ไลฟ์สไตล์

ชวนเที่ยว : แหวกทะเลไป 'เกาะพิทักษ์'

ชวนเที่ยว : แหวกทะเลไป 'เกาะพิทักษ์'

22 มิ.ย. 2557

ชวนเที่ยว : แหวกทะเลไป 'เกาะพิทักษ์' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์

 
                           น่าน้อยใจแทน จ.ชุมพร ที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้ เพราะพอเปิดประตูได้ก็ก้าวข้ามไป หรือไม่ก็หยุดก่อนจะถึงชุมพร 
 
                           เพราะแม้ชุมพรจะมีพื้นที่ติดทะเลเป็นระยะทางยาว แต่ก็ยังเป็นรองประจวบคีรีขันธ์ที่อยู่เหนือขึ้นมา ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลที่ฮิตติดลมบนไปแล้ว พอจะบอกว่าเป็นจังหวัดที่มีเกาะเล็ก เกาะน้อยนับไม่ถ้วน แต่ก็เป็นรองเมืองร้อยเกาะ สุราษฎร์ธานี ที่อยู่ใต้ลงไป 
 
                           จริงๆ แล้ว ชุมพรมีอะไรดีๆ แฝงอยู่ในจังหวัดมากมาย ทั้งชายทะเลสวยๆ ที่ยังแสนสงบ กระจายไปตามอำเภอที่มีพื้นที่ติดทะเล ยังมีเกาะแก่งที่ทำเงินมหาศาลจากรังนกนางแอ่น และเกาะสำหรับท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังที่ยังสวยงาม จนน่าจะเป็นห้องรับแขกซะมาก 
 
                           ชวนเที่ยวสัปดาห์นี้ เลยจะพาไปเปิดประตูห้องรับแขก ที่ เกาะพิทักษ์ ที่นับวันจะเนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนที่ถวิลหาความสงบที่ริมทะเล แต่ไม่เงียบซะจนเหงา ขนาด ผู้ใหญ่หรั่ง อำพล ธานีครุฑ ซึ่งเป็นประธานการท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์ ออกปากผ่านหนังสือคู่มือท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์ว่า ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะเล็กๆ แห่งนี้แล้วมากกว่าหมื่นคนต่อปี ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 9 ล้านบาท 
 
                           เกาะพิทักษ์ อยู่ในเขต ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน แม้จะเป็นเกาะเล็กๆ แต่ก็มีคำขวัญเก๋ไก๋ "ถนนข้ามสมุทร น้ำจืดผุดกลางเกาะ หอยเจาะทะเลขาด" 
 
                           การเดินทางไปเกาะพิทักษ์โดยรถยนต์เดี๋ยวนี้สบาย จาก อ.หลังสวน ไปตามถนนเส้นเลียบชายทะเล ปากน้ำหลังสวน-ปากน้ำท่าตะโก มีป้ายบอกทางไปเรื่อย จนถึงท่าเทียบเรือข้ามไปเกาะที่ ต.บางน้ำจืด หรือจะเช่าเรือตระเวนเที่ยวไปตามเกาะต่างๆ ของชุมพร ก่อน แล้วไปขึ้นที่เกาะพิทักษ์ก็ได้เหมือนโดยเรือสามารถเทียบท่าถึงบันไดบ้านที่จะเข้าพักได้เลยทีเดียว เพราะบ้านพักส่วนใหญ่ ปลูกอยู่ในทะเล แล้วมีสะพานทอดเชื่อมเกาะ มีถนนเล็กๆ ที่ใช้สัญจรไปมา แต่ยานพาหนะหลักที่มีกันทุกบ้านก็คือเรือหางยาว ที่ใช้เดินทางข้ามไปมาระหว่างเกาะกับฝั่ง
 
                           บนเกาะพิทักษ์ เป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีวัด ไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานที่ราชการอะไร เพราะเป็นชุมชนเล็กๆ และก็อยู่ห่างจากฝั่งแค่ 1 กิโลเมตร เด็กๆ ก็ไปเรียนกันบนฝั่ง เลิกเรียนก็กลับมาช่วยพ่อแม่ ซึ่งส่วนใหญ่ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ส่วนการรับนักท่องเที่ยวเป็นแค่จ๊อบพิเศษ  
 
                           ผู้ใหญ่หรั่งบอกว่า ที่นี่เป็นหมู่บ้านประมง อาชีพและรายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการประมง บวกกับการยึดแนวทางพระราชดำริตามทฤษฎีพอเพียง ทำให้เดือนหนึ่งๆ มีรายได้เข้ากระเป๋าขนาดมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกฉันตาโตทีเดียว ส่วนการรองรับนักท่องเที่ยวนั้น แต่ละบ้านที่เปิดรับนักท่องเที่ยวก็จะคอยดูแลทั้งที่หลับที่นอน และเรื่องอาหารการกินครบมื้อ ระบบการเข้าพักก็จะใช้วิธีเวียนกันไป ยกเว้นจะเป็นแขกส่วนตัวหรือติดต่อขอเข้าพักที่บ้านนั้นๆ ก็อนุโลมแต่พอมีลูกค้าใหม่มาก็จะข้ามบ้านหลังนั้นไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและลดปัญหาต่างๆ  
 
                           ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้เกาะพิทักษ์ เป็นหมู่บ้านโอท็อป ท่องเที่ยวโฮมสเตย์ เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญคือ เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลดีเด่น ในปี 2545 จากการที่ชาวประมงที่นี่ร่วมกันต่อสู้ และรักษาทรัพยากรทางทะเลรอบเกาะ ลดละเลิก การใช้เครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้างนั่นเอง ทำให้พวกเขามีทรัพยากรให้เก็บกินเหลือเฟือ ก่อนจะมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียอีก
 
                           ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านประมง เรื่องการถนอมอาหารทะเลเลยขึ้นชื่อ โดยเฉพาะ "ปลาเค็มหมกทราย" ที่เป็นของขึ้นชื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกาะทิพักษ์ กรรมวิธีของเขาน่าทึ่งจริงๆ คือนำปลาอินทรีย์สดๆ จากทะเล ผ่ามกรรมวิธีการหมักด้วยเกลือและห่อด้วยพลาสติก ก่อนที่จะนำไปฝังทรายที่ชายหาดเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ทำให้ได้ปลาอินทรีเค็มที่มีรสชาติกลมกล่อม และมีกลิ่นหอม เป็นที่ติดอกติดใจ นอกเหนือไปจากอาหารทะเลสดๆ
 
                           ร้านขายของที่ระลึกบนเกาะ ก็มีอยู่หลายร้าน ที่ขายเสื้อผ้า เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว ไม่ต่างกับชุมชนทั่วๆ ไป ถ้าให้ดี มีเวลาสัก 3 วันก็เที่ยวสบาย เดินชมวิถีชุมชน พายคายัค ออกเรือไดหมึก ดำน้ำดูปะการังแถวเกาะครามที่อยู่ไม่ไกลกัน หรือถ้าไม่ไปไหน ก็แค่เดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของเกาะ ก็จะมีชายหาดเล็กๆ ให้เล่นน้ำ 
 
                           ฉันกับเพื่อน ตกลงใจจะออกไปไดหมึกกัน ติดต่อเรือจากที่พักนั่นเอง ก็บอกแล้วอาชีพส่วนใหญ่คือประมงแล้วยังมีเรืออยู่แล้ว อุปรกณ์ตกหมึก ไม่มีอะไรมาก แค่เบ็ด ที่เขาเรียกว่า "โยทะกา" ที่หย่อนลงไปข้างๆ เรือ คอยกระตุกเป็นระยะ ให้ปลาหมึกนึกว่าเป็นเหยื่อ แต่เสียดายว่าคลื่นลมไม่เป็นใจ วันนั้นเลยไม่ได้หมึกแม้แต่ตัวเดียว แต่ไปได้กุ้งตัวเขื่องแทน แถมไม่ต้องตก แต่มันว่ายมาเล่นไฟให้จับได้ง่ายๆ ไมใช่แค่เรา แต่เรือลำอื่นก็ชะตากรรมไม่ต่างกัน 
 
                           หลังลอยลำอยู่ร่วมชั่วโมง ลุงขับเรือบอกว่าวันไหนลมแรง คลื่นแรงมักตกหมึกไม่ค่อยได้กิน เลยหันหัวเรือกลับไปนั่งเล่นรับลมชานบ้านดีกว่า 
 
                           รุ่งเช้า ยังไม่ทัน 6 โมงดี พวกเราก็แอบย่องออกจากบ้าน ไปตามล่าดวงอาทิตย์กัน เดินกันราวๆ ไม่เกิน 20 นาที ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของเกาะ ระหว่างทางเป็นถนนที่ปูด้วยอิฐตัวหนอนทำไว้อย่างดี ผ่านไปตามดงมะพร้าว เชื่อมไปอีกฝั่งของเกาะ เป็นชายหาด ไม่มีบ้านคนอยู่ ซึ่งหน้ามรสุมที่นี่จะมีคลื่นลมแรง เพราะหันหน้าออกทะเลเต็มๆ  
 
                           เพลิดเพลินกันจนท้องร้องอุทธรณ์ด้วยความหิวนั่นแหละ ถึงได้เดินกลับบ้าน ข้าวต้มปลาเป็นอาหารเช้า ที่ถูกที่ถูกเวลาจริงๆ เบิ้ลกันไปคนละชามสองชาม ก่อนจะเก็บข้าวของเดินทางกลับ 
 
                           จริงๆ ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลลงเยอะ จนเห็นสันทรายของทะเลที่เชื่อมระหว่างเกาะพิทักษ์ กับฝั่งชุมพร จนเกิดเป็นประเพณี วิ่งแหวกทะเลสู่เกาะพิทักษ์ นับเป็นแห่งเดียวในประเทศ โดยร่วมกับ อบจ.ชุมพร, อบต.บางน้ำจืด, อบต.ปากน้ำหลังสวน ร่วมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดเป็นงานวิ่งมินิมาราธอน ระยะ 14 กิโลเมตร โดยใช้ชื่อว่า วิ่งแหวกทะเลสู่เกาะพิทักษ์ หลังสวนมินิมาราธอน 
 
                           วิ่งแหวกทะเลปีนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน เป็นครั้งที่ 10 แล้ว เส้นทางเริ่มจากเรือจำลองจักรีนฤเบศร ปากน้ำหลังสวน มาตามเส้นทางถนนเลียบชายทะเลที่สวยงาม และเข้าสู่เส้นชัยบนเกาะพิทักษ์ ซึ่งอยู่ห่างฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร โดยจะต้องวิ่งลุยน้ำทะเลระดับน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร และมีการแข่งขัน "วิ่งฟันรัน" ระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตร มีจุดปล่อยตัว ณ ศูนย์หมู่บ้าน หมู่ 12 ต.บางน้ำจืด ข้ามทะเลมาเข้าเส้นชัยที่เกาะพิทักษ์เหมือนกัน    
 
                           ใครสนใจติดต่อสอบถามได้ที่ผู้ใหญ่หรั่ง เกาะพิทักษ์ (08-1093-1443, 08-9018-0644) หรือเทศบาลปากน้ำหลังสวน (0-7755-1459, 0-7756-1061)
 
                           แม้การท่องเที่ยวจะนำผู้คนหลั่งไหลเข้าไปที่เกาะพิทักษ์จำนวนมาก แต่ชาวบ้านบนเกาะยังอยู่กันอย่างสงบ ยึดมั่นอนุรักษ์ทรัพยากรของตนเอง จนกลายเป็นห้องเรียนกว้างสำหรับผู้คนทั่วๆ ไป และแน่นอนยังเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังรักความสงบของธรรมชาติด้วย
 
 
 
 
 
-------------------------
 
(ชวนเที่ยว : แหวกทะเลไป 'เกาะพิทักษ์' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)