ไลฟ์สไตล์

ยกย่อง‘ถวัลย์ ดัชนี’อัจฉริยศิลปินแห่งสยาม

ยกย่อง‘ถวัลย์ ดัชนี’อัจฉริยศิลปินแห่งสยาม

04 ก.ย. 2557

บุคคลสำคัญ-ศิลปินร่วมรดน้ำศพ 'ถวัลย์ ดัชนี' แน่นวัด ลูกชายคนเดียวประกาศสืบทอดอนุรักษ์บ้านดำ ด้านเพื่อนศิลปินยกย่องเป็น 'อัจฉริยศิลปินแห่งสยาม ปราชญ์แห่งยุคสมัย'

             หลังจากวงการศิลปะไทยต้องสูญเสียบุคลากรที่มีชื่อเสียงระดับตำนาน นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2544 ด้วยโรคตับวาย สิริอายุ 74 ปี 11 เดือน เมื่อเวลา 02.15 น.ของวันที่ 3 ก.ย. ที่ โรงพยาบาลรามคำแหง สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่เหล่าญาติมิตรตลอดจนบุคลากรในวงการศิลปะทั้งในและต่างประเทศนั้น

             เมื่อวันที่ 4 ก.ย. เวลา 09.30 น. นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ลูกชาย คนเดียวของ นายถวัลย์ พร้อมด้วยญาติ และเหล่าบรรดาศิลปิน และศิษย์สาขาทัศนศิลป์ ร่วมกันเคลื่อนศพ นายถวัลย์ ออกจากโรงพยาบาลรามคำแหง ไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งบริเวณด้านหน้าของที่ตั้งภาพนายถวัลย์ ได้มีการประดับต้นไม้นานาพันธุ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า อีกทั้งมีการประดับดอกกล้วยไม้สีขาวปักไขว้ เรียงเป็นแนวยาว และแทรกดอกบานไม่รู้โรยสีม่วงไว้ด้านข้าง 2 ด้าน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของ เขาวัวเท็กซัส ลองฮอร์น สัตว์ป่าหายากในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ นายถวัลย์ มีความชื่นชอบและเก็บสะสมไว้จำนวนมาก ขณะที่ฐานที่ตั้งรดน้ำศพประดับดอก บัวสวรรค์ สื่อถึงการร่วมส่งนายถวัลย์ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ โดยผู้ร่วมงาน ทยอยเดินทางมาร่วมรดน้ำศพทามกลางบรรยากาศความโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ

             ขณะที่บุคคลสำคัญๆในวงการศิลปวัฒนธรรม และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานกันเเป็นจำนวนมาก อาทิ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสนธยา และ นางสุกุมล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัด วธ. นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อดีตปลัดวธ. นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายบุญชัย และ นางบงกช เบญจรงคกุล รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ อาทิ นายประหยัด พงษ์ดำ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นายกมล ทัศนาญชลี นายเดชา วราชุน นายช่วง มูลพินิจ นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา นายสุเทพ วงศ์คำแหง นายยืนยง โอภากุล เป็นต้น

             นายดอยธิเบศร์ กล่าวว่า แม้ว่าพ่อได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่สำหรับตน คิดเสมอว่า พ่อไม่ได้ไปไหน ยังอยู่กับตนทุกลมหายใจ ทุกเวลา สิ่งที่ได้เห็นทุกคนที่มาร่วมอาลัยพ่อ ทำให้รู้ว่าทุกคนรักพ่อ จึงขอขอบคุณแทนพ่อ หลังจากนี้ ตนจะสานต่อในการดูแล และอนุรักษ์บ้านดำ จ.เชียงราย นอกจากนี้ ตนยังมีโปรเจคงานศิลป์ ที่ร่วมคิดกับพ่อ ก่อนที่พ่อจะจากไปเพื่อนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปทำบุญ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงสิ้นปี 2557

             พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ( ว วชิรเมธี) พระนักเทศชื่อดังชาวจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในคืนก่อนที่อาจารย์ถวัลย์จะสิ้น อาตมาว่าเจดีย์ล้ม ตื่นขึ้นมาอาตมาก็ตกใจมากว่านี่เป็นฝันที่น่าสะพรึง เจดีย์คืออะไร อาตมานั่งถามตัวเอง วันรุ่งขึ้นก็ได้ทราบข่าวว่าอาจารย์ถวัลสิ้น นี่อาจเป็นสิ่งที่ธรรมชาติส่งผ่านเรามาต้องการบอกว่าเราได้สูญเสียผู้ที่เป็นดังหนึ่งเจดีย์ทางศิลปะคนสำคัญของไทยไปแล้ว โดยส่วนตัวถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดเชียงราย ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่เอาพุทธธรรมมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ และทำได้อย่างหลุ่มลึกผลงานเป็นที่ต้องตาต้องใจระดับโลก เพราะเบื้องหลังของเส้นสีทีแปรงนั้นมีพุทธปรัชญาแทรกอยู่ โดยส่วนตัวเมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ถวัลย์แต่ละครั้งจะถกถึงพุทธธรรมขั้นลึกซึ้ง ท่านเป็นคนที่มีความจำดีมาก โดยเฉพาะวรรณคดี วรรณกรรมชิ้นเอกของไทย กวีนิพนธ์ต่างๆตั้งแต่สมัยกำสรวลสมุทร โครงของศรีปราชญ์ นิราศต่างๆ กลอนของสุนทรภู่ แม้กระทั้งลิลิตพระลออันเก่าแก่ ท่านอาจารย์ถวัลย์สามารถว่ากลอนสดๆให้ฟังได้ทั้งหมด นับเป็นหนึ่งของไทยและของชาวเชียงราย

             นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ในช่วงที่ตนได้รับโทรศัพท์ แจ้งข่าว ว่า นายถวัลย์ เสียชีวิตแล้วนั้น ตนมีความรู้สึกว่า ได้เห็นภาพหน้า นายถวัลย์ ปรากฏลอยอยู่ ด้านหน้าของตน ซึ่งคิดว่า เป็นการมาบอกกล่าวถึงช่วงชีวิตบนโลกใบนี้เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งตนยอมรับว่า เสียใจอย่างที่สุด เพราะท่านเป็นรุ่นพี่ที่ โรงเรียนเพาะช่าง จึงทำให้ตลอดระยะเวลา กว่า 50 ปี เราทั้งสองคน เป็นทั้งพี่และเพื่อนคู่คิดได้พบและเผชิญสิ่งต่างๆมาด้วยกัน แม้ว่า นายถวัลย์จะเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ แต่ท่านเป็นผู้ถ่อมตน และแบบอย่างที่ดีให้กับศิลปินรุ่นน้องได้ดำเนินรอยตาม ทั้งในด้านการใช้ชีวิตที่ เรียบง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก ไม่ยึดติดกับโลกสมัยใหม่ ไม่มีโทรศัพท์ใช้ มีของสะสมที่ชื่นชอบ คือ หนังสัตว์ และเขาสัตว์ เท่านั้น ส่วนอุปกรณ์การวาดภาพ ก็มีเพียง แปรง กับพู่กัน เพียงไม่กี่อัน แต่การทำงานของท่าน ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยศิลปินแห่งสยาม ปราชญ์แห่งยุคสมัย

             นายกมล กล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งสุดท้าย ที่เราได้มีโอกาส ไปสู่ความตั้งใจของนายถวัลย์ก็คือ การได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ นายถวัลย์ ได้รับรางวัลศิลปินเอเชียที่สร้างสรรค์ผลงานระดับโลก ทั้งยังมีภาพผลงานจัดแสดงไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายถวัลย์ พูดและฝากไว้เสมอ คือ อยากให้ประเทศไทย ได้สร้างศิลปินรุ่นใหม่ๆขึ้นมา โดยเริ่มจากการบ่มเพาะเยาวชนของชาติ อีกทั้ง ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาด้านศิลปะ แก่เด็ก ๆ ที่มีความสามารถ และมีความตั้งใจ เพื่อไปศึกษาทั้งในและต่างประเทศ กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดินเกิด ขณะเดียวกัน ท่านยังสร้างสรรค์ภาพเขียน ไว้ 1 ชุด เมื่อต้นปี 2557 เมื่อครั้งเดินทางไปยังนครลอสเองเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยตั้งใจนำเงินรายได้จากการขายภาพชุดดังกล่าว จำนวน 1 ล้านดอลล่า ไปสร้างศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทย ภายในวัดไทยในลอสเองเจลิส ด้วย แม้วันนี้ตนขาดคู่คิดไปอีกคน แต่พวกเราศิลปินแห่งชาติ จะร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ ของท่านในการสร้างบุคลากรทางศิลปะต่อไป

             นายเดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ มีความศรัทธานายถวัลย์ เพราะท่านทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี มีจิตสาธารณะ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ไม่ยึดติดลาภยศเงินทอง อีกทั้งเป็นผู้มีอัฉริยะด้านความจำ มีความรอบรู้ทั้งในเรื่องงานศิลปะ การใช้ภาษา มีพรสวรรค์พิเศษเรื่องวิธีคิดและนำความรู้ที่ได้จากการจดจำจากการศึกษาด้วยตนเอง และจากการอ่านหนังสือ มาถ่ายทอดให้รุ่นน้องๆ ซึ่งหาผู้เปรียบได้ยาก จึงน่าจะมีการถอดองค์ความรู้ ในสิ่งที่ท่านได้ถ่ายทอดออกมาทั้งหมด บันทึกเป็นสมบัติแผ่นดิน ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และนำไปใช้เป็นต้นแบบ นอกจากนี้ สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ ท่านเป็นผู้มีอัจฉริยะด้านงานศิลปะ โดยได้ศึกษาตั้งแต่รากเหง้าของความถูกต้องมาก่อน มีความเชี่ยวชาญในการเขียนอย่างละเอียด จึงทำให้เห็นว่า กว่าจะมาเป็น ถวัลย์ ดัชนี วันนี้ ได้ผ่านการเรียนรู้ และฝึกฝนมามาก และก็ไม่มีใครสามารถเลียนแบบวิธีการเขียนท่านได้ ทำให้งานของนายถวัลย์มีทั้งคุณค่า และคุณภาพระดับโลก เรียกได้ว่า เป็นอภิมหาศิลปินอย่างแท้จริง

             นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า สวธ. จะมีการรวยรวมองค์ความรู้ และเทคนิคการสร้างสรรค์งานศิลปะ ของ นายถวัลย์ จากการที่อาจารย์ได้ร่วมโครงการ ถ่ายทอดงานศิลป์ กับศิลปินแห่งชาติ และโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร โดยจะนำมาจัดทำเป็นรูปเล่ม ให้เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นต้นแบบ แก่เด็กและเยาวชน นอกจากนี้ จะนำวีดีโอบันทึกการบรรยายของ อาจารย์ มาผลิตเป็นดีวีดี และนำมาเผยแพร่ด้วย ในส่วนหออัครศิลปิน ที่มีการจัดแสดง อัตชีวิตของศิลปินแห่งชาติ ในส่วนอาจารย์ถวัลย์จะจัดใส่องค์ความรู้เพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชม และหลังจากเสร็จสิ้นงานศพแล้ว ทาง สวธ. จะนัดหารือกับทายาท ในการจัดการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่ง สวธ. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานทุกเรื่อง