
ดูแลสุขภาพ : โรคตับแข็ง...ควรระวัง
25 ธ.ค. 2557
ดูแลสุขภาพ : โรคตับแข็ง...ควรระวัง
ตับมีหน้าที่ทำลายสารพิษ หรือของเสียออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรค สร้างสารเพื่อให้เลือดแข็งตัว สร้างน้ำดีเพื่อย่อยอาหารและดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง เนื้อตับที่ถูกทำลายจะมีพังผืดแทรกและเบียดเนื้อตับที่ดีทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ตับน้อยลง
สาเหตุของโรคตับแข็ง
1.การดื่มสุรามากกว่า 160 กรัมต่อวัน เทียบเท่ากับสุราวิสกี้ 480 ซีซีต่อวัน ไวน์ 1,800 ซีซีต่อวัน เบียร์ 4 ลิตรต่อวัน เป็นเวลา 8-10 ปี ปริมาณของสุราที่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง แปรผันตามแต่ละบุคคล เพศ
2.ไวรัสตับอักเสบ บี, ซี
3.ภาวะดีซ่านเรื้อรัง จากท่อน้ำดีอุดตัน เนื่องจากนิ่วอุดตันท่อน้ำดี หรือเนื้องอกอุดตัน หรือเบียดท่อน้ำดี
4.ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ทำให้เลือดคั่งที่ตับ เลือดไหลเวียนในตับลดลง เนื้อตับเกิดภาวะขาดออกซิเจน ทำให้เซลล์ตับตาย
5.โรคตับอักเสบจากภูมิต่อต้านตนเอง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายตับตนเอง โรคนี้พบน้อย
6.โรคกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรควิลสัน มีการสะสมทองแดงในตับ hemochromatosis มีการสะสมเหล็กมากในตับ
7.โรคตับอักเสบจากไขมันสะสมที่ตับ พบในโรคไขมันสูง เบาหวาน อ้วน
อาการ
- ผู้ป่วยตับแข็งในระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อตับแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดอาการของโรคตับแข็ง ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้
- ถ้าอาการโรคเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการของโรคแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง เช่น บวม ตาเหลือง ตัวเหลือง สูญเสียความจำ อาเจียนเป็นเลือดจากการแตกของหลอดเลือดดำ ท้องมาน มะเร็งตับ ไตวาย
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อหาสิ่งแสดงว่าเป็นตับแข็ง เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องเท้าบวม ฝ่ามือแดง ตรวจการทำงานของตับ ตรวจอัลตราซาวนด์
การรักษา
- เมื่อเกิดโรคตับแข็งขึ้นแล้ว ในขณะนี้ยังไม่มียาใดๆ ที่สามารถให้ตับกลับมาเป็นปกติได้ นอกจากป้องกันไม่ให้ตับแข็งเป็นมากขึ้น โดยการรักษาสาเหตุ เช่น งดดื่มสุราจากรายที่มีสาเหตุจากสุรา รักษาไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ในรายที่เป็นไวรัสตับอักเสบ บีและซี
- ผู้ป่วยตับแข็งควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ควรได้อาหารครบถ้วน ควรหลีกเลี่ยงสารพิษต่อตับ เช่น สุรา ยาที่มีผลเสียต่อตับ เช่น พาราเซตามอล
- ในรายที่มีอาการบวม ขา หรือท้องมาน ควรลดการรับประทานเกลือ อาหารดองเค็ม น้ำปลา ซีอิ๊ว เพราะจะทำให้บวมมากขึ้น ในรายบวมมาก แพทย์จะสั่งยาขับปัสสาวะ เพื่อลดอาการบวม
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่มีข้อจำกัดที่มีค่าใช้จ่ายสูง และตับที่มีผู้บริจาคมีจำนวนน้อย ผู้ป่วยเปลี่ยนตับทานยากดภูมิคุ้มกันไปตลอด
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลธนบุรี