
ถักทอ 'ใยกัญชง' สู่ผลิตภัณฑ์ งานทำมือคุณภาพระดับ 5 ดาว
19 พ.ย. 2557
ทำมาหากิน : ถักทอ 'ใยกัญชง' สู่ผลิตภัณฑ์ งานทำมือคุณภาพระดับ 5 ดาว : โดย...นิศานาถ กังวาลวงศ์
จากแม่บ้านเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการถักนิตติ้งจากผู้เป็นแม่ มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ฝึกฝีมือจนเกิดความชำนาญ จึงรวมกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ผลิตงานถักนิตติ้งจากเส้นใยกัญชง วางจำหน่ายบนถนนคนเดินวันอาทิตย์ จ.เชียงใหม่ เป็นรายเสริมให้แก่กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่
ก่อนที่จะได้มาจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง นวลศรี พร้อมใจ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเย็บปักถักร้อย ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งผลิตสินค้าจากใยกัญชงออกจำหน่าย จดทะเบียนในชื่อ "วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรใยกัญชง" กล่าวว่า ที่ก้าวเข้ามาสู่การผลิตสินค้าจากใยกัญชงได้นั้น เนื่องจากเห็นแม่ถักนิตติ้งมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยแม่ไปเรียนถักมาจากภรรยาของหมอท่านหนึ่งที่เดินทางเข้ามารักษาคนไข้ในหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมา คิดค่าเรียนในสมัยนั้น 200 บาท ถักจนเป็น และได้ถ่ายทอดความรู้การถักนิตติ้งให้ เพื่อเป็นวิชาชีพติดตัว
"หลังจากนั้นมีบริษัทเข้ามาหาคนไปเรียนถักนิตติ้ง เพื่อนำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน จนชาวบ้านมีรายได้เสริมมากขึ้น ระหว่างนั้นมีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาส่งเสริมการถักนิตติ้งเช่นกันและเข้ามาดึงตัวชาวบ้านที่ถักนิตติ้งอยู่ก่อนหน้านี้ ไปทำงานด้วยโดยให้ค่าจ้างที่สูงกว่า ทำให้ไม่มีใครทำงานที่นำมากระจายให้ จึงได้เลิกทำ แล้วหันไปปลูกดอกกุหลาบขายอยู่หลายปี"
ประธานกลุ่มคนเดิมเล่าต่อว่า จากนั้นในปี 2546 เริ่มมีการรวมกลุ่มแม่บ้านกันอีกครั้ง จึงได้รวมตัวกันถักนิตติ้งและได้ถูกเลือกให้เป็นประธานแม่บ้านตำบล โดยถักนิตติ้งส่งให้แก่บริษัทรับซื้อเหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ต่อมามีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดเข้ามาดูกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกัน และได้ทำการส่งเสริมเพื่อให้ตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้นมา หลังจากนั้นได้มีโอกาสรับคัดเลือกไปจำหน่ายสินค้าตามงานแสดงสินค้าโอท็อปต่างๆ ที่จัดขึ้น
กระทั่งเมื่อปี 2547 ได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว และได้รับคัดเลือกให้เข้าไปขายของในถนนคนเดินบริเวณท่าแพ จึงได้เรียนรู้ว่าชาวต่างชาติให้ความสนใจในงานฝีมือประเภทใยกัญชง จึงเริ่มที่จะพัฒนาสินค้า โดยการนำใยกัญชงมาผสมกับฝ้ายเพื่อให้มีรูปแบบที่ชาวต่างชาติมีความสนใจ หลังจากนั้นได้มีโอกาสได้รับการอบรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต้องศึกษาเพื่อให้เส้นใย ผลิตภัณฑ์ออกมานุ่มเพื่อให้สวมใส่สบายมากขึ้น
นวลศรีเผยต่อว่า สำหรับสินค้าที่ทางกลุ่มผลิตออกจำหน่ายมีราคาตั้งแต่ 35-7,000 บาท จะเน้นไปที่ประเภทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เนื่องจากมีความถนัดมากกว่า แต่ทั้งนี้ได้พยายามพัฒนาสินค้าให้มีหลากหลายลูกค้ามีโอกาสเลือกได้มากขึ้น โดยเริ่มผลิตสินค้าประเภทของตกแต่งบ้านมาจำหน่าย แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าเครื่องแต่งกาย โดยส่วนใหญ่จะซื้อผ้าปูโต๊ะไปทำผ้าคลุมไหล่ ซึ่งสินค้าที่ทางกลุ่มแม่บ้านผลิตออกจำหน่ายนั้น ทุกชิ้นเป็นการผลิตด้วยมือทั้งสิ้น
ด้านการตลาดในช่วงนี้ ยังคงจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง มีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศสัดส่วนเท่าๆ กัน สนใจเข้ามาเลือกชมสินค้าที่บริเวณถนนคนเดินวันอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง กลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ที่สนใจเลือกสินค้าจากทางกลุ่มกลับไปขาย เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป จีน โดยจะเน้นให้กลุ่มลูกค้าเข้าถึงแหล่งผลิตเองมากกว่าที่จะทำการส่งออกไปต่างประเทศด้วยตัวเอง
"ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม 80 คน สามารถผลิตได้เดือนละประมาณ 100 ชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความละเอียดของสินค้า รายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3-6 หมื่นบาท/เดือน ถือเป็นรายได้เสริมให้แก่สมาชิกได้อีกทางหนึ่ง" ประธานกลุ่มกล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรใยกัญชงที่ใช้งานฝีมือด้วยการนำใยกัญชงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จนสามารถสร้างอาชีพและรายได้เป็นอย่างดี
---------------------------
(ทำมาหากิน : ถักทอ 'ใยกัญชง' สู่ผลิตภัณฑ์ งานทำมือคุณภาพระดับ 5 ดาว : โดย...นิศานาถ กังวาลวงศ์)