เปลี่ยนท่อฉี่ใน 'แมว' ครั้งแรกในโลก
27 ก.ค. 2557
ก้าวอีกขั้นวงการ 'สัตวแพทย์ไทย' เปลี่ยนท่อฉี่ใน 'แมว' ครั้งแรกในโลก
โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ประสบความสำเร็จ การปลูกถ่ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มทดแทนท่อปัสสาวะในสุนัขและแมว โดยเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มทดแทนท่อปัสสาวะในแมวเป็นครั้งแรกในโลก
นสพ.วันชาติ ยิบประดิษฐ์ นายสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ หัวหิน เผยระหว่างการแถลงข่าวครบรอบ 10 ปีโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ถึงความสำเร็จการปลูกถ่ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มทดแทนท่อปัสสาวะในสุนัขและแมวว่า เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มทดแทนท่อปัสสาวะในแมวเป็นครั้งแรกในโลก เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดทำได้ในสัตว์ประเภทนี้ ขณะที่สุนัขนั้นในส่วนของสุนัขที่ได้รับบาดเจ็บแล้วนำมารักษาก็มีการปลูกถ่ายเป็นครั้งแรกเช่นกัน ยกเว้นสุนัขที่ใช้สำหรับการทดลอง
"ในอดีตเมื่อสุนัขและแมวประสบเหตุทำให้ท่อปัสสาวะฉีกขาดจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการเย็บเชื่อมต่อกลับได้ ดังพบบ่อย กรณีถูกรถชน กระดูกเชิงกรานแตกหักแล้วบาดท่อปัสสาวะที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานให้ฉีกขาด หรือในกรณีการตีบแคบของท่อปัสสาวะจนไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกได้แล้วจำเป็นต้องผ่าตัด สัตวแพทย์มักใช้วิธีผ่าตัดเปิดและเย็บผนังของกระเพาะปัสสาวะออกทางช่องท้อง"
นสพ.วันชาติเผยต่อว่า สำหรับวิธีการดังกล่าวมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น การกลับมาอุดตันของท่อปัสสาวะจากเนื้อเยื่อพังผืด การไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ การระคายเคืองและอักเสบของเนื้อเยื่อผิวหนังรอบๆ บริเวณที่เปิดปัสสาวะออก และการติดเชื้อย้อนขึ้นไปที่กระเพาะปัสสาวะ เกิดภาวะไตวายตามมาได้ เพื่อให้สัตว์ป่วยสามารถปัสสาวะออกสู่ภายนอกผ่านตามแนวท่อปัสสาวะเดิม ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้นได้
"ทีมศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน จึงพัฒนาวิธีการผ่าตัดแก้ไขการฉีกขาดของท่อปัสสาวะขึ้นใหม่โดยยังคงแนวท่อปัสสาวะเดิมด้วยการปลูกถ่ายเยื่อบุกระพุ้งแก้มที่ตัดเลาะออกจากกระพุ้งแก้มสัตว์ตัวเดียวกันทดแทนเป็นท่อปัสสาวะที่ขาดหายไป ผลการผ่าตัดแก้ไขให้สุนัขจำนวน 5 ตัว และแมว 1 ตัว ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สัตว์ป่วยทุกตัวสามารถปัสสาวะออกทางท่อปัสสาวะที่สร้างทดแทนขึ้นใหม่จากเยื่อบุกระพุ้งแก้มได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี"
นายสัตวแพทย์คนเดิมย้ำด้วยว่า สาเหตุที่เยื่อบุกระพุ้งแก้มเป็นเนื้อเยื่อที่มีความเหมาะสมในการนำมาปลูกถ่ายเพื่อทดแทนท่อปัสสาวะ เนื่องจากเป็นเนื้อเยื่อที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อของท่อปัสสาวะ มีความบาง ทำให้สามารถปลูกถ่ายได้ง่าย เป็นเนื้อเยื่อที่มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นสูง และโอกาสน้อยที่จะตีบแคบหลังการผ่าตัดและที่สำคัญทนต่อความชื้นสูงและทนต่อการติดเชื้อได้ดี
นับเป็นก้าวใหม่ในวงการสัตวแพทย์ไทยในการรักษาสัตว์ให้มีสุขภาพที่ดีควบคู่กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหินในการพัฒนา ค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้ความรู้ทางวิชาการ หรือเทคนิคใหม่ๆ ในการรักษาสัตว์ เพราะรู้ดีว่าสัตว์เลี้ยงคือหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว และย่อมต้องการการดูแลอย่างดีที่สุดเมื่อเจ็บป่วย