ไลฟ์สไตล์

ฝากไว้บนทางศิลป์80ปี ทวี รัชนีกร

ฝากไว้บนทางศิลป์80ปี ทวี รัชนีกร

04 ก.ย. 2557

ศิลปวัฒนธรรม : ฝากไว้บนทางศิลป์ 80 ปี ทวี รัชนีกร

 
                    "วิถีไทยแบบ หัวหก ก้นขวิด" อีกหนึ่งชื่อไทยๆ ของนิทรรศการศิลปะที่คนหัวใจศิลป์ภายใต้รูปลักษณ์หนวดเครายาวถือไม้เท้าคู่ใจ ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปั้นแต่งขึ้นจากมุมมองส่วนตัวอันสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอด 80 ปีที่เขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะ เนื้อหลักๆ ปกคลุมไปด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต การประชดประชัน อีกทั้งวิถีการเมืองอันยุ่งเหยิงในช่วงวิกฤติที่คนในชาติพยายามควานหาทางออก ทั้งหมดนี้เล่าเรื่องอย่างเข้มข้นภายในนิทรรศการที่จบลงไปแล้วบริเวณโถงแสดงนิทรรศการ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
 
                    ศิลปินชั้นครูอันมีทางศิลป์เฉพาะตัว เผยจากใจว่า ในโอกาสเดินทางมายาวนานถึง 80 ปีว่า ได้เอาพลังชีวิตมาให้คนดู เอาสุนทรียภาพมานำเสนอ เพราะมนุษย์จะเป็นมนุษย์ได้ ไม่ใช่แค่ดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น ต้องมีสัจจะ ธรรมะ และสุนทรียะ นั่นคือความจริง ความดี ความงาม เป็นแก่นแท้ของชีวิต ต่างจากสัตว์ที่มีเพียงสัญชาตญาณ ดังนั้นจึงต้องดำรงชีวิตให้อยู่ได้ แต่ต้องตั้งคำถามให้ตัวเองว่าอยู่เพื่ออะไร
 
                    "เราต้องแสดงคุณค่าของมนุษย์ตลอดชีวิต มนุษย์ไม่ใช่แค่กิน นอน สืบพันธุ์ หรือแสวงหาทรัพย์เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น ต้องแสวงหาคุณธรรมด้วย ทั่วโลกคิดได้นานแล้ว แต่เรายังหลงอยู่ในวังวน สุดท้ายกลายเป็นประเทศที่ไร้สาระ สำหรับผมหัวหกก้นขวิดมาตลอดชีวิต เคยเข้าคุกเข้าตารางมาแล้ว เหมือนบ้านเมืองเราที่หัวหกก้นขวิดเพราะไปไม่ถูก เสรีภาพไปยังไง เรื่องศาสนา ศิลปะ การศึกษา การพัฒนาประเทศไปอย่างไร ไม่มีใครตอบได้" เจ้าของนิทรรศการชื่อแปลก กล่าว
 
                    หากนับจำนวนชิ้นงานที่เขาบรรจงสร้างสรรค์มาตลอดชีวิตคงไม่ถ้วน เจ้าตัวจึงเลือกมาเพียง 300 ชิ้นเพื่อสื่อสารกับคนดู อย่างผลงานสะท้อนความเห็นแก่ได้ของมนุษย์ชื่อ "ป่าตาย คนตาย" ศิลปินยอมรับว่าทนเห็นความไม่ถูกต้องไม่ได้ ตั้งแต่การสร้างเขื่อนแล้วไปทำลายแม่มูล ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งผลงานลักษณะนี้ยังมีอีกหลายชิ้น แต่ไม่อาจนำมาจัดแสดงได้ทั้งหมด แต่ละเส้นสีต้องการบอกว่าตัวเองคลุกคลีตีโมงกับนักอนุรักษ์ป่าจนสามารถเห็นปัญหาที่รุนแรง เหนืออื่นใดแรงบันดาลใจมาจากความศรัทธาในตัว สืบ นาคเสถียร นักอนุรักษ์ในตำนาน ซึ่งถ้าไม่มีการต่อต้านกลุ่มคนทำลายป่าก็เหมือนเป็นการยอมให้ถูกตัดหัวเสียบประจาน
 
                    สังเกตให้ดีสไตล์การทำงานของ อ.ทวี เน้นการสื่อความหมายให้แรง โดยเฉพาะในส่วนของจิตรกรรมให้อารมณ์รุงแรงมาก ศิลปินจึงต้องลดทอนความร้อนลงด้วยศิลปะเชิงสามมิติอย่างประติมากรรม อาจเพราะตัวเขาเองเป็นผู้บุกเบิกหัตถกรรมดินเผ่าด่านเกวียนด้วย จึงอยากสร้างสรรค์ออกมาให้มีหลากหลายมุมมอง พร้อมหยิบจับวัสดุใกล้ตัวมาทำชนิดที่ไม่ต้องให้พิสดารก็สามารถความหมายออกมาได้ลึกซึ้ง
 
                    และในความเป็น ทวี รัชนีกร หากไม่มีงานชิ้นขนาดใหญ่หลายเมตรก็ดูเหมือนจะขาดความสมบูรณ์ จึงได้เห็นภาพวาดแนวล้อการเมืองขนาดยักษ์ เด่นสะดุดตาเชิญชวนให้ก้าวเท้าเข้าไปพินิจวิเคราะห์ใกล้ๆ โดยศิลปินชั้นครูอธิบายว่า ภาพนี้สร้างสรรค์ขึ้นขณะเกิดวิกฤติการเมืองครั้งสำคัญเมื่อ 2-3 ปีก่อน ภายใต้สีสันดุเดือดสะท้อนว่าผู้คนที่รับกรรมที่สุด หรือ "เหยื่อการเมือง" คือผู้เดินขบวนชุมนุม ผิดจากนักการเมืองหรือนักธุรกิจผู้ได้รับผลประโยชน์ที่ไม่เดือดร้อนอะไรเลย
 
                    "ภาพนี้ผมเขียนก่อนที่เขาจะฆ่ากันนะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ผมเกลียดมากนะคนที่ฆ่าฟันกัน ผมจะหยุดเขียนเลย ผมสงสาร ไม่ชอบ ผมชอบสันติภาพ แต่นี่ผมรู้ว่าในที่สุดพวกเขาต้องมีจุดจบอย่างไร ผมวางจุดยืนให้ตัวเองเกี่ยวกับการเมืองว่า งานศิลปะไม่มีเป้าหมาย แต่เป็นกระบวนการทำงาน กระบวนการทางศิลปะ หรือศิลปินที่ทำงานศิลปะก็ทำไปเรื่อยๆ อะไรมากระทบก็ทำ บางครั้งอยากกระทบธรรมะก็ทำ อย่างงานหลายชิ้นก็เกี่ยวกับการปลง" เจ้าของผลงาน บอกพร้อมกับเสริมว่าบนถนนสายนี้ถ้าเคยเห็นภาพของปีกัสโซ่ ที่วาดคนออกมาทำตาลุกโพลง ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเห็นแล้วอยากทำงานศิลปะออกมามากๆ เช่นเดียวกับตัวเองอายุ 80 ปีแล้วยังอยากทำอะไรอีกมากหากไม่ตายเสียก่อน
 
                    "ไมเคิล แองเจโล่ บอกว่า ศิลปะมีแต่หัวไม่มีหาง จนเดียวนี้ก็ยังไม่จบ ถ้าผมตายงานก็ยังค้างอยู่ ถ้าใครเห็นมีค่าก็สืบต่อไป ฉะนั้นจึงต้องมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเมืองไทย ผมเริ่มทำงานศิลปะมาหลายทศวรรษ ถ้ามีสถานที่เก็บสำหรับให้คนได้เรียนรู้เหมือนต่างประเทศเราก็จะพัฒนาไปได้ แต่เมืองไทยปัจจุบันเราไปไม่ถูกเหมือนหัวหกก้นขวิด เมืองไทยถือว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเลย อย่างของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล ก็เป็นส่วนตัว ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของผมที่นครราชสีมามีคนไปดูกันเยอะ คนหิวกระหายศิลปะ" ศิลปินวัยไม้ใกล้ฝั่ง สะท้อนมุมมอง
 
                    ท้ายสุดแล้ว อ.ทวี บอกว่าทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะ เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที จะเดินตาม ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่จริงจังและอุทิศชีวิตเพื่อศิลปะ พร้อมกับฝากถึงศิลปินรุ่นเยาว์ว่า ถ้าเชื่อมั่นว่าอยากเป็นศิลปิน รักศิลปะ จงทุ่มเท ฟันฝ่าความยากลำบากให้ได้ อย่าคิดว่าเป็นศิลปินแล้วจะรวย ไม่จนก็บุญแล้ว...