ไลฟ์สไตล์

'เครื่องอบแห้งปลา' ผลิตปลาตากแห้ง

'เครื่องอบแห้งปลา' ผลิตปลาตากแห้ง

06 ม.ค. 2558

ทำมาหากิน : 'เครื่องอบแห้งปลา' ผลิตปลาตากแห้ง นวัตกรรมเพื่อชุมชน 'มทร.ศรีวิชัย' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                           การผลิตปลาตากแห้งที่อาศัยธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักเจอปัญหาเรื่องขนย้ายหากสภาพภูมิอากาศไม่อำนวยแล้วยังต้องเจอพวกแมลงต่างๆ ที่เป็นพาหนะนำโรคมารบกวน ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ถูกสุขอนามัยก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่จากนี้ไปคงหมดปัญหาเมื่อทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) สงขลาและคณะ ภายใต้การนำของอาจารย์วสันต์ จีนธาดา หัวหน้าทีมงานวิจัย และคณะ จากสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้ในการผลิตปลาตากแห้ง ภายใต้ชื่อเครื่องอบแห้งปลาพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์ เพื่อใช้การแก้ปัญหาดังกล่าว 
 
                           "ปกติแล้วการผลิตปลาตากแห้งมีด้วยกัน 2 แบบ คือปลาตากแห้งแดดเดียวและปลาตากแห้งจนความชื้นของปลาเหลือตามความต้องการของท้องตลาด ซึ่งในกระบวนการผลิตปลาตากแห้งจนความชื้นของปลาเหลือตามความต้องการของท้องตลาดนั้นจะนำปลามาตากแดดตอนเช้าและเก็บเข้าที่รมตอนเย็นทุกวัน ตากแดดประมาณ 2-3 วัน ปลาถึงจะแห้งตามความต้องการ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย ซึ่งในขณะที่ทำการตากปลาแห้งนั้นก็ยังมีพวกแมลงต่างๆ ที่เป็นพาหะนำโรคและฝุ่นละออง มาสัมผัสกับปลาตากแห้งอาจทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยได้"
 
                           หัวหน้าทีมงานวิจัยยอมรับว่าจากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงได้มีแนวคิดสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำมาใช้ผลิตปลาตากแห้งแบบความชื้นของปลาเหลือตามความต้องการของท้องตลาดลดปัญหาเรื่องการขนย้ายปลาตากแห้งในการนำปลามาตากแดดตอนเช้าแล้วเก็บปลาเข้าที่ร่มในตอนเย็นลดปัญหาจากพวกแมลงต่างๆ ที่เป็นพาหะนำโรคและยังเป็นการส่งเสริมการนำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย 
 
                           "เครื่องอบแห้งปลาพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์นี้ เราได้นำมาทดลองการใช้งานในพื้นที่จริงด้วย โดยทดสอบกับกลุ่มชุมชนวังเขียววังขาว ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งผลิตปลาตากแห้งเป็นอาชีพหลักมีการนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน"
 
                           อาจารย์วสันต์เผยต่อว่า การผลิตปลาแห้งตามความต้องการที่ท้องตลาดกำหนด คือ เฉลี่ย 30% มาตรฐานแห้ง ซึ่งในการวัดมาตรฐานดังกล่าวโดยทั่วไปกลุ่มชาวบ้านจะใช้วิธีการสัมผัสถึงความนิ่มของเนื้อปลา แต่ในด้านการวิจัยจะมีเครื่องมือในการวัดอุณหภูมิ ซึ่งผลการทดลองผลิตปลาตากแห้งด้วยเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์จนความชื้นของปลาเหลือ 30% มาตรฐานแห้งพบว่าจะใช้เวลาน้อยกว่าการผลิตปลาตากแห้งด้วยการตากแดดโดยตรงเฉลี่ย 2 ชั่วโมง เนื่องจากการทำปลาตากแห้งด้วยเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์จะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 52 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 38%
 
                           ในขณะที่การทำปลาตากแห้งด้วยการตากแดดโดยตรงมีอุณหภูมิเฉลี่ย 36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 60% ส่วนคุณภาพของปลาตากแห้งด้วยเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์พบว่าจะมีสีขุ่นกว่าปลาตากแห้งด้วยการตากแดดโดยตรงเนื่องจากปลาตากแห้งด้วยเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์มีอุณหภูมิสูง จึงส่งผลให้เนื้อปลาตากแห้งมีสีขุ่นแต่เมื่อน้ำปลาตากแห้งมาทอดพบว่าปลาตากแห้งด้วยเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์กับปลาตากแห้งด้วยการตากแดดโดยตรงมีรสชาติและความกรอบเหมือนกัน
 
                           นับเป็นอีกนวัตกรรมที่จะช่วยย่นระยะเวลาให้ชาวบ้านในการประกอบอาชีพผลิตปลาตากแห้ง อีกทั้งยังป้องกันปัญหาจากพวกแมลงต่างๆ ที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่ปลาในขณะตากแห้งด้วย สนใจนวัตกรรมดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ทำมาหากิน : 'เครื่องอบแห้งปลา' ผลิตปลาตากแห้ง นวัตกรรมเพื่อชุมชน 'มทร.ศรีวิชัย' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)