ไลฟ์สไตล์

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกระทุง

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกระทุง

16 พ.ย. 2557

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกระทุง

 
                            รู้สึกบ้างไหมครับว่านกหลายชนิดหาดูยากขึ้นกว่าแต่ก่อน? จริงที่ว่านกส่วนใหญ่มีประชากรลดลง เป็นผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่คนที่ดูนกมานานหลายปี ก็อาจรู้สึกได้ว่านกบางชนิดกลับหาดูง่ายขึ้น นกน้ำขนาดใหญ่อย่างนกปากห่าง (Asian Openbill) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เพราะมันได้ประโยชน์โดยตรงจากการแพร่ระบาดของสัตว์ต่า งถิ่นรุกรานอย่างหอยเชอรี่ (Golden apple snails) ซึ่งกลายมาเป็นอาหารหลักของมัน ไม่เพียงเท่านั้น การที่ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศธรรมชาติมากขึ้น นกขนาดใหญ่ที่เคยถูกคนยิงทิ้งยิงขว้างในอดีต ปัจจุบันก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย
 
                            เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประชากรนกน้ำขนาดใหญ่หลายชนิดเริ่มฟื้นตัวกลับมาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ 10-20 ปีก่อน ตัวอย่างเช่น นกอ้ายงั่ว (Oriental Darter) นกกระทุง (Spot-billed Pelican) และ นกกาบบัว (Painted Stork) ซึ่งล้วนมีสถานภาพระดับโลกใกล้ถูกคุกคาม (NT) ในบัญชีแดงขององค์กร IUCN
 
                            ทุกวันนี้เราสามารถพบนกกระทุงและนกกาบบัวฝูงใหญ่ได้ไม่ยากอีกต่อไป แต่พื้นที่ทำรังวางไข่ของพวกมันในปัจจุบันยังคงเป็นปริศนา ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลจับคู่ทำรังของนกกระทุง ตามสวนสัตว์เปิดก็เริ่มมีนกกระทุงสร้างรังกันแล้ว ฤดูผสมพันธุ์จะลากยาวไปจนถึงฤดูร้อน เป็นที่รู้กันว่านกที่พบเห็นในธรรมชาติส่วนหนึ่งมาจากสวนสัตว์เปิด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการปล่อยนกบินอิสระในสวนสัตว์เปิดเป็นสิ่งพึงกระทำนะครับ นกหลายชนิดที่มีการเลี้ยงปล่อยในสวนสัตว์เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่อาจส่งผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่น
 
                            ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนมีรายงานนกกระทุงอพยพผ่านทางภาคตะวันออกเป็นฝูงใหญ่อยู่เรื่อยๆ คาดกันว่าน่าจะเป็นประชากรที่ทำรังบริเวณทะเลสาบเขมร ช่วงปลายฝนต้นหนาวนี่แหละครับที่มักจะมีการพบเห็นนกกระทุงในเมืองไทยบ่อยกว่าช่วงอื่นๆ เร็วๆ นี้ก็มีรายงานจำนวนหลายร้อยตัวจากที่ราบลุ่มน้ำขังใน อ.ปากพลี จ.นครนายก ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเหยี่ยวดำที่ขึ้นชื่อ แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีนกกระทุงลงหากินมาก่อน
 
                            หากมีโอกาสเฝ้าดูนกกระทุงลอยน้ำหากิน จะเห็นมันใช้“ถุง”ที่จะงอยปากล่างไล่ช้อนปลาตัวเขื่องที่ดิ้นให้ตายก็ไม่หลุด อย่างไรก็ตาม ถ้าเจอเป็นฝูงจะยิ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะบ่อยครั้งเจ้านกยักษ์ชนิดนี้ทำงานเป็นทีม พฤติกรรมที่เคยถูกบันทึกไว้คือพวกมันจะเรียงแถวใช้ “ถุง” ที่ปากช่วยกันไล่ต้อนปลาไปยังบริเวณน้ำตื้นเพื่อจับกิน
 
 
------------------------------
 
 
นกกระทุง
 
 
ชื่ออังกฤษ Spot-billed Pelican, Grey Pelican
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pelecanus philippensis (Gmelin, 1789)
 
วงศ์ (Family) Pelecanidae (วงศ์นกกระทุง)
 
อันดับ (Order) Pelecaniformes (อันดับนกกระทุง)
 
 
------------------------------