
ผ้าไหมทอมือ 'บ้านนกยูงทอง' เครือข่ายดีเด่นศูนย์เกษตรภูสิงห์
27 ส.ค. 2557
ทำมาหากิน : ผ้าไหมทอมือ 'บ้านนกยูงทอง' เครือข่ายดีเด่นศูนย์เกษตรภูสิงห์ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
แม้อาชีพหลักทำนา แต่ชาวบ้านนกยูงทอง ต.ห้วยติ๊กชู อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ก็มีอาชีพเสริมด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมทอมือ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด การันตีด้วยรางวัลโอท็อประดับ 5 ดาว เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชื่นชอบสวมใส่ผ้าไหมไทย
ผ้าไหมบ้านนกยูงทองเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังสมาชิกกลุ่มได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมราษฎรที่อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยสมาชิกกลุ่มได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไปทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ทรงรับไว้เป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จากนั้นสมาชิกกลุ่มได้นำผ้าไหมไปทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งเมื่อพระองค์เสด็จฯ ที่บ้านวนาสวรรค์ หมู่ 5 ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ก่อนที่จะรับเข้ามาอยู่ในเครือข่ายของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมบ้านยูงทอง ประกอบด้วย ผ้าไหมสีพื้นเรียบ ผ้าหมัดหมี่ และผ้าโสร่ง ซึ่งเป็นผ้าไหมที่สมาชิกใช้กี่ทอมือได้ผ้าละเอียด มีสีสันสวยงาม ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นได้มาจากสีธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์
"ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำนา ควบคู่ไปกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จะเห็นว่าเกือบทุกบ้านจะมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ทำกันมานานได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เพียงแต่สมัยก่อนจะทำใช้เองในครอบครัว ไม่ได้คิดทำเพื่อขายเหมือนปัจจุบัน"
กนกวรรณ เหมือนสวรรค์ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนกยูงทอง แห่งต.ห้วยติ๊กชู อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ย้อนอดีตที่มาอาชีพการผลิตผ้าไหมของชาวบ้านในต.ห้วยติ๊กชู ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือสามารถทำรายได้ให้แก่สมาชิกเฉลี่ยเดือนละ 4,000-6,000 บาท และสามารถเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทุกชิ้นใช้สีจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากเปลือกกระโหดและแก่นเขร้ สีน้ำเงินจากคราม
"จุดเด่นผ้าไหมของกลุ่มคือใช้สีจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วสาวด้วยมือ กี่ทอมือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม จะไม่ใช้กี่กระตุก ทำให้มีความละเอียดประณีต มีลวดลายสวยงาม แต่มีข้อด้อยแต่ละผืนจะต้องใช้ระยะเวลาในการทอนาน ปัจจุบันมีลายที่ได้รับความสนใจได้แก่ ลายมัดหมี่ ลายไทยและลายโบราณ ส่วนราคาจำหน่ายเริ่มตั้งแต่ตารางเมตรละ 800 ถึง 2,000 บาท"
ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนกยูงทองกล่าวถึงตลาดผ้าไหมว่า ไม่มีปัญหา เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ผลิตขึ้นมาจะส่งจำหน่ายให้ศูนย์ศิลปาชีพ นอกจากนี้ยังจำหน่ายในพื้นที่และออกบูธตามงานต่างๆ ทั้งในจังหวัดและงานโอท็อปที่กรุงเทพมหานคร สำหรับวัสดุอุปกรณ์ในการทอนั้นประกอบด้วย กี่ทอมือหรือกระสวย ฟืม ขนาด 40-60 หน้ากว้าง 1.05 เมตร เครื่องปั่นด้าย เส้นไหมเลี้ยงเอง หลอดด้าย เครื่องข้นด้าย
ส่วนขั้นตอนการผลิตนั้นเริ่มจากฟอกเส้นไหมด้วยผงฟอกไหม จากนั้นย้อมสีเส้นไหม กวักไหม แล้วข้นเส้นไหม ก่อนจะสืบไหมเข้ากับฟืมแล้วก็ทอผ้ากับกี่ทอด้วยมือ จากนั้น ตัดผ้าจากฟืมออกเป็นผืนตามความต้องการ ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะใช้ระยะเวลาในการทอต่างกันขึ้นอยู่กับความชำนาญ แต่โดยเฉลี่ยผ้าไหมยาว 1 เมตรจะใช้เวลาทอประมาณ 2-3 วัน
"ส่วนใหญ่จะซื้อผ้าผืนยาว 2-4 เมตร เพราะถ้า 2 เมตรจะตัดเสื้อได้ 1 ตัว แต่ถ้า 4 เมตรก็จะตัดได้ 1 ชุด เสื้อและผ้าถุง แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อไปตัดชุดมากกว่าตัดเฉพาะเสื้อหรือผ้าถุงอย่างเดียว" กนกวรรณกล่าวย้ำ
ผ้าไหมทอมือ ฝีมือสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนกยูงทอง โดยการสนับสนุนของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นอีกผลิตภัณฑ์เด่นที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จ.ศรีสะเกษจากอดีตจนปัจจุบัน สนใจผลิตภัณฑ์โทร.08-5028-1829 ได้ตลอดเวลา
------------------------
(ทำมาหากิน : ผ้าไหมทอมือ 'บ้านนกยูงทอง' เครือข่ายดีเด่นศูนย์เกษตรภูสิงห์ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)