
เป็นคนค้ำ ต้องรับใช้กรรมแทน
01 ก.ค. 2557
เปิดซองส่องไทย : เป็นคนค้ำ ต้องรับใช้กรรมแทน : โดย...ลุงแจ่ม
ดิฉันเคยเขียนเรื่องมาปรึกษาครั้งหนึ่งแล้วเกี่ยวกับการค้ำประกันการกู้เงินของธนาคารออมสิน และลุงแจ่มก็ได้ลงใน นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ปัญหาก็มีอยูว่า ก่อนที่จะลงหนังสือพิมพ์ ทางธนาคารออมสินก็ได้โทรศัพท์บอกให้หนูทำหนังสือไม่ให้หักเงินเดือน ดิฉันก็ทำบันทึกไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 พอสิ้นเดือนก็ไม่หักจนถึงปัจจุบัน
แต่ปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลบอกว่าฟ้องดิฉันเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 แสดงว่าธนาคารออมสินหลอกให้ดิฉันทำบันทึกไม่ให้หักเงินเดือนเพื่อที่เขาจะฟ้องดิฉันใช่หรือเปล่าคะ เพราะมีหมายศาลให้ไปไกล่เกลี่ยหนี้วันที่ 11 ธันวาคม 2556 หน้าหมายศาลเขียนศาลธัญบุรี แต่ข้างในเป็นศาลนนทบุรี
ดิฉันไปศาลธัญบุรี เวลา 13.30 น. ไปหาก็ไม่มีรายชื่อ จนต้องไปถามเจ้าหน้าที่ เขาถามว่าผู้กู้อยู่ที่ไหน ดิฉันบอกว่านนทบุรี เขาก็เลยบอกว่าจะต้องไปขึ้นที่ศาลนนทบุรี เขาก็เลื่อนนัดให้ไป 7 กุมภาพันธ์ 2557 ทนายเขาให้ดิฉันไปหาตัวผู้กู้มาให้ได้ แล้วดิฉันจะไปหาได้ที่ไหน ดิฉันคนต่างจังหวัด และก็ไม่เคยไปไหน ดิฉันผิดที่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ไม่ได้ไปศาลโดยให้ทนายไปแทนเพราะว่ากลัวไม่เคยขึ้นศาลมาก่อน ใบคำพิพากษามาวันที่ 15 มิถุนายน ผลออกมาว่าศาลตัดสินให้ดิฉันใช้หนี้ 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 14% ต่อปี ของเงินต้น 1,810,264.26 บาท และค่าทนายความอีก 5,000 บาท ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับและจำขัง
คนที่กู้เงินไป ใช้เงินสบาย แต่คนค้ำไม่ได้ใช้เงินแต่ต้องรับกรรม จดหมายฉบับแรกที่ดิฉันเขียนหาลุงแจ่มดิฉันอยากรู้ว่าจะถูกยึดบ้านหรือเปล่า แต่ทางออมสินก็ตอบไม่ชัดเจน ดิฉันไม่รู้จะทำอย่างไร กินไม่ได้นอนไม่หลับพูดง่ายๆ ก็อยากจะตาย ถ้าตายแล้วหนี้จบดิฉันขอตายดีกว่า ทุกวันนี้อยู่กับน้ำตา คิดทีไรก็ร้องไห้ทุกทีไม่รู้จะไปพึ่งใครเพราะเป็นคนธรรมดาไม่รู้จักใคร ดิฉันไม่ได้หนี แต่ขอความเห็นใจ ให้ดิฉันผ่อนแล้วดิฉันจะหางานพิเศษทำเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้เพื่อน
ดิฉันอยากทำงานหาเงินให้ลูกเรียน ดิ้นรนมีบ้านก็เพื่อลูก จะให้ดิฉันผ่อนเดือนละ 12,000 บาท เงินเดือนยังเหลือไม่ถึงเลย แล้วทำไมตอนนั้นไม่ดูเงินของคนค้ำบ้าง ดิฉันไม่หนีแน่นอน แต่ขอใช้หนี้ให้น้อยลงบ้างได้ไหม คิดดอกก็แพง ค่าทนาย (ออมสินเป็นคนฟ้องแต่ทำไมมาคิดที่ดิฉัน) คนกู้โดนฟ้องล้มละลาย สามีเขาเคยเป็นทนายแต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแล้ว
มีวิธีไหนช่วยดิฉันและลูกได้บ้าง ลูกดิฉันเรียนชั้น ม.5, ม.2 และ ม.1
และทนายของธนาคารออมสินบอกว่า เรื่องของดิฉันถึงกรมบังคับคดีแล้ว จะมายึดบ้านวันไหนก็ได้ ถ้าฟ้องบังคับคดีดิฉัน ดิฉันก็ไม่สามารถที่จะกู้อะไรได้เลย อย่างน้อยถ้ากู้ได้ดิฉันก็จะกู้มาคืนธนาคารออมสินไม่มากก็น้อยตามสภาพที่จะทำได้ แต่ถ้าบังคับคดีดิฉันจนหมดสิ้นทุกอย่างเลย แล้วดิฉันจะอยู่ได้อย่างไร
นฤชล นกเอี้ยงทอง
ตอบ
นายสมชาย กุลอารีย์รัตน์ ผู้อำนวยการเขตสมุทรปราการ 1 ธนาคารออมสิน ชี้แจงว่า ตามบันทึกข้อความที่ สอ.ช. (บ.) 538/2557 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 เรื่อง "เป็นคนค้ำต้องรับใช้กรรมแทน" ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ซึ่งฝ่ายสื่อสารองค์กร ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก คุณนฤชล นกเอี้ยงทอง หรือ คุณรัตนา นกเอี้ยงทอง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้สวัสดิการของ น.ส.เพ็ญศิณี ทิพย์นลิน และศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,968,505.89 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 1,810,264.26 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 ตุลาคม 2556) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจกท์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นั้น
ขอแจ้งเป็นประเด็นที่ร้องเรียน ดังนี้
1.เนื่องจากผู้ค้ำไม่ประสงค์จะให้ธนาคารหักเงินเดือน แต่พนักงานได้แจ้งให้ทราบแล้วว่าจะต้องดำเนินการตามกระบวนการของธนาคารต่อไป ซึ่งผู้ค้ำก็ทราบในประเด็นนี้
2.ผู้ร้องแจ้งว่าหน้าหมายศาล เขียนศาลธัญบุรี แต่ข้างในเป็นศาลจังหวัดนนทบุรี ทำให้ลูกหนี้ไปผิดศาล นั้น กรณีนี้ศาลเป็นผู้ออกหมาย มิใช่ธนาคารเป็นผู้ออกหมาย
3.กระบวนการดังกล่าว เป็นขั้นตอนการออกคำบังคับ และนำหมายของศาล ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณา ความแพ่ง ดังหมายที่ผู้ร้องได้แนบมา
4.ปัจจุบันขั้นตอนอยู่ระหว่างการออกคำบังคับ ธนาคารยังมิได้ดำเนินการสืบทรัพย์แต่อย่างใด
และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 คุณรัตนา ผู้ค้ำประกัน ได้เข้ามาติดต่อกับธนาคารออมสิน สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อจะขอประนอมหนี้ และได้เปิดบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกเลขที่ 020122xxxxxx ไว้ โดยแจ้งว่าจะเริ่มทดลองส่งชำระหนี้งวดแรกไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายน 2557 และลูกหนี้ได้ยื่นเอกสารแบบแสดงความจำนงขอผ่อนผันการชำระหนี้หลังคำพิพากษา ในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 แล้ว
ลุงแจ่ม
สามี(ตัวดี) ยกทรัพย์สินให้ลูก
ดิฉันมีเรื่องอยากขอคำแนะนำด้วยค่ะ คือว่าดิฉันอยู่กินกับสามีมา 7 ปี มีลูกด้วยกัน 1 คน และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่สามีรับรองบุตรว่าเป็นลูกค่ะ ซึ่งระหว่างที่อยู่ด้วยกันเรามีทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันคือ บ้าน รถ ที่ดิน และเงินสด
ปัญหาเกิดตรงที่ว่า ดิฉันได้ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง สิ่งที่ตามมาคือ สามีก็เริ่มปันใจให้หญิงอื่น โดยที่ช่วงแรกดิฉันไม่ทราบข่าว เพิ่งมาทราบหลังจากเรื่องราวล่วงเลยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เสียใจมากค่ะ เพราะที่ผ่านมาระหว่างที่อยู่ด้วยกันสามีเคยเป็นคนที่รักครอบครัวมาก จึงไม่เคยคิดว่าเขาจะกลายเป็นคนเจ้าชู้ไปได้
เมื่อทราบเรื่อง แม้จะเสียใจ แต่ก็ยินดีจะหลีกทางให้ ถ้าสามีหมดรักแล้ว เพราะหลังจากดิฉันประสบอุบัติเหตุก็ไม่แทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสามีอีกเลย เนื่องจากร่างกายไม่พร้อม ดิฉันบอกสามีว่า จะออกไปจากชีวิตของเขา เพราะรับไม่ได้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่สามีโวยวาย บอกว่าไม่ยอม เพราะยังรักดิฉันอยู่ แต่ก็ขอจะรับผิดชอทางโน้นด้วย
ดิฉันรับไม่ได้ กับสิ่งที่สามีต้องการ จึงยืนยันว่า ต้องการเลิกกัน เพราะถ้าเป็นอย่างนี้มีแต่จะยิ่งเสียใจ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าสามีจะไปมีอีกกี่บ้าน จึงเลือกที่จะเลิกกันตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า จึงบอกสามีว่า ต้องการเลิกกัน แต่สามีก็ยังไม่ยอมอยู่ดี แต่ดิฉันตัดสินใจแล้วว่า คงอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว
อยากทราบว่า ถ้าดิฉันต้องเลิกกับสามี ลูกของดิฉันจะได้สิทธิอะไรบ้าง และทรัพย์สินที่มีจะแบ่งกันอย่างไร
อาภรณ์
ตอบ
ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน อาจารย์ปราชญา อ่อนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำเรื่องนี้ว่า กรณีนี้ควรเจรจากับสามีให้ดี ถ้าต้องการจะเลิกกันจริงๆ อยากให้คิดถึงลูกด้วย และถ้าต้องเลิกรากันก็ควรจะตกลงกันโดยดีว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่นี้จะแบ่งครึ่งกันอย่างไร หรืออาจจะตกลงกันว่า ใครควรจะได้บ้าน หรือใครควรจะเอารถไป หรือยกทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เป็นของลูกไป
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเจรจากันให้ชัดเจน ส่วนเรื่องสิทธิของลูกนั้น ลูกของคุณมีสิทธิตามกฎหมายทุกอย่างที่จะได้รับสิทธิมรดกทรัพย์สินจากผู้เป็นพ่อตามกฎหมาย
ลุงแจ่ม