ไลฟ์สไตล์

'ระวัง! ลื่นล้มอาจสะโพกหัก'

'ระวัง! ลื่นล้มอาจสะโพกหัก'

06 พ.ย. 2557

ดูแลสุขภาพ : 'ระวัง! ลื่นล้มอาจสะโพกหัก'

 
                         ในกลุ่มผู้สูงอายุหากลื่นล้มสะโพกกระแทกพื้นจะมีอาการปวดสะโพกมาก ลุกเดินไม่ได้ การล้มแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถก่อให้เกิดการหักของกระดูกได้ อันเนื่องมาจากผู้สูงอายุเป็นโรคกระดูกพรุน มีทางเลือกสำหรับการรักษา 2 แบบ คือ
 
                         1.แบบอนุรักษ์ หรือแบบไม่ผ่าตัด โดยใช้วิธีถ่วงน้ำหนักที่ขาเป็นระยะเวลานานประมาณ 2-3 เดือน อาจกระทำได้ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 65 ปี เป็นการหักของสะโพกแบบไม่สมบูรณ์ และไม่มีการเคลื่อนหลุดของกระดูกออกจากกัน อย่างไรก็ตามผลการรักษาไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากกระดูกที่หักมีโอกาสเคลื่อนหลุดได้สูง และการหักเกิดขึ้นในข้อสะโพก โอกาสการเชื่อมติดของกระดูกจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งผลแทรกซ้อนที่ตามมาได้แก่ การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในระบบหลอดเลือดและการหายใจจากการนอนเป็นระยะเวลานาน การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในกระแสเลือด การเกิดแผลกดทับ ความเจ็บปวดจากการดูแล การขยับตัว การพลิกตัว เป็นต้น ยังไม่นับรวมความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ ไม่แต่เฉพาะตัวผู้ป่วยเอง แต่กับทุกๆ คนในครอบครัว จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยสะโพกหัก 2 ใน 5 ราย มักเสียชีวิตต่อมาภายในเวลา 1 ปี อันเนื่องมาจากคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก
 
                         2.การรักษาแบบผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ววันขึ้น ข้อแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นลดลงได้มาก หากการผ่าตัดสามารถกระทำได้รวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง การเตรียมตัวเพื่อการผ่าตัดที่เนิ่นนานไปอาจก่อให้เกิดปัญหาตามกล่าวมาข้างต้น สำหรับการผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามตำแหน่งการหักได้ดังนี้  
 
                         กระดูกคอสะโพกหักแบบไม่เคลื่อน มักใช้การยึดสกรูที่คอกระดูก 
 
                         กระดูกคอสะโพกหัก มีการเคลื่อนหลุด มักใช้วิธีการเปลี่ยนข้อเทียม
 
                         กระดูกหักบริเวณต่ำกว่าคอกระดูกลงมา ทำการผ่าตัดโดยการยึดตรึงด้วยโลหะชนิดพิเศษ
 
                         เมื่อทำการรักษากระดูกที่หักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการหักของกระดูกสะโพกอีกข้าง รวมถึงการหักในตำแหน่งอื่นๆ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ กระดูกเชิงกราน ดังนั้นในผู้ป่วยทุกรายที่มีการหักของกระดูกเกิดขึ้นแล้วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเสริมสร้างแคลเซียมให้แก่ร่างกาย กระดูก โดยการรับประทานนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม แคลเซียม วิตามิน รวมถึงยาเสริมกระดูก
 
                         กล่าวโดยสรุป การป้องกันไม่ให้เกิดการหักของกระดูก ย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากเรามีความเข้าใจเรื่องโรคกระดูกพรุนและผลเสียที่ตามมาจากโรคนี้ จะทำให้เรามีความตื่นตัว ตระหนักถึงอันตรายของโรค สามารถเฝ้าระวัง ป้องกันและเข้ารับการรักษาได้แต่เนิ่นๆ เพื่อเราจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
 
 
 
 
 
นพ.จิระเดช ตุงคะเศรณี
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ 
 
โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล