
จองแล้วยังตกเครื่อง การบินไทย
15 ส.ค. 2557
เปิดซองส่องไทย : จองแล้วยังตกเครื่อง การบินไทย : โดย...ลุงแจ่ม
ดิฉันจองตั๋วเครื่องบินจากเว็บไซต์ของสายการบินไทย ThaiAirways ไปเชียงใหม่ เที่ยวบิน TG 102 เวลา 07.50 น. จ่ายเงินออกตั๋วเรียบร้อย มาถึงสนามบิน 07.00 น. จะเช็กอิน เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีที่นั่ง เหตุผลที่เจ้าหน้าที่บอกว่าที่ไม่มี เพราะ sales & marketing ขายตั๋วเกิน เฉพาะไฟลท์นี้เกินมา 17 ที่นั่ง
ดังนั้น ให้ดิฉันนั่งรอสแตนด์บายไฟลท์ถัดไป 10.50 น. แต่ดิฉันงง ไม่เคยเจอบริการแบบนี้ จึงไม่ยอมและยืนกดดันนานมาก ถามว่า จะรับผิดชอบยังไง
ดิฉันเข้าใจดีว่า ช่วงนี้ลองวีคเอ็นด์หยุดวันแม่ ได้หยุดติดต่อกัน รู้ดีว่าตั๋วเต็มหมดอยู่แล้ว เพราะมีการจองล่วงหน้ามาก่อน คือจำเป็นต้องไปทุกคน
พอถามว่า แบบนี้ ถ้าไปไฟลท์ถัดไป ก็ดันกันไปเรื่อยๆ หรือสตาฟฟ์ตอบว่า เป็นมาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ต้องรอไปเรื่อยๆ จนไฟลท์สุดท้ายก็แจกโรงแรม รอมาไฟลท์เช้าอีกวัน
นี่ขนาดดิฉันเป็นลูกค้าชั้นเลิศ มีบัตรโกลด์เมมเบอร์ ก็บอกว่าใช้ไม่ได้ แล้วจะมีบัตรทองไปเพื่ออะไร
สรุปว่า ออกตั๋วไฟลท์ 10.50 น. ให้อัพเกรดเป็น บิสิเนสคลาส+ ให้เงินปลอบใจคนละ 1,200 คือเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น แต่ระบบของคุณคืออะไร ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน ถ้าคนที่มีเรื่องคอขาดบาดตายต้องไปตามเวลาจะทำยังไง ใครจะรับผิดชอบ คุณเป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ แต่มีระบบการทำงานแบบนี้เหรอ
ไฟลท์กระบี่เวลาใกล้ๆ กัน ไฟลท์เต็มและเครื่องเสีย ตอนแรกเป็นลำใหญ่ เอาลำเล็กมาบินแทน ทำให้มีผู้โดยสารไม่ได้ไปอีกเพียบ ทำไมไม่ออก 2 ลำคะ
สมหญิง
ตอบ
คำตอบที่ว่า คนจองเกินนั่น เกี่ยวอะไรกับผู้โดยสารที่จองสายการบินนี้ ราคาที่ขายอยู่ก็ถือว่าแพงกว่าทุกสายการบินอยู่แล้ว น่าจะมีระบบการเตรียมงานของช่วงวันหยุดยาว เป็นไปไม่ได้ที่ระบบจะปล่อยให้ขายตั๋วเกินได้ มากจนจัดการไม่ได้ แล้วแก้ปัญหาโดยการโยนว่าอีกฝ่ายผิด สายการบินอีโคโนมีอื่นๆ บริการดีกว่า แล้วจะจ่ายแพงกว่าทำไม
ในการร้องเรียนครั้งนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสายการบินอีกมากมาย เช่น บางทีเห็นเป็นคนไทยก็บริการแย่ๆ หรือไม่ก็ต้องแกล้งพูดภาษาอังกฤษ จึงจะบริการดีขึ้น
ที่โดนบ่อยมาก ไฟลท์เต็ม อ้างว่ามาร์เก็ตติ้งขายตั๋วเกิน ทั้งการบินไทย ทั้งแอร์เอเชีย เคยรอ 6 ชั่วโมง เดินจนดิวตี้ฟรีพรุน
เป็นเรื่องปกติที่สายการบินจะขายตั๋วเกิน หรือ overbooked เพราะมีการเก็บสถิติว่า แต่ละไฟลท์จะมี no show ด้วย แต่กรณีนี้คือสายการบินโชคร้ายที่ไม่มีผู้โดยสาร no show ก็ต้องชดใช้ว่าจะรับผิดชอบผู้โดยสาร overbooked อย่างไร เพราะผู้โดยสารเองก็ซื้อตั๋ว confirmed มาแล้วด้วย ระบบนี้เป็นแทบทุกสายการบินทั่วโลก เพราะเป็นเรื่องของ revenue management
Thai smile ตั๋วขากลับ จองแล้ว มียกเลิกไฟลท์ เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งว่ามียกเลิก ดีว่า re-check ที่เคาน์เตอร์สนามบินเองจึงรู้ เคยโทรไปถาม โทรยากมาก ยกเลิกไฟลท์แล้วเปลี่ยนไปไฟลท์ก่อนหน้าก็ไม่แจ้ง ถ้าไม่เอะใจ ไปตามตั๋วเดิมก็ตกเครื่อง
เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่ทำได้ตามระเบียบ มีเพียงถ้าภายในประเทศก็รับค่าชดเชยเสียเวลาไป 1,200 ถ้าต่างประเทศก็รับไป 2,500 กราวด์บอกเป็นบ่อย โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ช่วงเทศกาล ให้สิทธิคนเช็กอินก่อน เคยโดนตอนไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์ เกือบตกไฟลท์ เพราะต้องไปต่อเครื่อง บอกเจ้าหน้าที่ว่าถ้าตกไฟลท์นี่ ทั้งทริปคนละ 150,000 ทั้งหมด 6 คน เจ้าหน้าที่ตอบว่าค่ะ ถ้าไม่สามารถหาไฟลท์ให้ไปทันได้จะรับผิดชอบทั้งทริป
ตอบแบบนี้แสดงว่าเคยมาแล้ว เงินเกือบล้าน แต่สุดท้ายได้ตั๋ว สงสารคนที่ทริปเราไปแย่งที่เขามา
คำตอบที่ได้ ถามเจ้าหน้าที่ตรงๆ ได้ข้อสรุป 2 ข้อ สาเหตุที่จองเกิน
1.Overbook ตามหลักการตลาด ดังนั้น ผู้โดยสารต้องมาเร็ว
2.ผู้มีอำนาจแทรกตั๋ว
สรุปว่า ช่วงเทศกาลต้องไปให้เร็วเท่านั้น ไม่งั้นโอกาสตกเครื่องสูงมาก โกลด์เมมเบอร์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทุกคนที่ไปก็โกลด์ ตกเครื่องโดยพร้อมเพรียงกัน
ลุงแจ่ม
สามี(ตัวดี)ทิ้งหนี้ไว้ให้
ดิฉันมีเรื่องอยากจะทราบค่ะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสามีค่ะ คือ เราแต่งงานกัน มีลูกด้วยกันหนึ่งคนค่ะ และสามีได้เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบ รวมแล้วประมาณ 2 ล้านบาท หลังจากแต่งงานกันอยู่ด้วยกันไมได้ ก็เลยได้จดทะเบียนหย่ากัน เมื่อปี 56 หลังจากนั้น ผ่านไปอีกประมาณ 6 เดือน สามีก็เสียชีวิต แต่ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตด้วยกัน สามีไม่เคยรับผิดชอบในตัวดิฉันและลูกเลย ดิฉันต้องดูแลตัวเอง พร้อมกับทำงานเลี้ยงลูกด้วยอีกหนึ่งคน ซึ่งในที่สุดทนไม่ไหว จึงได้ขอหย่า
เมื่อสามีเสียชีวิต ก็ทำให้ดิฉันไม่ค่อยมั่นใจว่า จะต้องใช้หนี้แทนสามีไหม อยากทราบว่า ถ้าดิฉันจะซื้อบ้านโดยเป็นการกู้ร่วม และเงินออมที่ฝากไว้กับธนาคาร ทางเจ้าหนี้บัตรเครดิตทั้งหลาย มีสิทธิที่จะฟ้องร้องได้หรือไม่
ส่วนข้อที่สองคือ โดยปกติแล้วอายุความด้านบัตรเครดิตมีอายุความกี่ปีคะ
โดยส่วนตัวแล้ว เราไม่มีทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถ และหนี้ที่สามีสร้างขึ้นตัวดิฉันเองมิเคยมีส่วนได้เสียหรือรับรู้ด้วย อีกทั้งโดยตลอดที่ผ่านมาสามีก็ไม่เคยรับผิดชอบใดๆ
อนงค์
ตอบ
ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำเรื่องนี้ว่า จากข้อมูลที่ให้มา สามีและคุณได้หย่าขาดจากกันแล้ว และตามกฎหมายแล้ว หนี้ของใครคคนนั้นต้องชำระเอง ดังนั้น การที่สามีของคุณสร้างหนี้ขึ้นมา และคุณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในหนี้นั้นด้วย สามีก็ต้องรับผิดชอบไปเอง และกรณีที่สามีเสียชีวิตไปแล้ว ถ้าตามหลักความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่หนี้จะสูญ ถ้าสามีไม่มีมรดกให้ตามทวงหนี้ เจ้าหนี้ก็คงไม่รู้ว่า จะไปทวงหนี้ได้ที่ใคร
ดังนั้น กรณีนี้ คุณจึงไม่ต้องกังวลใจเรื่องที่กลัวว่า เจ้าหนี้จะตามมาทวงหนี้เอากับคุณ เพราะในทางกฎหมายแล้ว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะมาทวงเอากับคุณ เนื่องจากคุณและสามีไม่ได้เกี่ยวข้องกันแล้ว และ คุณกับสามีก็ไม่มีทรัพย์สินร่วมกัน ที่เจ้าหนี้จะมาตามทวงได้ด้วย หรือ ถึงแม้สามีมีทรัพย์สินอยู่ และเมื่อเสียชีวิตจะกลายเป็นมรดก เจ้าหนี้ก็จะตามทวงได้เฉพาะในส่วนที่เป็นของสามีเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณ
ด้วยเหตุนี้ คุณจึงสบายใจได้ หนี้ของสามีไม่เกี่ยวอะไรกับคุณ ส่วนเรื่องของอายุความนั้น ถ้าเป็นบัตรเครดิตมีอายุ 2 ปี หลังจากนั้นแล้วก็หมดอายุความ
ลุงแจ่ม