ไลฟ์สไตล์

พ่อจน..แนะเคล็ดลับ‘สอนลูกเรียนเก่ง’

พ่อจน..แนะเคล็ดลับ‘สอนลูกเรียนเก่ง’

24 ส.ค. 2557

อมหมึก-เคี้ยวกระดาษ : พ่อจน..แนะเคล็ดลับ ‘สอนลูกเรียนเก่ง’ : [email protected]

 
                    เมื่อเห็นสถิติที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่งบุตรหลานเรียนกวดวิชาอย่างต่ำเดือนละ 3,000 บาทต่อคน สูงสุดถึง 80,000 บาทต่อปี เห็นจำนวนเงินแล้วก็เหนื่อยแทน
 
                    แล้วหากครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่อยากให้ลูกเรียนเก่งละ จะทำอย่างไร? อาทิตย์สดใส ไม่ต้องไปถึงแดนกิมจิ เพราะ ฮันฮีซ็อก (Han Hee-Seok) เจ้าของหนังสือที่บรรจุเคล็ดลับดีๆ “พ่อจนสอนลูกเรียนเก่ง” นานมีบุ๊คส์นำมาพิมพ์เป็นในฉบับภาษาไทย ให้เรียนรู้วิธีการง่ายๆ ที่เริ่มจากตัวพ่อแม่มาฝากกัน
 
 
                    ฮันฮีซ็อก ยอดคุณพ่อคนนี้ มีภรรยา 1 ลูก 3 เขาเป็นนักเขียนนิยายอิสระ มีรายได้ไม่แน่นอน บางครั้งก็ต้องรับเหมาก่อสร้างงานไม้ งานอิฐ แต่ก็ฮึดสู้ หาวิธีฝึกสอนลูกให้มุ่งมั่นในการเรียนอย่างมีระบบ แบบไม่ต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชา เพราะไม่มีเงิน
 
                    ทำได้จริงมาแล้วในตลอด 10 ปี ที่พยายามเป็น “โค้ชการเรียนของลูก” จนกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีมอบรางวัล “ต้นแบบการฝึกสอนลูกให้เก่งโดยไม่ต้องเรียนกวดวิชา” กับผลลัพธ์ที่ดีเหลือเชื่อ จากลูกสาวที่เคย “เกือบที่โหล่” กลายเป็น “ที่ 1” ของโรงเรียนติดต่อกันตั้งแต่ ม.3-ม.6 และสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐติด แบบไม่เสียเงินกวดวิชาสักบาทเดียว
 
                    มาดูเคล็ดไม่ลับของสุดยอดโค้ชคุณพ่ออาทิ ทำตัวกลมกลืนกับลูกๆ พูดภาษาเดียวกันกินเหมือนกัน อีกทั้งเรียนรู้รสนิยม พฤติกรรมการพูดจาของลูกและเพื่อนๆ ไว้บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในครอบครัว, พาลูกไปเปิดหูเปิดตาเข้าชมนิทรรศการหรือกิจกรรมฟรีๆ เช่น งานแสดงภาพวาด นิทรรศการศิลปะต่างๆ ละครเวที งานแสดงดนตรี ที่ให้เข้าชมฟรี เป็นต้น
 
                    สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ทางศิลปะ พัฒนาสมองและจิตใจลูกๆ ทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล, ตัดบทความจากหนังสือพิมพ์สั้นๆ อ่านจบภายใน 5 นาที วันละ 1 บทความหรือเลือกคอลัมน์ที่เหมาะสมกับลูก
 
                    สำหรับโทรทัศน์ ควรเลือกให้ดูเฉพาะรายการที่มีประโยชน์ เช่น สารคดี เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ลูกๆ, ควบคุมบรรยากาศภายในบ้านเช่น เมื่อใกล้วันสอบ ทุกคนในบ้านงดดูทีวีโดยเด็ดขาด เป็นเวลา 20 วัน
 
                    ไม่เฉพาะลูกเท่านั้น แต่ทั้งพ่อแม่หรือพี่น้องก็ห้ามดูเช่นกัน เพราะความสามัคคีของคนในครอบครัว ลูกจะไม่รู้สึกเคว้งคว้างที่ต้องทำอยู่คนเดียว
 
                    พ่อแม่หมั่นเข้าร่วมฟังสัมมนาแนะแนวการศึกษาของลูก เพื่อเก็บข้อมูล และเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือลูกๆ ในการสอบเข้าเรียนต่อ, ยืมหนังสือวรรณกรรมจากห้องสมุดให้ลูกอ่าน พัฒนาทักษะทางด้านภาษา คิดวิเคราะห์จับใจความสำคัญ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการเรียน
 
                    เมื่อลูกทำสิ่งใดได้สำเร็จ พ่อแม่ต้องรู้จักชมเชยอย่างเหมาะสมและถูกจังหวะ ไม่เน้นจำนวนครั้ง แต่ใส่ใจทุกคำพูด และสุดท้ายพ่อแม่อย่าไปเร่งเด็กๆ ปล่อยให้พวกเขารักษาระดับการวิ่งของตนเองต่อไป คอยเป็นกำลังใจ ช่วยเหลืออยู่ข้างๆ จะดีกว่า จงจำไว้ว่า “การเรียนคือหน้าที่ของลูก ส่วนหน้าที่ของพ่อแม่คือสนับสนุน”!
 
                    คุณพ่อฮันฮีซ็อก เปิดใจว่า นอกจากจะทำหน้าที่พ่อแล้ว ยังเป็นโค้ชการเรียนให้ลูกทุกคน
 
                    “การจะบรรลุความสำเร็จในฐานะโค้ชการเรียน ผมต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกขัดแย้ง ต่อต้าน ผมก้าวเข้าไปในโลกของเขา ทำความเข้าใจอย่างละเอียด มีความรู้สึกร่วมไปกับลูก ความเข้าใจซึ่งกันและกันย่อมทำให้พ่อแม่ ลูก กล้าคุยเปิดอกกัน”
 
                    มาถึงผู้บริหารสาวโสดสวย คิม จงสถิตย์วัฒนา แห่งนานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า แต่ละครอบครัวก็มีกำลังทรัพย์ส่งเสริมการเรียนของลูกได้ต่างกัน บางบ้านพร้อมตั้งแต่ลูกยังไม่เกิด บางบ้านยากจนมาก ลูกได้เรียนไม่ครบทุกคน
 
                    “แต่ถึงได้เรียนฟรีอย่างไรก็ยังมีค่าใช้จ่ายเราจึงภูมิใจที่จัดพิมพ์หนังสือพ่อจนสอนลูกเรียนเก่ง ให้พ่อแม่และผู้ปกครองได้แนวคิดดีๆจากในเล่มไปปรับใช้กับลูกหลาน จนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นต้นแบบที่ยืนยันได้ว่าไม่ต้องกวดวิชาก็เรียนเก่งได้”
 
                    หนังสือเล่มนี้จะปลุกแรงบันดาลใจให้ทุกครอบครัวมีหนทางออกสว่างไสว แม้ไม่ต้องส่งลูกเรียนกวดวิชาเหมือนใครๆ ก็ยังเรียนเก่งเป็นที่ 1 ได้ ซึ่งเป็นต้นแบบที่ยืนยันได้ว่า
 
                    ไม่ต้องกวดวิชาก็เรียนเก่งได้ ด้วยความเอาใจใส่ทุ่มกายทุ่มใจของพ่อแม่นี่เอง!!