ไลฟ์สไตล์

การผ่าตัดกระดูกคอ-กระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

การผ่าตัดกระดูกคอ-กระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

16 ก.ค. 2557

ดูแลสุขภาพ : การผ่าตัดกระดูกคอ-กระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

 
                          โรงพยาบาลเซนต์ แอนนา แห่งเยอรมนี  ร่วมกับสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปทุกปี  ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าว ได้จัดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยมีศัลยแพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมจากทั่วโลก 
 
                          ในการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่บริเวณกระดูกคอหรือกระดูกสันหลัง รวมทั้งการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบจากการหนาตัวขึ้นของกระดูกหรือเส้นเอ็นจนบีบรัดเส้นประสาท ในปัจจุบันนี้มีเทคนิคที่เรียกว่า การผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยสอดกล้องผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 7.9 มิลลิเมตร พร้อมเลนส์ที่ปลายกล้อง แพทย์จึงสามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาออกได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก คนไข้จึงใช้เวลาพักฟื้นน้อย และผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อยกว่าเดิม
 
                          ด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้ร่วมมือกับ นพ.รุทเทิน ในนามของโรงพยาบาลเซนต์ แอนนา และบริษัทริชาร์ด วูล์ฟ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของเยอรมนี ในการก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ด้วยการเปิดตัวกล้องขนาด 10.5 มิลลิเมตรในปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกสันหลังให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
 
                          กล้องใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้ สามารถนำมาใช้ในคนไข้ที่มีภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบจากการเกิดหินปูนเข้าไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธีการกรอกระดูก จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ใหญ่ขึ้นเพื่อลดขั้นตอนการทำงานและย่นเวลาในการผ่าตัดลง ซึ่งกล้องตัวนี้ถือว่าเข้ามาทำให้การรักษาภาวะต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้หลากหลายขึ้น
 
                          ส่วนการพัฒนาในลำดับถัดไป ทางสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการถ่ายทอดเทคนิคการรักษาที่กว้างกว่าเดิม จึงได้เตรียมพร้อมสำหรับการจัดฝึกอบรมการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีการดามเหล็กผ่านผิวหนัง สำหรับการรักษาอาการกระดูกสันหลังทรุดหรือเคลื่อนจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยมากผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขาจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ
 
                          การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปนั้น ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทเป็นหลัก ซึ่งเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ แพทย์จะเข้าไปเอาส่วนที่มีการกดทับหรือมีหินปูนเกาะออก แต่สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมาก ซึ่งประสบปัญหากระดูกสันหลังทรุดทั้งข้อ หลวม หรือเคลื่อนนั้น ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อดามเหล็ก เพื่อเสริมความมั่นคงส่วนที่ทรุดนั้นต้องหนุนขึ้นไปก่อนแล้วจึงดามเหล็ก ในกลุ่มนี้ โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบก่อให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา ซึ่งไม่ต่างจากผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ดังนั้น ต้องอาศัยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการผ่าตัด
 
                          ก่อนหน้านี้การผ่าตัดด้วยวิธีดามเหล็กต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้คนไข้เสียเลือดและบอบช้ำมาก โดยมากต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลโดยเฉลี่ยประมาณ 5-7 วัน ปัจจุบันนี้สามารถใช้เทคนิคผ่าตัดดามเหล็กผ่านผิวหนังทำให้แผลผ่าตัดเล็กลง คนไข้เสียเลือดและบอบช้ำน้อยลง โดยเฉลี่ยคนไข้ลุกขึ้นเดินได้ใน 8-12 ชั่วโมง และพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2 คืน 
 
                          หลังจากที่ทีมแพทย์ของทางสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ได้ผ่าตัดคนไข้ด้วยเทคนิคการดามเหล็กผ่านผิวหนังมาแล้วร่วม 200 ราย และเห็นว่าเทคนิคดังกล่าวช่วยย่นระยะเวลาผ่าตัดและลดความบอบช้ำของคนไข้ได้มาก จึงตั้งใจว่าในช่วงต้นปีหน้าจะจัดอบรมให้กับแพทย์ผู้สนใจในลักษณะเดียวกับที่ทำมาแล้วสำหรับการผ่าตัดกระดูกคอและกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมเกินกว่าจำนวนที่ทางสถาบันรองรับได้
 
 
 
 
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์