
เปิดชีวิตสุวิมล กุณะจันทร์จากนักเรียนครูตู้สู่ดอกเตอร์
เปิดชีวิตสุวิมล กุณะจันทร์จากนักเรียนครูตู้สู่ดอกเตอร์ : รติพร บุญศร 0 เรื่อง/ภาพ
"ทุกครั้งที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับในหลวง หรือเรื่องราวของพระองค์ท่าน จะมีเสียงหนึ่งที่ดังก้องในใจเราเสมอว่า "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ" ทุกอย่างในชีวิตจะประสบความสำเร็จไม่ได้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย จะได้เรียนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าไม่มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ถ้าไม่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทยใต้ร่มบรมโพธิสมภารของในหลวง ที่พระองค์ทรงงานหนักแล้วเห็นประชาชนทุกคน ไม่ว่าเราจะอยู่จุดเล็กแห่งไหนของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษาของเด็กที่เป็นกำลังของชาติ เรารู้สึกว่าเราโชคดีและเราก็สำนึกอยู่ตลอดเวลา" คำกล่าวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของ "ดร.สุวิมล กุณะจันทร์" หรือ "ปุ่ม" เจ้าหน้าที่อีเลิร์นนิ่ง ฝ่ายอบรมและพัฒนาครู มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ดร.สุวิมล เป็นคน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่มีลูกติดทั้งคู่ พออยู่กันกินก็ให้กำเนิด ดร.สุวิมล อาชีพหลักรับจ้างทั่วไปตามไร่สวนในพื้นที่ ดร.สุวิมล เรียนที่โรงเรียนบ้านแม่บงเหนือ จนจบ ป.6 พ่อเห็นว่าเรียนดี ขยัน ส่งเสริมให้เรียนต่อที่โรงเรียนวังชิ้นวิทยา จนจบชั้น ม.3 ช่วงที่เรียกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะได้เรียนหรือไม่ได้เรียน ระหว่างนั้น ดร.สุวิมล ได้ข่าวว่ามีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 เป็นโรงเรียนประจำ ที่ ต.แม่ยางตาล อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งห่างจาก อ.วังชิ้น ประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งฟรีหมดทุกอย่างแม้กระทั่งค่าผงซักฟอก จึงเดินทางไปสมัคร แต่ได้การตอบรับกลับมาว่าปิดรับสมัครแล้ว จึงได้ขอร้องครูเวรที่ประจำในวันหยุดว่าให้รับเข้าเรียนอีกแค่คนเดียว เป็นโชคดีที่ครูตอบตกลงรับและให้กรอกใบสมัครเข้าเรียน
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 ในตอนนั้นเพิ่งเปิดใหม่ ดร.สุวิมล เป็นรุ่นที่ 3 อาคารเรียนก็ยังไม่ครบ อาจารย์ก็มีน้อย ครูสอนไม่ตรงวิชาเอก แต่โรงเรียนก็มีการรับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ "ครูตู้" ในห้องเรียนขณะนั้นมีนักเรียนทั้งหมด 40 คน สภาพห้องเหมือนกับห้องเรียนทั่วไป แต่เพิ่มมาคือทีวีสองเครื่องซ้ายขวาหน้าห้อง ซึ่งครูจะล็อกช่องไว้ ตอนนั้นอยู่ ม.4 ก็จะเป็นช่อง DLTV10 พอถึงเวลาเรียนก็จะมีตัวแทนห้องคอยเปิดทีวีตามที่ครูสอนไว้ เพราะครูต้องดูแลนักเรียนอีกหลายห้อง
ดร.สุวิมล บอกเล่าความรู้สึกที่ได้เรียนกับครูตู้ว่า ก่อนหน้าที่จะเรียนกับ "ครูตู้" ก็เกิดความกังวลกลัวตัวเองเรียนไม่ทัน แต่พอได้เรียนไปเรื่อยๆ ก็เรียนทันจดทันเริ่มมีความสุขต่อการเรียนกับทีวี ถ้ามีคำถามในสมัยนั้นจะมีโทรศัพท์สายฟรีถ้านักเรียนปลายทางเกิดคำถามสามารถโทรมาถามยังครูต้นทางที่กำลังออกอากาศได้เลย แต่ที่โรงเรียนไม่มี ก็จะใช้วิธีจดคำถามเก็บไว้แล้วค่อยเอาไปถามครูที่โรงเรียน ก็จะอธิบายสิ่งที่ไม่เข้าใจให้ฟัง
"สิ่งที่ได้ติดตัวจากการเรียนกับครูตู้มา คือทำให้เป็นคนตรงต่อเวลา เพราะหากเราสายก็จะเรียนไม่ทัน ได้ความมีระเบียบวินัยการเรียนกับทีวีต้องควบคุมสมาธิตัวเองไม่ได้มีครูมาคอยจี้ว่าให้ตั้งใจเรียน เพราะครูตู้ไม่เห็นเรา และสิ่งสำคัญที่เราได้จากครูตู้คือทักษะการจดบันทึก การสรุปใจความสำคัญ ซึ่งจำเป็นมากในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพราะต้องเล็กเชอร์ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวเรา ได้มาปรับใช้ในชีวิตการทำงานด้วย" ดร.สุวิมล กล่าว
ดร.สุวิมล เล่าต่อว่า จบ ม.6 เกรดเฉลี่ยคือ 3.24 ทำให้ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาสงเคราะห์จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จากนั้นก็ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร ได้ทุนเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ พอจบก็ได้สอบชิงทุนเรียนต่อปริญญาโทที่เดิม ในคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ ในระหว่างนั้นก็ได้เข้ามาทำงานที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นเจ้าหน้าที่อีเลิร์นนิ่ง ในส่วนของสำหรับผู้เรียนในต่างประเทศ และได้รับความเมตตาจากท่านประธานมูลนิธิ คือคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ส่งเสริมให้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาเอก ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หรือ "ดอกเตอร์" อย่างที่หลายคนนิยมเรียก
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้เข้าเฝ้าฯ "ในหลวง" ถึง 3 ครั้ง ในฐานะนักศึกษาทุน และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ดร.สุวิมล กล่าวด้วยน้ำตาคลอ ว่า บรรยายเป็นความรู้สึกไม่ถูกเลย เพราะนั่นคือที่สุดของชีวิต เหลือบมองพระพักตร์แล้วน้ำตาก็ไหลออกมาไม่รู้ตัว เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่เข้าเฝ้าฯ เพราะเรารู้สึกโชคดีเหลือเกินที่มีพระองค์ ทำให้ได้มีโอกาสเรียนต่อ การได้เรียนกับครูตู้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในวันนี้ ยังมีเพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่ รุ่นน้องอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จจากการเรียนกับ "ครูตู้" ก็อยากให้มีการพัฒนาและขยายโอกาสไปยังนักเรียนที่ยังด้อยโอกาสทางการศึกษาในหลายๆ พื้นที่ต่อไป