ไลฟ์สไตล์

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกินเปี้ยว

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกินเปี้ยว

02 พ.ย. 2557

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกินเปี้ยว

 
                             ก่อนอื่นขอประชาสัมพันธ์งานใหญ่สำหรับวงการดูนกไทย สุดสัปดาห์ที่ 8-9 พ.ย.นี้จะมีเทศกาลดูนกเมืองไทย (Thailand Bird Fair) ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 โดยมีเจ้าภาพคือสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) ปีนี้ก็ยังคงจัดที่สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ ขึ้นชื่อว่า “บางปู” ก็แน่นอนว่าต้องมีปูเต็มไปหมด สัปดาห์นี้มารู้จักกับนกสีสันสวยงามที่โปรดปรานการกินปูกันดีกว่าครับ มันกินปูให้เห็นบ่อยจนถูกเรียกว่า “นกกินเปี้ยว” (Collared Kingfisher) ใครไปบางปูผู้เขียนรับประกันว่าต้องได้เห็น หรือหากโชคร้ายไม่เจอตัวมันจริงๆ ก็ต้องได้ยินเสียงร้องดังโวยวายของมันมาจากที่ไหนสักแห่งเป็นแน่
 
                             ชื่อไทยของนกกินเปี้ยวมาจากการที่มันมักจับ “ปูเปี้ยว” ไม่ใช่เพราะมันกินอาหารรส “เปรี้ยว” นะครับ (ฮา) แม้ว่าจริงๆ แล้วมันจะจับปูกลุ่มอื่นๆ กินด้วย แต่ปูเปี้ยวเป็นหนึ่งในปูกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามพื้นเลนริมชายฝั่งทะเลเป็นหลัก (ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลักของเจ้านกกินเปี้ยว) ปูเหล่านี้โดดเด่นด้วยสีสันสะดุดตาและเพศผู้มีก้ามข้างหนึ่งใหญ่เทอะทะไม่สมตัว นกกินเปี้ยวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ kingfisher ที่ไม่ได้กินปลาเป็นอาหารหลัก อย่างไรก็ตาม บางครั้งคราวมันก็จับสัตว์อื่นนอกจากปูกินด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเลี้ยงดูลูกอ่อนที่ต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต พ่อแม่นกอาจจับสัตว์ตัวใหญ่พอฟัดพอเหวี่ยงกับมันมาป้อนลูกเป็นอาหารเลยทีเดียว
 
                             นกกินเปี้ยวเป็นนกที่พบเห็นได้ง่ายมากตามชายฝั่งทะเล มักเกาะในที่โล่งเพื่อมองหาเหยื่อบนหาด ลำตัวสีฟ้าน้ำทะเลของมันสวยสดราวกับมีมนต์สะกดให้นักดูนกต้องส่องกล้องดูทุกครั้งที่เจอ บ่อยครั้งอาจเห็นนกกินเปี้ยวหลายตัวเกาะอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก หากลองสังเกตอาจพบว่าแต่ละตัวสีสันไม่เหมือนกันเสียทีเดียว บางตัวมีหลังสีฟ้าสด ในขณะที่บางตัวจะออกโทนอมเขียวๆ เป็นสีคราม บางครั้งลำตัวด้านล่างก็มีสีน้ำตาลเรื่อๆ และมีลายเกล็ดจางๆ ที่ข้างอก ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปริศนาว่าสีสันที่แตกต่างกันนี้อาจขึ้นอยู่กับเพศ วัย หรือเป็นชุดขนตามฤดูกาล
 
                             สำหรับเมืองไทย โดยเฉลี่ยนกที่พบทางภาคใต้จะมีสีอมเขียวน้อยกว่าทางภาคกลางและตะวันออก จึงถูกจัดให้เป็นคนละชนิดย่อยกัน ทั่วโลกอาจแบ่งได้ถึง 50 ชนิดย่อย นับเป็นหนึ่งในนกที่มีชนิดย่อยมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย พบทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและเกาะต่างๆ ในทวีปโอเชียเนีย นกกินเปี้ยวตามเกาะส่วนใหญ่จะพบได้ในทุกถิ่นอาศัยแม้แต่บนภูเขาที่ห่างไกลทะเล นอกจากนี้ยังมีประชากรกระจายอยู่ทางตะวันออกกลาง ไปจนถึงชายฝั่งทะเลแดงของทวีปแอฟริกา
 
 
---------------------------
 
 
นกกินเปี้ยว
 
 
ชื่ออังกฤษ Collared Kingfisher
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Todiramphus chloris (Boddaert, 1783)
 
วงศ์ (Family) Alcedinidae (วงศ์นกกะเต็น)
 
อันดับ (Order) Coraciiformes (อันดับนกจาบคา นกตะขาบ และนกกะเต็น)
 
 
---------------------------