ไลฟ์สไตล์

อ้วน ผอม กำหนดได้จาก 'ธาตุเจ้าเรือน'

อ้วน ผอม กำหนดได้จาก 'ธาตุเจ้าเรือน'

18 ก.ค. 2557

ดูแลสุขภาพ : อ้วน ผอม กำหนดได้จาก 'ธาตุเจ้าเรือน'

 
                             หลายคนคงเคยสงสัยว่า ทำไมตัวเองเป็นคนกินน้อยแต่กลับมีปัญหาเรื่องความอ้วน แต่บางคนที่กินมากกลับผอม หุ่นดี เรื่องนี้สามารถหาคำตอบได้ในทฤษฎีของทางการแพทย์แผนไทย ที่ว่าด้วยเรื่องของ “ธาตุเจ้าเรือน” 
 
                             “เจ้าเรือน” คือหนึ่งวิธีทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้เพื่อให้หมอเข้าใจคนไข้ เข้าใจความปกติของคนไข้แต่ละบุคคลเพื่อประกอบการวางแผนการรักษา การเข้าใจเจ้าเรือนนอกจากนำไปสู่การรักษาแล้ว ยังนำไปสู่การแนะนำการรับประทานอาหารอีกด้วย หลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องการรับประทานอาหารตามธาตุ โดยกำหนดเป็นรส และยกตัวอย่างอาหารที่ควรรับประทาน แต่ในรายละเอียดที่ลึกไปกว่านั้น คือ เจ้าเรือนไม่ได้บอกแค่ว่าให้รับประทานอะไร แต่บอกลงไปถึงว่ารับประทานอย่างไร ได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อไรที่ควรหรือไม่ควรรับประทาน 
 
                             อ.ชลาลัย โชคดีศรีจันทร์ อาจารย์แพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร กล่าวว่า “พื้นฐานโครงสร้างร่างกายมนุษย์นั้นประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งอัตราส่วนธาตุเหล่านี้ในแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน ทำให้แต่ละคนมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ในโครงสร้างทั้ง 4 ธาตุนี้ ถูกควบคุมด้วยระบบและกลไก 3 ระบบ คือ ระบบปิตตะ (ระบบแห่งความร้อน) ระบบวาตะ (ระบบการเคลื่อนไหว) และระบบเสมหะ (ระบบการควบคุมสารเหลว) เมื่อส่วนประกอบแต่ละธาตุไม่เท่ากันก็ย่อมส่งผลให้ระบบที่กล่าวมาทำงานไม่เท่ากันด้วยนั่นเอง
 
                             โดยในส่วนของทางเดินอาหารในร่างกายของเรานั้น จะถูกควบคุมด้วยระบบทั้ง 3 ดังนี้
 
                             1.ระบบการย่อยและการเผาผลาญอาหาร จะถูกควบคุมการทำงานโดยระบบปิตตะ อันมีไฟย่อยเป็นหลัก 
 
                             2.การลำเลียงหรือขับเคลื่อนอาหารทั้งนำเข้า ขับออก ดูดซึมเข้าตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะถูกควบคุมด้วยระบบวาตะเป็นหลัก 
 
                             3.การสะสม การเติมเต็มร่างกาย หรือการห่อหุ้มให้สารอาหารนั้นดำรงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น จะถูกควบคุมด้วยระบบเสมหะเป็นหลัก
 
                             ดังนั้น เมื่อสรุปถึงระบบทางเดินอาหารในภาพรวมแล้ว ธาตุเจ้าเรือนจะกำหนดปากท้องเราได้ดังนี้
 
                             ผู้ที่มีเจ้าเรือนที่เป็นไฟธาตุหรือมีความเป็นปิตตะมาก จะมีระบบการย่อยและการเผาผลาญที่โดดเด่น คนกลุ่มนี้จะรับประทานได้มากแต่ไม่อ้วน แต่ปัญหาที่ต้องประสบ คือ ต้องรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ทนหิวนานไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเกิดอาการแสบท้องจุกแน่นอก และจะเป็นกรดไหลย้อนได้ง่าย ด้วยความร้อนที่เกิดขึ้นได้ง่ายจึงต้องมียารสขม และเย็นประกอบในมื้ออาหาร เพื่อช่วยคุมความร้อนในร่างกายที่มีมากเกินไป
 
                             ผู้ที่มีเจ้าเรือนที่เป็นธาตุลมหรือมีความเป็นวาตะมาก จะมีระบบการลำเลียงดี คนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยอ้วนเช่นกัน แต่จะรับประทานได้ไม่มากเท่าคนไฟธาตุ รับประทานน้อย อิ่มเร็ว หิวเร็ว และท้องอืดได้ง่ายหากรับประทานอาหารที่ย่อยยาก เพราะไฟย่อยในคนกลุ่มนี้ขึ้นและลงเร็ว การทำงานของไฟย่อยไม่ค่อยเสถียร ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงควรมีอาหารรสร้อนจำพวกเครื่องเทศปรุงไปกับอาหาร เพื่อให้อาหารที่รับประทานนั้นย่อยได้ดีขึ้นและช่วยขับลมแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อที่มักเป็นปัญหากวนใจคนธาตุนี้อยู่บ่อยครั้ง
 
                             และสำหรับผู้ที่มีระบบเสมหะเจ้าเรือนที่เป็นธาตุน้ำและดิน หรือมีความเป็นเสมหะที่มาก จะมีระบบการย่อยและการลำเลียงไม่ค่อยดี มีการสะสมได้ง่าย รับประทานน้อยอ้วนง่าย อึดอัดแน่นท้อง หนักเนื้อหนักตัวหลังรับประอิ่ม ดังนั้นในคนกลุ่มนี้ต้องดูแลพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รับประทานแต่พออิ่ม รับประทานเมื่อหิว หลีกเลี่ยงของมัน ของหวาน เน้นของเปรี้ยวของขม กลุ่มเครื่องเทศเพื่อช่วยย่อยและเผาผลาญ 
 
                             ทั้ง 3 ระบบนี้ จะคุมทุกการทำงานในร่างกาย ถ้าทำงานสอดประสานกันได้อย่างลงตัวก็จะไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่หากมีระบบใดระบบหนึ่งถูกกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพที่ผิด เช่น การกิน การนอน ความเครียด หรือจากอุบัติเหตุ หรือเสื่อมไปตามอายุ ก็จะทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วย ดังนั้นจึงมีการจัดหมวดหมู่ของปิตตะ วาตะ เสมหะ ว่า “ตรีโทษ” ซึ่งก็คือ 3 สิ่งที่สามารถทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วยหรือเกิดโทษกับร่างกายได้นั่นเอง 
 
 
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
 
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
 
โทร.0-3721-1289