ไลฟ์สไตล์

'แพนกาเซียสดอร์รี่' ปลาเศรษฐกิจมาแรงในเวียดนาม

'แพนกาเซียสดอร์รี่' ปลาเศรษฐกิจมาแรงในเวียดนาม

04 ธ.ค. 2557

ทำมาหากิน : 'แพนกาเซียสดอร์รี่' สวายลุ่มน้ำโขง ปลาเศรษฐกิจมาแรงในเวียดนาม : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                                  หลังจากเนื้อปลา "แพนกาเซียส ดอร์รี่" จากเวียดนามเป็นที่นิยมบริโภคของผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงปลาเนื้อ "แพนกาเซียส ดอร์รี่" ถึง 8 ฟาร์ม ในพื้นที่ 100 เฮกตาร์ หรือประมาณ 625 ไร่ บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือแม่โขงเดลต้า ในนาม บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปี 2557 สามารถผลิต "แพนกาเซียส ดอร์รี่" ได้ทั้งหมด 3.2 หมื่นตัน ส่งออกเกือย 100 % ไปยัง 20 ประเทศทั่วโลก 
 
                                  นายนเรศ พรมผิว รองกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบงานแปรรูปและฟาร์มปลา บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายระหว่างพาชมกิจการฟาร์มเลี้ยงปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ของบริษัท ซี.พี.เวียดนามฯ บนเกาะ บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่ จ.หวิงลอง ประเทศเวียดนาม ว่า ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ถือเป็นปลาสวายชนิดหนึ่ง แต่คนละสายพันธุ์กับปลาสวายในประเทศไทย ที่เป็นปลาสวายแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อเหลือง ไขมันมาก แต่ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ เป็นปลาสวายแม่น้ำโขง มีเนื้อขาว ไขมันน้อย มีคุณค่าทางโภชการสูง เป็นที่นิยมบริโภคทั่วโลก จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ประเทศเวียดนามสามารถผลิตปลาชนิดนี้ปีละ 1.5 ล้านตันปลาเป็น หรือ 6-6.5 แสนตันเนื้อปลาแปรรูป โดยส่งออกกว่า 90% สร้างรายได้ให้ประเทศเวียดนามปีละ 1,745 ล้านดอลลาร์ โดยมีตลาดหลักที่ส่งออกปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป อาเซียน บราซิล เม็กซิโก จีน ซาอุดีอาระเบีย โคลอมเบีย และไทย เป็นต้น
 
                                  กระนั้นที่ผ่านมาเกษตรกรชาวเวียดนามมีการเลี้ยงตามมีตามเกิด เลี้ยงพื้นบ้านเดิมๆ  ขณะที่ตลาดยังต้องการสูง ทางซีพีเอฟ มองว่า ปลาชนิดนี้มีอนาคต แต่ผู้นำเข้าเน้นด้านคุณภาพที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในอาหาร ทางซีพีเอฟ จึงไปลงทุนด้านฟาร์มเลี้ยงที่ทันสมัยถึง 8 ฟาร์ม ในพื้นที่ 100 เฮกตาร์ หรือประมาณ 625 ไร่ บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรือแม่โขงเดลต้า อาทิ ที่ จ.หวิงลอง ด่องทับ อางยาง หวิ๋นลอง ซอคจาง และเบ๊นแตร ในนาม บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมกันนี้และโรงงานแปรรูปที่ทันสมัยที่ จ.เบ๊นแตร ด้วย
 
                                  "ในปีที่แล้วถือว่าเราเพิ่งเริ่มเลี้ยง สามารถผลิตได้ 1.4 หมื่นตัน ล่าสุดในปี 2557 สามารถผลิต แพนกาเซียส ดอร์รี่ ได้ทั้งหมด 3.2 หมื่นตัน ส่งออก 99% ไปยัง 20 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป อเมริกา อาเซียน จีน ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศไทย ถือเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปีหน้าจะสามารถผลิตปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ได้ 3.5 หมื่นตัน โดยปลาที่เลี้ยง ซี.พี.เวียดนามจะเป็นผู้แปรรูปทั้งหมด อนาคตเรามีแผนขยายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเวียดนามเลี้ยงอย่างถูกวิธีและทันสมัยตามที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ
 
                                  ด้าน นายธรรมนูญ จิวิริยะวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายธุรกิจครบวงจรปลา บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า ทางซี.พี. เวียดนาม ได้ใช้งบประมาณกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัส โรงงานแปรรูปปลาเนื้อแห่งใหม่ที่ จ.เบ๊นแตร เน้นการแปรรูปปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 และสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามแผนมีกำลังผลิตปีละ 4 หมื่นตัน ในปีนี้สามารถแปรรูปปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ 3.5 หมื่นตัน เน้นการแปรรูป 3 รูปแบบ คือ ปลาแช่แข็งแบบไอคิวเอฟ คือเนื้อปลาสดตัดแต่ง มีกำลังผลิต 1.8 หมื่นตัน ปลาแช่แข็งแบบบล็อก หรือปลาแปรรูปพร้อมรับประทาน มีกำลังผลิตปีละ 9,000 ตัน และปลาชุบแป้งไอคิวเอฟ 4,500 ตัน      
 
                                  ขณะที่ นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า การส่งออกปลาดอร์รี่ปี 2557 คิดเป็นมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท โดยกลุ่มปลาแปรรูปพร้อมรับประทาน 10% ของผลผลิต หรือประมาณ 1,400 ตันต่อปี แต่มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการแปรรูปขึ้นเป็น 30% ในปี 2558 หรือประมาณ 4,500 ตันต่อปี ซึ่งเต็มกำลังผลิตของโรงงานแปรรูป โดยตลาดปลาแปรรูปพร้อมรับประทานจะอยู่ในโซนของเอเชียก่อน อาทิ ญี่ปุ่น ไทย จีน ฮ่องกง ส่วนยุโรปจะเป็นเมนูฟิชแอนด์ชิพ เป็นต้น 
 
                                  นายสมบัติ สิริพันธ์วราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์น้ำจืด ซี.พี. เวียดนาม ฟาร์มปลาดอร์รี่ของ ซี.พี.ทั้งหมด 8 ฟาร์ม บอกว่า การเลี้ยงปลาที่เวียดนามจะใช้ระบบน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติช่วยถ่ายน้ำอัตโนมัติ เป็นผลดีต่อการเลี้ยงปลาดอร์รี่ที่จำเป็นต้องถ่ายน้ำทุกวัน โดยการเลี้ยงปลา 1 รอบการผลิตใช้เวลากว่า 10 เดือน เน้นปลามีขนาด 900-950 กรัม เป็นที่ต้องการของตลาด
 
                                  นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของซีพีเอฟในต่างแดน ที่น่าสนใจ และอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ว่า ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ อาจจะเลี้ยงในประเทศไทยได้
 
 
--------------------------
 
 
ข้อเท็จจริงปลาแพนกาเซียสดอร์รี่
 
 
                                  ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ถือเป็นปลาในกลุ่มแพนกาเซียส (Pangasius) หรือปลาสวายประเภทหนึ่ง ซึ่งมีปลาชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในตระกูลนี้ อาทิ ปลาบึก ปลาเทโพ ปลาเทพา และปลาคัง เป็นต้น หากแปลตามตรง Pangasius คือ ปลาสวาย แต่เป็นคนสายพันธุ์กับปลาสวายในประเทศไทย ที่ถือเป็นปลาสวายลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนแพนกาเซียส ดอร์รี่เป็นปลายสวายลุ่มน้ำโขง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Pangasius Hypophthalmus" มีเนื้อสีขาว รสชาติใกล้เคียงกับปลาจอห์น ดอร์รี่ แต่ราคาถูกกว่า จึงเป็นที่มาเรียกชื่อว่า ปลาดอร์รี่ อย่างติดปากมาเนิ่นนาน
 
                                  กระทั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิด ด้วยการออกหนังสือเรื่องแนวทางการแสดงฉลากเนื้อปลาสวาย หรือเนื้อปลาในตระกูลแพนกาเซียส โดยระบุให้ปรับแก้ไขการแสดงฉลากให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 ความว่า หากผู้ใดมีความประสงค์จะนำเข้าปลาสวายที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius Hypophthalmus เพื่อจำหน่าย ฉลากจะต้องแสดงชื่อภาษาไทยกำกับว่า "ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่" เช่นเดียวกัน หากผู้ใดมีความประสงค์จะนำเข้าปลาโมง หรือปลาเผาะ หรือปลาบึก ซึ่งเป็นปลาในตระกูล Pangasius เพื่อจำหน่าย ให้แสดงชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius spp ฉลากจะต้องแสดงชื่อภาษาไทยกำกับว่า "ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่" เช่นกัน
 
                                  สำหรับคุณค่าทางโภชนา พบว่า ปลาชนิดนี้อุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential Amino Acids) อย่างครบถ้วน, มีกรดไขมันจำเป็นอย่างโอเมก้า 3 วิตามินบี 2 ซึ่งร่างกายต้องใช้ในการเผาผลาญโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต, มีวิตามินดีที่กระดูกจำเป็นต้องใช้ในการสะสมแคลเซียม, มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และแมกนีเซียมด้วย
 
 
--------------------------
 
(ทำมาหากิน : 'แพนกาเซียสดอร์รี่' สวายลุ่มน้ำโขง ปลาเศรษฐกิจมาแรงในเวียดนาม : โดย...ดลมนัส กาเจ)