
นิยายรัก โกโบริแห่งขุนยวม
นิยายรัก โกโบริแห่งขุนยวม : ถิ่นไทยงาม
คนส่วนใหญ่ รับรู้เรื่องราวของทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย และแต่งงานกับสาวไทยคืออังศุมาลิน จากนวนิยายเรื่อง คู่กรรม ของทมยันตี ที่นำมาสร้างเป็นหนังและละครหลายต่อหลายครั้งและก็ทำให้คนดูน้ำตาท่วมจอทุกครั้งไป ฉากของเรื่องส่วนใหญ่ จะอยู่แถวบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จนอินกับเรื่องราวและเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง เพราะช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เคลื่อนทัพเข้ามาในประเทศไทยหลายจุด เพื่อใช้เป็นทางผ่านต่อไปยังพม่า มุ่งหน้าจะไปตีทัพอังกฤษ ที่อินเดีย
อนุสรณ์ของความโหดร้ายและความตาย มีทั้งสุสานทหารนานาชาติ และทางรถไฟสายมรณะ ที่จ.กาญจนบุรี ขณะเดียวกัน อนุสรณ์ของความเอื้ออาทร ฉันมิตร และเรื่องราวความรักระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทยเกิดขึ้นจริงๆ ที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
ทหารญี่ปุ่นตัดถนนจากบ้านแม่มาลัย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มุ่งไปถึงขุนยวม เพื่อตัดไปออกพม่าที่บ้านห้วยต้นนุ่น ข้ามแม่น้ำสาละวินก็จะไปบรรจบกับถนนที่ตัดมาจากย่างกุ้ง-ตองอู โดยปลายทางถนนเส้นนี้จะตรงไปประชิดชายแดนอินเดีย ถนนสายปาย-ขุนยวมใช้เวลาสร้างถึง 2 ปี เสร็จก็ตอนที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม แต่ระหว่างนั้นมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่นี่ กระทั่งรวบรวมจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ
ภายในพิพิธภัณฑ์ได้เก็บรวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยของทหารญี่ปุ่น ที่ได้จากชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงทหารผ่านศึกญี่ปุ่นที่ทราบข่าว ก็ได้นำข้าวของเครื่องใช้หลายชิ้นมามอบให้ โดยเฉพาะของชิ้นสำคัญ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร เขียนด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม ซึ่งได้พระราชทานแก่กองทัพญี่ปุ่น ว่ากันว่า ของจริงมีเพียง 5 ผืนเท่านั้น
นอกจากข้าวของเครื่องใช้ และอาวุธยุทธภัณฑ์ที่หาดูได้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ถ้าถามความรู้สึกและมุมมองของชาวขุนยวมที่มีต่อทหารญี่ปุ่น จะเห็นว่าต่างจากที่อื่นๆ มากนัก
ลุงจอริยะ อุประ ชาวขุนยวม ซึ่งดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ บอกเล่าเรื่องราวผ่านวีดิทัศน์ที่ฉายให้ดูในพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น ถึงความสัมพันธ์ที่มีตั้งแต่การค้าขาย การว่าจ้างแรงงานจนคุ้นเคย เอื้ออาทร ไปจนถึงการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ ช่วงที่ทหารญี่ปุ่นถูกโจมตี ก็ได้ใช้สถานที่ของ
วัดม่วยต่อ เป็นโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งมีอัฐิทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม บรรจุไว้ในโกศที่วัดนี้ด้วย และโรงพยาบาลสนามอีกแห่งอยู่ที่ วัดต่อแพ ที่อยู่ห่างออกไปราว 4 กม. ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่พักและรวมไม้ซุง พวกคนต่อแพพร้อมใจกันสร้างวัดขึ้น แล้วให้ชื่อว่าวัดต่อแพ ที่นี่จะมีวิหารแบบพม่า เจดีย์ทรงมอญ ส่วนภายในศาลาการเปรียญมีผ้าม่านเก่าแก่ประดับทับทิมอายุกว่า 150 ปี เป็นลวดลายพระเวชสันดรชาดก ทำในพม่า เก็บรักษาไว้ด้วย
ลงท้ายด้วยเรื่องราวความรัก ที่ทหารญี่ปุ่นได้มาแต่งงานอยู่กินกับสาวขุนยวมชื่อแก้ว ปัจจุบันแก่ชรามากแล้ว แต่นายทหารคนนี้ไม่ได้เสียชีวิตแบบโกโบริในนิยาย หากแต่ลงท้ายก็ต้องพลัดพราก เพราะถูกส่งตัวกลับเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม
ยายแก้ว ลงท้ายไว้เป็นข้อความในพิพิธภัณฑ์ฯ ว่า "สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าดูโหดร้าย แต่สำหรับคนไทยอย่างพวกฉัน สงครามคราวนี้เป็นความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนไทย ที่ฉันไม่เคยลืมเลือน"
เช่นเดียวกับโทโมโยชิ อิโนอุเอะ ชาวญี่ปุ่นที่ได้แต่งบทกวีไว้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2529 สะท้อนถึงมุมมอง ความคิด และความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างทหารญี่ปุ่นและคนไทย ไว้
แด่เพื่อน...ต่างแดน
เพื่อผืนปฐพี ชีวียอมพลี ไปสู่สงคราม
หวงห่วง มาตุคาม แม้ถูกจองจำ ไร้เสรี
ถูกคน ดูแคลนยากไร้ หากอบอุ่นด้วยใจ เมตตาจิต
40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่าง ในความทรงจำ
ความกรุณาที่มี ให้นั้น เกินขอบเขตกั้น ของภาษา
ใครเล่าจะลืม ความเมตตา จวบจนสิ้น ชีวาวาย
ยามเหงา เศร้าโศกทุกข์ทน อดทนเงยหน้ามอง ผืนฟ้า
ด้วยความทรงจำ ที่ยังตรึงตรา เห็นผืนฟ้า ดวงจันทร์ ส่องงาม
ไม่ว่าจะอยู่ ที่ไหน ญี่ปุ่นหรือไทย กันเล่า
ต่างผิวพรรณ ต่างเผ่า เราอยู่ใต้จันทร์เจ้า ดวงเดียวกัน
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น เปิดทุกวัน 08.00-17.00 น. (ปิดพักเที่ยง) โทร.0-5369-1117