ไลฟ์สไตล์

ตระการตาปราสาทผึ้ง...ไม่ใช่แค่ทางผ่าน

ตระการตาปราสาทผึ้ง...ไม่ใช่แค่ทางผ่าน

10 ส.ค. 2557

ตระการตาปราสาทผึ้ง...ไม่ใช่แค่ทางผ่าน : ท่องไปกับใจตน เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล

               สารภาพตามตรงว่าเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมได้สัมผัสงาน ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ที่ สกลนคร เป็นครั้งแรกในชีวิต ในฐานะที่เป็น “ทางผ่าน” ไปสู่จุดหมายปลายทางหลัก คืองานประเพณีไหลเรือไฟที่นครพนม ด้วยความเข้าใจว่า “คง” เป็นงานเล็กๆ ปราสาทที่แห่แหนกันก็คงมีขนาดเล็ก เทียบอะไรไม่ได้กับงานแห่เทียนเข้าพรรษา ที่อุบลร าชธานี หรืองานแห่บั้งไฟยโสธร แต่พอได้ไปเห็นกับตาจริงๆ ก็นึกอยากขออภัยชาวสกลนคร เพราะปราสาทผึ้งของแต่ละคุ้มวัดที่มาเข้าขบวนแห่นั้น แม้อาจจะไม่ใหญ่โตโอฬารเท่าเรือไฟลำใหญ่ยักษ์ของนครพนม แต่ลวดลายรอบตัวปราสาทที่รังสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตา ไม่สามารถไปเปรียบเทียบกันได้ว่าใครสวยกว่าใคร หรือใครเก่งกว่าใคร

               โดยเฉพาะเรื่อง “แรงศรัทธา” งานแห่ปราสาทผึ้ง ให้บทเรียนกับผมว่า ขนาดของงาน ปริมาณของสิ่งของ หรือมูลค่าของจำนวนเงิน ไม่สามารถใช้เป็น “มาตรวัด” ขนาดหรือปริมาณแรงศรัทธาได้ เหมือนที่ฝรั่งเขาว่าไว้ “Size is doesn’t matter” เพราะศรัทธานั้นอยู่ที่ใจ ยากแก่การจะนำออกมาชั่ง ตวง วัด

               ศรัทธาในการทำปราสาทผึ้งของชาวสกลนครมีมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเมืองหนองหาน เริ่มจากการนำขี้ผึ้งมาทำเป็น “ต้นดอกเผิ่ง” (ต้นผึ้ง) และ “หอเผิ่ง” (หอผึ้ง) เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนผู้ล่วงลับ เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญแจกข้าว ที่มุ่งเน้นแผ่กุศลให้ญาติสนิทที่ถึงแก่กรรม อาทิ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ตามคติความเชื่อว่า บุคคลใดเมื่อตายไปแล้วไม่ได้กินข้าวแจก ก็จะอดอยากและไม่ไปผุดไปเกิด วิญญาณจะวนเวียนคอยกินข้าวแจก จนครอบครัวไหนที่ญาติสนิทตายไปเป็นปีๆ แล้วยังไม่ทำบุญแจกข้าว ครอบครัวนั้นจะถูกเพื่อนบ้านติฉินนินทาว่าอกตัญญู

               ดังนั้น เมื่อชาวอีสานไปร่วมงานบุญแจกข้าวบ้านไหน ก็ถือคติว่า “ผู้หญิงห่อข้าวต้ม ตัดตอก บีบข้าวปุ้น ผู้ชายหักหอผึ้ง” หมายความว่าเมื่อไปงานบุญแจกข้าว ฝ่ายหญิงต้องช่วยห่อข้าวต้มมัด บีบเส้นขนมจีน ฝ่ายชายต้องมีมีดพร้าติดตัวไปด้วย เพื่อช่วยถากไม้ ตัดฟืน และจักตอกทำต้นผึ้ง ซึ่งทำจากต้นกล้วยขนาดเล็ก นำมาแต่งลำต้นและก้าน ทำขาหยั่งสามขาช่วยยึดต้นกล้วยให้ตั้งได้ จากนั้น นำขี้ผึ้งมาเคี่ยวให้หลอมเหลวเพื่อใส่ลงในแม่พิมพ์รูปดอกไม้ ผลไม้ เพื่อนำไปประดับประดาเป็นต้นผึ้งที่สวยงาม

               จากต้นผึ้ง พัฒนาสู่การประดิษฐ์คิดสร้าง “หอผึ้ง” ที่มีความสลับซับซ้อนและต้องใช้ฝีมือระดับสูงขึ้น จากการทำเฉพาะในงานบุญแจกข้าว พัฒนาสู่การทำถวายปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ คือพระธาตุเชิงชุม ถือว่าได้อานิสงส์สูงส่ง ด้วยเป็นพระธาตุที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาททั้งสี่ ของพระพุทธเจ้าทั้งสี่ที่เคยมีมาแล้วในกัปกัลป์นี้ คือ กกุสันโธพุทธเจ้า โกนาคมนพุทธเจ้า กัสปะพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า จากการที่ต่างคนต่างทำ พัฒนาสู่การนัดหมายกันทำ แล้วแห่แหนกันไปถวายอย่างเอิกเกริกใน วันออกพรรษา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตามพุทธตำนานว่าด้วยเทโวโรหนะสูตร เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมามนุษยโลก หลังจากเสด็จขึ้นไปเทศน์โปรดพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

               ทั้งนี้ มีบางตำราอ้างอิงหลักฐานตำนานเมืองหนองหาน เล่าขานว่า ในแผ่นดินพระเจ้าสุวรรณภิงคาร ทรงปกครองหนองหานเมื่อหลายร้อยปีก่อน โปรดให้ข้าราชบริพารจัดทำต้นเผิ่ง (ต้นผึ้ง) ในวันออกพรรษา เพื่อแห่แหนไปคบงัน (เฉลิมฉลอง) ที่วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นประจำทุกปี ดังนั้น จากต้นผึ้ง สู่หอผึ้ง จึงพัฒนาไปถึงขั้นทำ “ปราสาทผึ้ง” ไว้ถวายการต้อนรับองค์พระศาสดาในวันเทโวโรหนะ หรือวันออกพรรษาของทุกปีด้วยเหตุนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้จำนวนขี้ผึ้งมากขึ้น ใช้ฝีมือขั้นสูงขึ้นไปอีก และเหนือสิ่งอื่นใด คือต้องมีพลังศรัทธาสูงส่งยิ่งขึ้นด้วย

               ที่น่าสนใจคือ เหตุใด วัสดุในการสร้างหอผึ้งหรือปราสาทผึ้ง จึงต้องใช้ “ขี้ผึ้ง” เรื่องนี้มีคำอธิบายว่า นอกจากจะเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติแล้ว ยังอ้างอิงพุทธตำนานตอนที่พระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะเบาะแว้งกัน จนพระพุทธเจ้าทรงหนีความรำคาญไปพำนักในป่ารักขิตวัน โดยมีพญาช้างและพญาวานรคอยรับใช้ ด้วยการตักน้ำและหาผลไม้ถวาย จนวันหนึ่ง พญาวานรเก็บรวงผึ้งมาถวาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับรวงผึ้งแล้ว พญาวานรก็กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ จนเผลอพลัดตกจากคาคบไม้ถึงแก่ชีวิต ทว่า ด้วยอานิสงส์ที่เคยเก็บรวงผึ้งถวาย พญาวานรจึงได้ไปเกิดเป็นพรหมบนสรวงสวรรค์ ชาวเมืองหนองหาน-สกลนครเชื่อในเรื่องนี้ จึงยึดถือว่าการถวายต้นผึ้ง หอผึ้ง และปราสาทผึ้ง เป็นบุญกุศลสูงส่งอันพึงกระทำ       

               ที่น่าประทับใจ คือขบวนแห่ปราสาทผึ้งจะประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ที่อยู่รวมกันอย่างสันติสุขบนแผ่นดินนี้มาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น ชาวญ้อ โส้ กะเลิง ผู้ไท รวมถึงชาวไทยเชื้อสายเวียด ต่างได้รับเกียรติให้เข้าร่วมขบวนแห่อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้งานมีสีสันบนความแตกต่างหลากหลาย ไม่ต่างจาก “ประชาคมอาเซียน” ที่กำลังเกิดขึ้น ครั้นเมื่อขบวนแห่ปราสาทผึ้งเคลื่อนถึงพระธาตุเชิงชุมแล้ว ทุกชนเผ่าก็จะรำถวายพระธาตุด้วยลีลาท่ารำ และการแต่งกายอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนที่น่าประทับใจยิ่ง

               งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งขันเรือยาว จังหวัดสกลนคร ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-8 ตุลาคม 2557 ผมนำประสบการณ์มาบอกเล่ากันแต่เนิ่นๆ เพื่อผู้ที่สนใจจะได้เตรียมตัวได้ทัน และจะได้ไม่ประเมินคุณค่างานนี้เป็นเพียง “ทางผ่าน” อีกต่อไป