จักสานหวาย-ไม้ไผ่ 'บ้านโพธิ์ศรี' ของดีสุพรรณ ฝีมือชาวไทยพวน
14 พ.ย. 2557
ทำมาหากิน : จักสานหวาย-ไม้ไผ่ 'บ้านโพธิ์ศรี' ของดีสุพรรณ ฝีมือชาวไทยพวน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
แม้จะมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ก็ยังสามารถเจียดเวลาว่างมาทำอาชีพเสริมโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาสานต่องานฝีมือที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษสำหรับกลุ่มชนชาวไทยพวนแห่งบ้านโพธิ์ศรี หมู่ 3 อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน
โดยเฉพาะหมู่บ้านไทยพวนนั้น เอกลักษณ์ของเขาก็คือจะอยู่กันอย่างพี่น้อง มีความเอื้ออารีต่อกัน มีความรัก ความสามัคคีในชุมชน ทำให้เจริญเติบโตกันมา โดยสังเกตจากภูมิศาสตร์ของหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ มีถนนหนทางตัดรอบไปทั้งหมู่บ้านทุกซอกทุกซอย ที่ค่อนข้างสวยงาม ในขณะผู้มาเยี่ยมเยือนมักจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยงาม
"ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ก็มีอาชีพเสริมด้วย เช่นจักสานจากไผ่และหวาน ตะแกรงตากปลา กระบุ้งสำหรับหว่านข้าว ขนมทองม้วนจากไรซ์เบอร์รี่ เมื่อก่อนทำเพื่อใช้สอยในครัวเรือน แต่ต่อมาเห็นว่าขายได้ก็รวมกลุ่มกันทำเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้หลังว่างเว้นจากการทำนาหรือใช้เวลาว่างในช่วงไปออกนา"
ดารณี วงศ์จันทร์ ประธานกลุ่มจักสานหวาย-ไม้ไผ่บ้านโพธิ์ศรี 23/3 บ้านโพธิ์ศรี บริการรับส่งได้ค่ะ และเบอร์ติดต่อ 0-8988-2030 เผยชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวไทยพวนบ้านโพธิ์ศรี โดยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ก่อนจะมารวมกลุ่มทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว เริ่มจากทำใช้ในครัวเรือนและแลกเปลี่ยนกันใช้กับคนในหมู่บ้าน ก่อนขยับขยายนำออกมาจำหน่ายในท้องตลาด โดยเริ่มต้นจากตะแกรง กระบุง เพราะที่นี่มีอาชีพทำนา และก็มาสานพัด หลังจากได้พัฒนาการจักสานของในกลุ่มก็มีการไปอบรมการใส่ลายเพิ่มในผลิตภัณฑ์ ซึ่งลายแรกที่ทำคือลายดอกพิกุล
"การสอดดอกพิกุล หรือตะกร้าดอกพิกุล อันนี้เป็นลูกแรกแล้วก็เก่าที่สุดค่ะ ยุคแรกเป็นการสานลายดอกพิกุล 30 ปีมาแล้ว ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ และหลังจากนั้นมีการพัฒนาต่อเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลายดอกพิกุลเป็นกระเป๋าถือผู้หญิงข้างในมีซิป บุผ้าด้วย เหมาะกับคุณผู้หญิง ขายดีอย่างต่อเนื่องจากวันนั้นจนวันนี้ จากลายพิกุลก็มาลายลั่นทม มีทั้งทรงกลม ทรงรีและบุผ้าด้านใน"
ประธานกลุ่มคนเดิมเผยต่อว่า ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกมาคือตะกร้าที่ผสมผสานลายไม้ไผ่ย้อมสี ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนราคาขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์และลวดลายที่ใส่ลงไป อย่างกระเป๋า มีตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน เช่นเดียวกับตะกร้า ส่วนระยะเวลาในการผลิตนั้น ขึ้นกับขนาด ความละเอียดประณีต บางผลิตภัณฑ์อาจใช้เวลาเป็นเดือน
"อย่างกระเป๋า มีราคา 1,400 บาท และ 1,800 บาท ถ้า 1,800 จะมีการถักหวายเส้นใหญ่มากกว่า ถักขอบสวยงามกว่า ส่วนลายที่ละเอียดที่สุดในการจักสานคือลายพิกุลและลายลั่นทม อยู่ที่ลูกละ 4,500 บาท นี่ไม่ได้บุผ้า แต่ถ้าบุผ้าก็ต้องเพิ่มราคาขึ้นอีก ส่วนค่าอะไหล่อีกต่างหากนะ นอกเหนือจากทำเครื่องจักสานแล้ว ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ทำร่วมกัน ก็คือขนมทองม้วน ทำมาจากข้าวไรซ์เบอร์รี่"
ขณะที่ จำรัส พิมพ์ลีลา ผู้ใหญ่บ้านโพธิ์ศรี หมู่ 3 อ.บางปลาม้า ย้อนอดีตบ้านโพธิ์ศรีว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน ตามประวัติบอกว่ามีนายศรี คนชื่อศรี พาญาติพี่น้องมา ตั้งรกรากทำมาหากินในท้องทุ่งนาแล้วก็มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ไว้ให้กับชาวบ้านไว้พักล้มเงา เมื่อชุมชนโตขึ้น ก็เลยตั้งชื่อว่าหมู่บ้านโพธิ์ศรี
"บ้านเราเป็นหมู่บ้านไทยพวน เอกลักษณ์ของเขาก็คือเขาจะอยู่กันอย่างพี่น้อง มีความเอื้ออารีต่อกัน มีความรัก ความสามัคคีในชุมชน มีการจัดภูมิทัศน์ของหมู่บ้านอย่างสวยงาม มีถนนหนทางตัดรอบไปทั้งหมู่บ้านทุกซอกทุกซอย จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อป เพื่อการท่องเที่ยวในปีนี้ (2557) ตอนปี 2550 เราก็ชนะเลิศ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของ จ.สุพรรณด้วย"
นับเป็นอีกหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้เป็นอย่างดีสำหรับชุมชนไทยพวนแห่งบ้านโพธิศรี หมู่ 3 อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี สนใจผลิตภัณฑ์โทร.08-9882-0300
--------------------------
(ทำมาหากิน : จักสานหวาย-ไม้ไผ่ 'บ้านโพธิ์ศรี' ของดีสุพรรณ ฝีมือชาวไทยพวน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)