ไลฟ์สไตล์

เผย‘ม้าน้ำสีทอง’เป็นสายพันธุ์‘ม้าน้ำดำ’

เผย‘ม้าน้ำสีทอง’เป็นสายพันธุ์‘ม้าน้ำดำ’

13 พ.ย. 2557

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชี้แจงกรณีพบ ‘ม้าน้ำสีทอง’ ที่ชาวประมงพบในพื้นที่ อ.ละเม พบเป็นสายพันธุ์ ‘ม้าน้ำดำ’ ที่พบได้ในแถบอินโด-แปซิฟิก

            เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พ.ย. 57 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ได้ตรวจสอบกรณีม้าน้ำสีทองที่พบในต.ละแม จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา พบเป็นชนิด “ม้าน้ำดำ (Common seahorse, Spot seahorse) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Hippocampus kuda (Bleeker,1852)” ซึ่งในทะเลบ้านเราสามารถพบได้หลากหลายสี ทั้ง ดำ เหลือง ม่วง หรือน้ำตาลแดง ขึ้นกับสภาพแวดล้อม มีความยาว 25-30 ซม. พบได้ในแถบอินโด-แปซิฟิก จนถึงฮาวาย

            ในน่านน้ำไทยนั้นม้าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ม้าน้ำสีทอง เป็นม้าน้ำเป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งเนื่องจากเป็นสัตว์ที่หายใจด้วยเหงือก มีการเคลื่อนที่ไปมาและควบคุมทิศทางด้วยครีบ มีเกราะปกคลุมลำตัว ซึ่งเป็นลักษณะของปลานั่นเอง เพียงแต่ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างแปลก คือมีส่วนหัวเหมือนม้า อยู่ในตระกูล GENUS เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แม้ม้าน้ำทั่วโลกก็ถูกจัดให้อยู่ในสกุล Hippocampus ของครอบครัว Syngnathidae แต่เพราะความแปลกประหลาดของเจ้าม้าน้ำในด้านรูปพรรณสัณฐาน วงจรชีวิตที่แตกต่างไปจากปลา เหนือสัตว์ทะเลโดยทั่วไปนี้เอง ทำให้การจัดแบ่งชนิดของม้าน้ำในระดับชนิด Species ยังมีความสับสนอยู่มาก แต่ก็มีการประมาณการกันไว้ว่า ม้าน้ำที่พบได้ในน่านน้ำทั่วโลก 6 ทวีปคือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชียนั้น น่าจะมีอยู่ประมาณ 35 ชนิด

            ในประเทศไทยพบว่า ม้าน้ำที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของอ่าวไทย คาดว่าน่าจะมีอยู่ 4 ชนิดคือ 1.ม้าน้ำหนาม (H. spinosissimus ) อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำค่อนข้างลึก ใสสะอาด เช่น เกาะที่มีแนวปะการัง กัลปังหา ห่างจากชายฝั่ง เป็นม้าน้ำที่มีสีสันสวยงาม มักจะมีสีออกน้ำตาลแดง มีลายจุดสีออกขาว เป็นแถบกว้างคาดบริเวณลำตัว มีหนามมากค่อนข้างแหลมและยาว แต่มีขนาดเล็กกว่าม้าน้ำพันธุ์ kuda ชนิดนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำดูปะการังและนักสะสมของที่ระลึกรวมทั้งนักเลี้ยงปลาทะเลในตู้โชว์

            2.ม้าน้ำ 3 จุด ( H. trimaculatus )พบตามเขตชายฝั่งในฤดูหนาว จะอพยพเข้ามาบริเวณชายฝั่งและมักจะติดอวนปู อวนกุ้งของชาวประมงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่ม้าน้ำอยู่ในระยะผสมพันธุ์ และวางไข่ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการลดจำนวนประชากรของม้าน้ำพันธุ์นี้ลงอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากบริเวณส่วนบนของลำตัวม้าน้ำพันธุ์นี้จะปรากฏเป็นจุดดำ ประมาณ 3 จุด จึงเป็นสาเหตุให้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า "ม้าน้ำ 3 จุด"

            3.ม้าน้ำแคระ ( H. mohnikei )มีขนาดเล็กที่สุดพบเห็นไม่บ่อยนัก ตัวสีดำ อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง เกาะอยู่ตามสาหร่าย บริเวณที่เป็นพื้นทราย แต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ม้าน้ำชนิดนี้หายากจึงยากต่อการเพาะเลี้ยง และ4.ม้าน้ำดำ ( Hippocampus kuda )จัดเป็นม้าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนม้าน้ำที่พบในน่านน้ำไทย ในอดีตมีผู้บอกเล่าว่ามีขนาดยาวถึง 1 ศอก แต่ปัจจุบันที่มีการพบเห็นตัวใหญ่ที่สุดมีขนาดตัวยาวเท่าฝ่ามือเท่านั้น แต่ก็ยังจัดได้ว่าเป็นพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับความชื่นชอบจากนักนิยมยาบำรุง จึงเป็นสาเหตุให้ม้าน้ำชนิดนี้สูญพันธุ์ ลำตัวสีดำสนิท ผิวค่อนข้างเรียบไม่มีหนามยาวแหลม อาศัยตามชายฝั่งบริเวณที่มีน้ำค่อนข้างขุ่น เมื่อนำมาเลี้ยงสามารถเปลี่ยนสีได้ ส่วนใหญ่มักเปลี่ยนเป็นสีครีม สีเหลือง และน้ำตาลแดง
 
            พบง่ายบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของอ่าวไทย และที่"เขตรักษาพันธุ์ม้าน้ำและกัลปังหา มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ชายฝั่งเขตติดต่อ หมู่ 11 บริเวณหัวแหลม ท่าเทียบเรือประมงท้องตม ไปจนถึง ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านท้องตมใหญ่ ครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งที่น้ำทะเลขึ้นถึง ออกไปอีกประมาณ 50-100 เมตร ชาวท้องตม โดย คุณวัชรินทร์ แสวงการ ประธานการจัดการอ่าวท้องตมและการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องตมใหญ่ ได้หยิบยกม้าน้ำ ขึ้นมาเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของการทำงานด้านการอนุรักษ์