
สร้างแหล่งอาหาร-ที่อาศัย 'หอยชักตีน'
31 ก.ค. 2557
ทำมาหากิน : ผนึกชุมชนฟื้นหญ้าทะเลชายฝั่งกระบี่ สร้างแหล่งอาหาร-ที่อาศัย 'หอยชักตีน' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
ไม่มีใครปฏิเสธว่า "หอยชักตีน" สัตว์น้ำมีราคาที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงสำคัญบริเวณชายฝั่งกระบี่ที่นับวันมีปริมาณลดลงสวนกระแสกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่จากนี้ไปปัญหาดังกล่าวคงหมดไปหลังศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกระบี่ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และศูนย์พัฒนาวิจัยประมงชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ร่วมกับอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
อ.ปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ พัฒนาบ้านปลาบริเวณชายฝั่ง ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลในพื้นที่ จ.กระบี่ว่า ขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลอย่างยั่งยืน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารของพันธุ์สัตว์น้ำหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล หอยชักตีน และปลาอีกหลายชนิด
"โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยใช้วิธีการฟื้นฟูหญ้าทะเล 2 แบบ คือ แบบแยกกอ และแบบเพาะเมล็ด จากหญ้าทะเลท้องถิ่น จำนวน 3 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาเต่า และหญ้าคาทะเล ที่ผ่านมาทางโครงการและชุมชนได้ร่วมกันปลูกบริเวณชายฝั่งทะเลมาอย่างต่อเนื่อง"
หัวหน้าโครงการวิจัยคนเดิมเผยต่อว่า สำหรับหญ้าทะเลที่ปลูกในช่วงที่ผ่านมาได้เจริญเติบโตจนเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน โดยชุมชนในพื้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเพราะสิ่งนี้คือปัจจัยพื้นฐานในความสมบูรณ์ของแหล่งทำมาหากินของประชาชนชาวประมงชายฝั่ง ในปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำทะเลและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และที่อยู่อาศัยของปลา กุ้ง หมึก ปูม้า หอยชนิดต่างๆ ไส้เดือนทะเล ตลอดจนสัตว์เล็กๆ นานาชนิด
“ชุมชนได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ดำรงชีวิต และจากที่ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์พัฒนาวิจัยประมงชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ เข้ามาทำการวิจัยในเรื่องหญ้าทะเลและเรื่องหอยชักตีน ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกของชุมชนในการหวงแหนทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งให้คงอยู่กับทะเลไทย แบบสมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยที่ชุมชนมีส่วนร่วม"
อ.ปิยะวัฒน์ ย้ำถึงการดำเนินโครงการก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ในปี 2557 นี้ พบว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมคลื่นลมในทะเลค่อนข้างแรงจะสามารถพบเห็นหญ้าทะเลถูกคลื่นซัดขึ้นมาบริเวณชายหาดจำนวนมาก ซึ่งเป็นการยืนยันว่าหญ้าทะเลที่นำมาปลูกเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ได้ขยายกอเป็นทุ่งหญ้าทะเลในวงกว้างและเจริญสมบูรณ์ดี เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะหอยชักตีน สัตว์เศรษฐกิจสำคัญของจ.กระบี่ในปัจจุบัน
“การเก็บหอยชักตีนของชาวชุมชนจะเก็บเป็นช่วงๆ คือ ช่วง 13 ค่ำ ไปจนถึง 3 ค่ำ ช่วงนี้จะเก็บได้ แต่หลังจากนั้นไม่อนุญาตเก็บเพราะเป็นช่วงหอยผสมพันธุ์ ออกไข่ และในช่วงมรสุมไม่อนุญาตให้เก็บในพื้นที่ 200x200 เมตร บริเวณที่มีการปลูกหญ้าทะเล เพื่อให้หอยชักตีนได้เจริญเติบโต และการเก็บหอยทุกตัวจะเอาแต่ตัวโตๆ เท่านั้น" หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวในการผนึกกำลังของทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ในการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งกระบี่เพื่อเพิ่มปริมาณของ "หอยชักตีน" อันนำมาซึ่งรายได้ของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่งอีกครั้ง
-------------------------------
(ทำมาหากิน : ผนึกชุมชนฟื้นหญ้าทะเลชายฝั่งกระบี่ สร้างแหล่งอาหาร-ที่อาศัย 'หอยชักตีน' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)