ไลฟ์สไตล์

โรคที่พบบ่อยในระบบทางเดินอาหาร

โรคที่พบบ่อยในระบบทางเดินอาหาร

11 ก.ย. 2557

ดูแลสุขภาพ : โรคที่พบบ่อยในระบบทางเดินอาหาร

 
                           โรคในระบบทางเดินอาหาร เป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยมากมักเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงนัก แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งให้เรื้อรังไม่ทำการรักษา ก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนหรือมีภาวะรุนแรงขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตแล้ว ในท้ายที่สุด อาการที่ดูเหมือนจะไม่เป็นภาระหนักหนาในตอนแรก ก็อาจก่อผลร้ายทำลายร่างกายได้อย่างฉับพลัน และอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ 
 
                           เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่เร่งรีบจนละเลยความใส่ใจในเรื่องโภชนาการและขาดไร้วินัยในการกิน รวมถึงภาวะความเครียดที่สะสมจากเรื่องราวรอบด้าน ทำให้มีแนวโน้มของผู้ป่วยในโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อน 
 
                           “ในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่มักมองข้ามอาหารมื้อเช้า หรือถ้ากินก็ไม่เป็นเวลา หลายคนไปเน้นกินอาหารมื้อใหญ่ในตอนเย็น ขณะที่ร่างกายมนุษย์มีการเซตระบบในการกินอาหารแต่ละมื้อตรงตามเวลา ตั้งแต่แปดโมงเช้า เที่ยงวันถึงบ่ายสองโมง และอีกครั้งช่วงหกโมงถึงหนึ่งทุ่ม ในช่วงเวลาเหล่านั้นจะมีกรดในกระเพาะที่หลั่งออกมาเพื่อย่อยอาหาร ดังนั้นเมื่อถึงเวลาแล้วไม่มีอาหารลงไปในกระเพาะ กรดก็จะทำการย่อยตัวกระเพาะอาหารเอง และเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอย่างที่รู้กัน และยิ่งใครที่มีความเครียดมาก กรดก็จะหลั่งออกมามากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่กินยาแก้ปวดในขณะท้องว่างเป็นประจำ ฤทธิ์ยาก็จะเข้าไปกัดกระเพาะ นอกจากนี้ โรคกระเพาะอาหาร อาจเกิดได้จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Helicobacter Pylori ซึ่งแฝงตัวอยู่ในอาหารทั่วไป ดังนั้นเมื่อทุกวันนี้ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่มักกินอาหารนอกบ้าน อาหารที่ปรุงขึ้นอย่างไม่ถูกลักษณะ เจ้าแบคทีเรียตัวนี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายและเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะได้
 
                           โดยทั่วไปอาการของโรคกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน จะมีผลทำให้คนไข้ไม่สบายตัว และไม่มีอาการแสดงที่รุนแรงมาก การรักษาส่วนใหญ่ในเบื้องต้น แพทย์จึงทำเพียงให้ยาลดกรดในกระเพาะและให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดและมัน ให้เดินสักพักหลังรับประทานอาหาร ไม่นั่ง หรือ นอน หลังรับประทานอาหาร แต่หากคนไข้รับประทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วอาการไม่ทุเลาลง หรืออาจรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจระบบทางเดินอาหารอย่างละเอียดในลำดับถัดไป
 
                           “การตรวจวินิจฉัยอาการของโรคในกลุ่มนี้ แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติเพื่อมองหาปัจจัยเสี่ยงในคนไข้แต่ละคน แล้วจึงให้ยาพร้อมกับแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก หรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง ก็ต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีส่องกล้อง Endoscopy ซึ่งเป็นกล้องขนาดประมาณ 9 มิลลิเมตร ที่จะส่งผ่านเข้าทางปาก เข้าไปในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และ ลำไส้เล็กส่วนต้นและสามารถบันทึกภาพและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจอย่างละเอียดได้ในคราวเดียว คนไข้ที่จะเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ ต้องเตรียมตัวงดน้ำงดอาหารก่อนการตรวจ 6-8 ชั่วโมง โดยแพทย์ให้ยานอนหลับแก่ผู้ป่วยแล้วใช้กล้องที่สอดผ่านทางคอเข้าไปในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร แพทย์จะเห็นภาพที่ให้รายละเอียดในแต่ละบริเวณออกมาได้อย่างชัดเจนแม่นยำ ว่าคนไข้มีแผลหรือไม่ หรือเป็นเพียงการอักเสบธรรมดา รวมถึงสามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจหาแบคทีเรีย Helicobacter Pylori หรือดูในหลอดอาหารได้ว่ามีลักษณะของกรดไหลย้อนมากน้อยเท่าใด หรือในคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งก็สามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งการส่องกล้องจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที คนไข้ไม่ต้องรับความเจ็บปวด และสามารถรู้ผลตรวจได้ภายในวันเดียว
 
                           “ตับเป็นตัวสร้างน้ำดีแล้วส่งมาตามท่อน้ำดีมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีทำหน้าที่เก็บพักน้ำดี และบีบตัวไล่น้ำดีออกมาตามท่อส่งไปที่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมัน เมื่อถุงน้ำดีบีบตัวได้ไม่ปกติน้ำดีก็จะตกตะกอนเกาะกันเป็นนิ่ว และหากวันใดวันหนึ่งถุงน้ำดีบีบตัวจนก้อนนิ่วหลุดออกมา และไปอุดค้างอยู่ตรงทางเข้าออกของถุงน้ำดี คนไข้ก็จะมีอาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา มีไข้ หนาวสั่น เนื่องจากถุงน้ำดีอักเสบบวม วิธีการรักษาคือต้องผ่าตัด โดยหากทำภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะสามารถผ่าตัดแผลเล็กโดยเจาะรู 4 รูขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรที่หน้าท้องแล้วเข้าไปตัดเอานิ่วในถุงน้ำดีออก การรักษาวิธีนี้ใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลแค่ 3 วัน คนไข้ก็กลับบ้านได้ แต่หากมีนิ่วที่หลุดออกมาอยู่ในส่วนท่อน้ำดีด้วย คนไข้ก็ต้องรับการรักษาด้วยวิธีส่องกล้องเพื่อคล้องนิ่วออกจากท่อน้ำดีก่อนแล้วจึงค่อยเข้าไปจัดการกับนิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีเป็นลำดับถัดไป
 
                           “สำหรับการป้องกันตนเองจากนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการกินยาฮอร์โมนทุกชนิด ควบคุมเบาหวาน เพราะถ้าคุมไม่ดีปลายประสาทจะเสื่อม ถุงน้ำดีก็จะบีบตัวน้อยลงน้ำดีก็จะตกตะกอนเป็นนิ่ว และถ้าเกิดเป็นนิ่วก็ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ และแก้ปัญหาที่สาเหตุจริงๆ”
 
 
 
 
ผศ.นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง 
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบ
 
ทางเดินอาหารและตับ 
 
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์