
ชีวิตหลัง (กึ่ง) เกษียณ ของศัลยแพทย์หัวใจ
21 ก.ย. 2557
คุยนอกกรอบ : ชีวิตหลัง (กึ่ง) เกษียณ ของศัลยแพทย์หัวใจ : เรื่อง / ภาพ ... สินีพร มฤคพิทักษ์
อดีตศัลยแพทย์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก ที่วางมือจาก "มีดหมอ" หันไปทำงานส่งเสริมสุขภาพ เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่ผู้คนในแวดวงสาธารณสุข จัดแคมป์สุขภาพให้แก่ผู้สนใจทั่วไปที่บ้านมวกเหล็ก จ.สระบุรี ขณะเดียวกันก็ยังเป็น 'หมอน้อย' ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 สัปดาห์ละสามวัน
วันว่างๆ ก็ปลูกผักอินทรีย์ไว้กินเองที่บ้าน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นเจ้าของโลโก้ผักสด 'ไร่หมอสันต์ เกษตรอินทรีย์' ด้วย แต่ไม่มีผักขายแล้ว เพราะขาดทุน
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แนะนำตัวเองไว้ในบล็อก visitdrsant.com ว่าเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ 20 ปี เป็นบรรณาธิการตำราด้านโรคหัวใจและการช่วยชีวิต 3 เล่ม เป็นกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ หลายสมัย ทำงานบริหารเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 อยู่ 6 ปี ตอนนี้มีตำแหน่งเป็น 'หมอน้อย' ทำงานเฉพาะด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มีหน้าที่สอนให้คนไข้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ด้วยการออกกำลังกาย โภชนาการ การพักผ่อนที่พอเพียง และการจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ มีงานเสริมเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต เป็นกรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก เป็นที่ปรึกษาของอนุกรรมการช่วยชีวิตของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย มีงานอดิเรกเป็นชาวไร่คือ ว่างงานก็ไปทำไร่ปลูกผักอยู่ที่บ้านไร่บนเขา
ปัจจุบันคุณหมออายุ 62 ปี และกำลังทำในสิ่งที่รัก นพ.สันต์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนในครั้งนั้นว่า เนื่องจากตนเองป่วยเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ จึงเสาะหาวิธีดูแลตัวเองเพื่อไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด ดูจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สรุปว่าต้องเปลี่ยนโภชนาการ หันมาออกกำลังกาย และจัดการความเครียด เมื่องานวิจัยบอกมาเช่นนี้ เขาก็ลงมือทำ และได้ผลที่น่าพอใจ เมื่อเห็นว่าดี จึงคิดว่าต้องเผยแพร่ต่อ
"ขนาดเราเป็นหมอมาตั้งสามสิบกว่าปียังเพิ่งรู้ (หัวเราะ) แล้วชาวบ้านล่ะ...ผมเลิกทำผ่าตัดหัวใจ 4-5 ปีแล้ว เปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ ฉะนั้น มิชชั่นหลักคือ สอนคนให้รู้จักดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งก็มีการอักเสบ การตีบตันของหลอดเลือดเป็นพื้น ไม่ว่าหัวใจ สมอง ไต"
ไม่เสียดายความชำนาญที่เป็นหมอศัลย์หัวใจ?
"ไม่แล้วๆ ความรู้สึกที่ว่าเสียดายความรู้ ความชำนาญ มันทำให้เราเปลี่ยนอาชีพไม่ได้เกือบสิบปี เราคิดเปลี่ยนทำอย่างอื่นนานแล้ว แต่ความเสียดายความรู้ที่เรียนมา ก็ดึงเรา พออายุมากพอสมควรและป่วย ถ้าไม่ทำก็ตายคาสิ่งที่ทำอยู่ เราก็ดูเวลาที่เหลือในชีวิต ไม่อยากทำอย่างนี้จนตาย อยากทำอะไรที่ดีกับคนอื่นมากกว่านี้"
สี่ปีที่ผ่านมาเขาจึงทุ่มเทให้แก่งานเวชศาสตร์ครอบครัว สอนคนไข้ให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ด้วยการออกกำลังกาย โภชนาการ และจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ โดยอธิบายว่าความเครียดทำให้เป็นทุกโรคได้อยู่แล้ว รวมทั้งเป็นกลไกทำให้เป็นมะเร็ง วงการแพทย์ก็รู้อย่างละเอียด ตั้งแต่ว่าเมื่อมีความเครียดสมองปล่อยสารเรียกว่า นิวโรเปปไทด์ไปยังเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวลดการทำงาน เมื่อเม็ดเลือดขาวไม่ทำงานก็ลดตัวเก็บกินเซลล์มะเร็ง ทำให้เป็นมะเร็งง่ายขึ้น ทำอย่างไรจะไม่ให้เครียด ความจริงวงการแพทย์ก็มีความรู้ว่าทำอย่างไรไม่ให้เครียด เพียงแต่ยังไม่แพร่หลาย
"หลักฐานที่ดีที่สุดซึ่งคุณอาจจะแปลกใจคือ การฝึกสติลดความเครียด วงการแพทย์เรียก MBSR (Mind fulness bless stress reduction) อันนี้เข้ามาอยู่ในกระแสหลักแล้ว เปรียบเทียบกับการใช้ยา หรืออื่นๆ งานวิจัยบอกให้ทำสองสามอย่างทุกวันคือ หนึ่ง-ให้รำมวยจีนไทชิ สอง-ทำสมาธิตามดูลมหายใจ สาม-My Fullness Yoga ทำโยคะโดยมีสติประกอบ สามอย่างนี้อยู่ในงานวิจัยหลักๆ งานวิจัยพวกนี้มีเยอะมาก คนนอกวงการไม่เข้าใจ...มีตั้งสี่ร้อยงานวิจัย และทุกงานให้ผลเหมือนกันหมดว่า การฝึกสติลดความเครียด รักษา บรรเทาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
การฝึกสติเพื่อให้เรารู้สถานะของร่างกาย เพราะว่าความเครียดเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเขาทำอะไร ถ้าสังเกตร่างกายให้ดีจะรู้ ยกตัวอย่างถ้าเราหายใจฟืดฟาดๆ การหายใจเร็วเป็นการเร่งเครื่องของระบบประสาทอัตโนมัติ ถ้าเราสังเกตร่างกายได้ พิกอัพสัญญาณได้ เราก็จะสนองตอบได้เร็วขึ้น ถ้าเราไม่รู้มันจะปล่อยเลยตามเลยและเป็นมากขึ้น"
การฝึกสติทำให้เราพิกอัพได้ 1) การหายใจ 2) อัตราการเต้นของหัวใจ เพราะนี่เป็นงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ถ้ามาก-ใจสั่นตึ้กตั้กๆ ถ้าน้อย-ใช้วิธีจับชีพจรตัวเองได้ 3) ความรู้สึกหงุดหงิด เมื่อใดก็ตามที่รู้สึก แสดงว่าระบบประสาทอัตโนมัติกำลังเร่ง ระบบประสาทอัตโนมัติมีขาเร่ง กับขาหน่วง ถ้ามันเครียดจะเร่ง
4) อาการปวดเกร็ง โดยเฉพาะศีรษะ หลัง ไหล่ คอ บางคนเป็นที่แขนขา ทั้งสี่อย่างเป็นอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ตอนหลังวงการแพทย์มีความรู้อีกว่า เมื่อระบบประสาทเร่งเครื่องมันจะก่อความรู้สึกในใจในลักษณะคิดลบ ล้า มองอะไรในแง่ร้าย รู้สึกว่าสถานการณ์นี้เอาไม่อยู่ ควบคุมไม่ได้ เมื่อระบบประสาทอัตโนมัติเร่งเครื่อง การฝึกสติจะลดความเครียด บรรเทาอาการโรคไม่เรื้อรัง ด้วยการไม่ให้ประสาทอัตโนมัติเร่งเครื่องมากเกินไป
นพ.สันต์ อธิบายว่า จากข้อมูลวิทยาศาสตร์ การปรับชีวิตเพื่อไม่ให้ป่วย ต้องทำ 4 เรื่องดังนี้ 1) อาหาร ต้องกินพืชผักมากๆ 2) การออกกำลังกาย มีสาระว่าต้องถึงระดับที่หนักพอควรถึงขนาดว่าร้องเพลงไม่ได้นาน 30 นาที ทำ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ 3) จัดการความเครียด ด้วยการฝึกสติลดความเครียด ทำทุกวัน วันละ 15 นาที เฝ้าดูอาการของตัวเองแล้วก็มีสติ 4) การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ตรงนี้จะลดอุบัติการณ์ของโรค
ตอนหลังถึงกับนับความยืนยาวของอายุได้ โดยดูปลอกของยีนทีลอเมียร์ (Telomere) ปลอกจะหดลงเรื่อยๆ ตามอายุของคนเป็นเจ้าของเซลล์ หากปลอกนี้หมดคือตาย อันนี้เป็นความรู้ใหม่ พอเราได้ตัวชี้วัดนี้ ก็ดูว่าอะไรทำให้ทีลอเมียร์หดช้าลง หรือทำให้ยาวขึ้น งานวิจัยครั้งแรกเกิดในกลุ่มแม่ที่มีลูกพิการทางสมอง เขาพบว่ากลุ่มคนนี้มีทีลอเมียร์สั้นกว่าคนปกติ เขาเลยติดตามคุณแม่พวกนี้ที่เข้ากลุ่มปรับทุกข์กันเองพบว่าชะลอได้ เลยมาทำวิจัยในคนกลุ่มใหญ่ในสามเรื่องแรก บวกบังคับให้เจอกับเพื่อนที่ดีอาทิตย์ละ 4 ชั่วโมง พบว่าทำให้ทีลอเมียร์ยาวขึ้น
ในการประชุมการแพทย์เรียกว่า TLM (Total Lifestyle Modification) พูดเสมอว่านี่เป็นพื้นฐานการจัดการปัญหาสุขภาพ แต่ไม่เคยนำมาใช้กับคนไข้ เพราะหมอเองก็ไม่ทำ พอหมอไม่ทำก็กระดากปากที่จะพูดกับคนไข้
"พอผมเป็นคนป่วยก็ทำ พอทำแล้วดีก็เลยเปลี่ยนวิธีพูดกับคนไข้ใหม่ เรื่องเจ็บป่วยไม่ต้องพูด หันมาพูดเรื่องการดูแล นั่นคือสิ่งที่ผมทำในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา...ตอนนี้ไม่ได้ตรวจคนป่วยนะ ดูแลคนดี สอนให้ใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้ป่วย"
นอกจากการเป็นหมอน้อยที่โรงพยาบาลแล้ว นพ.สันต์ ยังจัดคอร์สดูแลสุขภาพ ที่เรียกว่า Health Camp ที่บ้านมวกเหล็ก ซึ่งจัดเฉพาะฤดูหนาวเกือบทุกสองอาทิตย์ หากมีคนลงทะเบียนล่วงหน้าก็เปิดสอน
"เราต้องออกกำลังกายกลางแจ้ง หน้าฝนทำไม่ได้ ก็ไปสอนตามองค์กรบ้าง กลุ่มผู้เกษียณอายุขององค์กรต่างๆ สิ่งที่สอนเป็นเรื่องพื้นฐานมาก เน้นการสอนทักษะ เช่น การออกกำลังกายให้ลงมือทำ การออกกำลงกายแบบต่อเนื่องหนักพอควรเป็นไง การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นอย่างไรก็ให้ทำ ด้านโภชนาการ ทำอาหารไร้ไขมัน ให้มีทักษะกลับไปทำเองได้ อย่าง MBSR ให้ฝึกจริง การตามดูลมหายใจ ไทชิ การมีสติประกอบการเคลื่อนไหวทำอย่างไร ผมเน้นการสอนทักษะให้ไปปรับชีวิตของเขาได้"
หลังจากนั้นขึ้นกับว่าเขาจะนำไปปฏิบัติต่อหรือไม่?
สิ่งที่ทำจะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ความบันดาลใจ จริงๆ คือสติ ความบันดาลใจคือวินัยต่อตัวเองคือสติ
"คุณโน้ตคำพูดของผมไว้นะ อีก 20 ปีข้างหน้า การแพทย์ต้องใช้สติเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลสุขภาพแทนยา เพราะเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก อันนี้จากงานวิจัยทางการแพทย์ ไม่เกี่ยวกับพระเจ้าหรือศาสนาใดใด ณ ขณะนี้ MBSR เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการความเครียด แต่อนาคตจะเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหมด...เราตามหลังอเมริกา ยุโรป เรื่องสุขภาพ 20 ปี ตอนนี้ปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของเขาอยู่ในทิศทางลง ของเราอยู่ทิศทางขึ้น ฉะนั้นใน 20 ปีข้างหน้า ผมไม่คิดว่าคนของเราจะสุขภาพดีหรอก แต่จะป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น เช่น หัวใจ หลอดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ มะเร็ง มากขึ้น ถึงจุดหนึ่งไปที่ไหนก็มีแต่คนป่วย และคนจะค่อยๆ หันมาตามฝรั่งว่าทำไมไม่ป่วย ตอนนี้ฝรั่งฝึกสติ คนไทยไม่มี พอป่วยมากๆ ไปดูฝรั่งแล้วฝึกบ้าง มันจะวนตามกัน 20 ปี ในวิชั่นของผม ยังไม่เห็นหรอกสังคมไทยสุขภาพดี ยังอีกนาน"
-----------------------------
เคล็ด(ไม่)ลับดูแลสุขภาพ
เคล็ด (ไม่) ลับในการดูแลสุขภาพของ นพ.สันต์ ที่บอกว่าหลังปรับชีวิตใหม่ ตอนนี้สุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องกินยาความดัน ไม่ต้องกินยาลดไขมัน ไขมันในเลือดปกติดี และไม่มีพุง !
"แต่ก่อนมีพุง (หัวเราะ) อาการทั้งหลาย แน่น เหนื่อย ไม่มีแรง ก็ไม่เป็น เพราะเราออกกำลังกาย อาการพวกนี้หายไปเลย เพราะฉะนั้นมันได้ผล มันเป็นกลไกพื้นฐานที่วิทยาศาสตร์รู้นานแล้ว"
ตารางกิจกรรมประจำวันคือ ออกกำลังกายตอนเช้าหลังตื่นนอน โดยตื่นก่อน 6 โมงเช้า ไม่ออกจากบ้านถ้ายังไม่ได้ออกกำลังกาย บางทีเป็นชั่วโมง ทำสลับไปแล้วแต่อยากทำ บางวันทำไทชิ วิ่งเบาๆ ฝึกกล้ามเนื้อ ด้านอาหาร-ภรรยาปั่นผักผลไม้ด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูง (ไม่แยกกาก) ใส่ขวดใหญ่ๆ นำไปกินที่ทำงานด้วย ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงกว่าจะหมด อาหารมื้อกลางวันมีสลัดหนึ่งจาน และมีพวกนัท ถั่วลิสง อัลมอนด์ แมคคาเดเมีย อบใส่ตลับ กินเป็นอาหารว่าง บางทีมีกาแฟดำก็กิน และอยู่จนถึงเย็น มื้อเย็น-กินอาหารตามธรรมดา หลีกเลี่ยงการกินผัดทอด กินข้าวกล้อง 2 ช้อน
อาหารคือผักผลไม้ที่ผ่านการปั่นเป็นพื้น การออกกำลังกายทำตอนเช้า แต่พยายามออกแบบกิจกรรมทั้งวันให้ได้ออกกำลังกาย เดินขึ้นบันได ใช้รถไฟฟ้า หากมีบรรยายในเส้นทางที่ไม่ห่างรถไฟฟ้า ก็ไม่เอารถยนต์ไป เวลาอยู่บ้านที่มวกเหล็ก ทำงานแบบชาวไร่ เช่น ตัดหญ้า แล้วพยายามจะพบปะกับผู้คนบ้าง เพราะอายุมากมีแนวโน้มถอยเข้ามุม การทำอย่างนั้นงานวิจัยบอกว่าทำให้อายุสั้น ก็พยายามพบปะกับผู้คนอาทิตย์ละครั้ง
"ผมเป็นคนไม่ชอบยุ่งกับชาวบ้าน มาสอนคนเยอะๆ กลับบ้านต้องอยู่เฉยๆ ไม่ยุ่งกับใครเลย แต่พยายามพบปะผู้คนสรวลเสเฮฮา พบปะผู้คน ตามงานวิจัยบอกอาทิตย์ละ 1 ชั่วโมง ก็ทำอาทิตย์ละ 1 ชั่วโมง
เวลานอน-อยู่ระหว่างฝึกหัดจากนอนดึกมานอนหัวค่ำ เป็นคนนอนดึก พยายามนอนสามทุ่มครึ่ง ยังทำไม่ได้ คนสูงอายุถ้าเวลานอนไม่พอ ทุกอย่างรวนหมด มันจะง่วงนอนตอนกลางวัน ผมก็ร่วง"
-----------------------------
(คุยนอกกรอบ : ชีวิตหลัง (กึ่ง) เกษียณ ของศัลยแพทย์หัวใจ : เรื่อง / ภาพ ... สินีพร มฤคพิทักษ์)