไว้เช่นเดิม
"กว่าโรงงานยาสูบแห่งใหม่จะเสร็จ ผมคงเกษียณไปแล้ว แต่ผมทำไว้เพื่อคนรุ่นหลัง ผมพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทุกเรื่อง แก้ไขทุกรายละเอียดจนกว่าจะออกมาดีที่สุด ผมทำเพื่อให้คนรุ่นหลังได้อยู่อย่างไม่ลำบาก ในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า อาจไม่มีโรงงานยาสูบ ต้องเตรียมพร้อมรองรับทุกครอบครัว เมื่อถึงวันนั้นพนักงานโรงงานยาสูบต้องอยู่ได้"
ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกล่าวอีกว่า ยุคหลังปีที่ 75 เป็น ยุคที่ 4 ขอเรียกว่า "ยุคการพัฒนาสู่ความยั่งยืน" จะต้องยืนหยัดว่าจะต้องขายบุหรี่ให้น้อยลง ทำยังไงก็ได้ให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ตลาดบุหรี่ที่น่ากลัวมากในขณะนี้ คือ บุหรี่หนีภาษี และใบยามวนเอง ที่โตขึ้นมาก ในโอกาสครบรอบ 75 ปีโรงงานยาสูบจะออกบุหรี่กรองทิพย์รุ่นพิเศษ "ลิมิเต็ด เอดิชั่น" เรียกว่า .....เอ็มโบท วางตลาดในวันที่ 19 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันก่อตั้งโรงงานยาสูบ เป็นบุหรี่กรองทิพย์ที่นำมาปรุงพิเศษ หอมละมุน ในรูปแบบซองพิเศษ แข็งบวกอ่อน เปิดฝาบน ติดโลโก้ 75 ปีที่ออกแบบโดย อ.ทวีพงษ์ ลิมปนนท์ ที่หน้าซองบุหรี่
"อีกเรื่องที่ผมอยากทำคือ ได้เสนอสำนักงานพลังงานแห่งชาติ ขอทำหลังคาโรงงานขนาด 120,000 ตร.ม. ให้เป็นหลังคาโซลาร์เซลล์ ขนาด 8 เมกะวัตต์ ซึ่งถ้าทำสำเร็จหลังคาโรงงานยาสูบแห่งใหม่จะเป็นหลังคาโซลาร์เซลล์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอีกเทคโนโลยีที่ผมอยากทำ คือ คิวอาร์โค้ด ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นเจ้าแรกของโลกเป็นที่หนึ่งของโลกอีกเช่นกัน"
นอกจากนี้โรงงานยาสูบได้ค้นพบใยยาสูบชนิดพิเศษ คือ "ใบยากลาย" เป็นใบยาพื้นเมืองที่ปลูกริมแม่น้ำกลาย จ.นครศรีธรรมราช มีแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นใบยาคุณภาพดี กลิ่นหอม รสชาติดี บ่มด้วยน้ำค้าง ราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท มาเลเซียเข้ามากว้านซื้อไปหมด แต่ขณะนี้โรงงานยาสูบได้ใยบากลายมาแล้วและจะออกสินค้าใหม่ประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้