'เด็กแอลดี'เรียนเขียนอ่าน'ไม่ยาก'
'เด็กแอลดี'เรียนเขียนอ่าน'ไม่ยาก'
ครู หรือพ่อแม่ส่วนใหญ่มักบอกว่า เด็กแอลดี สอนยาก แต่ถ้ารู้ทริก สอนให้ (เด็ก) คลิกไม่ใช่เรื่องยาก
ปัญหาส่วนใหญ่ของเด็กแอลดี (Learning Disabilities : L.D.) หรือ เด็กที่อยู่ในภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องไอคิวต่ำ ขี้เกียจเรียน แต่เพราะความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แสดงออกมาในรูปของปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ หรือทั้งหมดรวมกัน
คัชชาตา ธงสินธุศักดิ์ นักจิตวิทยาคลินิกเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า เด็กแอลดีจะไม่มีภาวะบกพร่องทางด้านสติปัญญา แต่จะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ เพราะว่าสมองการรับรู้ประสาทสัมผัสดี แต่พอมาถึงแปลความจะแปลความสับสน ทำให้พูดออกมากลับกัน สับสนซ้ายขวา ตัวหนังสือหัวเข้าหัวออก ใช้ไม้เอกไม้โทไม่ถูกต้อง
ก่อนอื่นคุณครูรู้ก่อนว่า ลูกศิษย์บกพร่องด้านใด และแก้ไขตามอาการ ซึ่งโดยมากมักออกอาการด้าน “ภาษา” เด็กที่อ่านไม่ออกมักจะเครียด ไม่อยากอ่านหนังสือ ไม่สบตาครู ไม่มั่นใจในการอ่าน เมื่อให้อ่านจะอ่านข้าม อ่านเพิ่ม อ่านคำอื่นแทน เดาคำ อ่านกลับหลัง ออกเสียงผิด อ่านช้ามาก อ่านสลับตัว
วิธีแก้ไข ทำโดยการมาร์คจุดผิด เพื่อให้เด็กได้แก้ไข ที่สำคัญคุณครูต้องไม่หัวเราะเวลาที่เด็กอ่านผิด เพราะเด็กเหล่านี้ต้องการกำลังใจมากที่สุด
วิธีช่วยเหลือครูต้องช่วยโดยทำ “ไฮไลท์ เน้นคำ” เพื่อให้อ่านได้ง่าย เมื่อเด็กอ่านได้คล่องแล้ว ก็ค่อยถอยความช่วยเหลือนี้ออก
“นอกจากนี้ให้เด็กได้อ่านออกเสียงวันละ 15 นาที ไม่เกิน 30 นาที เมื่อเขาอ่าน ตาเขาเห็นตัวหนังสือ จะทำให้เกิดกระบวนการจำจากสิ่งที่เห็น เสียงที่อ่านเกิดกระบวนการจำจากสิ่งที่เขาได้ยิน"
สำหรับความบกพร่องด้านการเขียน ปัญหาหลักมาจากการควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้ควบคุมขนาดของตัวอักษรไม่ได้ ลายมือไม่เป็นระเบียบ
ครูต้องฝึกความสัมพันธ์ของตากับมือ ให้มีความสัมพันธ์กันก่อนที่เด็กจะเขียนได้ เด็กต้องปั้น หยิบ ฉีกได้ กล้ามเนื้อนิ้วจะต้องมีการทำงาน ความสัมพันธ์ของตากับมือจะต้องเป็นอย่างไร หลักการช่วยเหลือ คือ ต้องเข้าใจว่า เขาไม่ได้แกล้ง ไม่ได้ขี้เกียจ แต่สาเหตุมาจากความผิดปกติของการประมวลสมอง
การสอนเด็กกลุ่มนี้คุณครูต้องแบ่งการสอนทีละขั้น และอาจจะต้องมี “หลังไมค์” เรียกเด็กมาสั่งงานอีกครั้งหลังจากสั่งงานรวมๆ เด็กในห้อง ซึ่งการพูด อธิบายหลายๆ ครั้งช่วยให้เด็กเข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ให้ใช้คำสั่งที่เฉพาะเจาะจง ชัดเจน สั้น ง่าย และควรมีตัวอย่างประกอบ ในกรณีที่มีคำสั่งยาวๆ ครูต้องตัดเป็นส่วนๆ เพื่อให้สามารถจับใจความสำคัญได้
สิ่งที่ครูต้องหลีกเลี่ยง คือ การให้งานเดี่ยว เพราะจะไม่มีโอกาสสำเร็จ เมื่อให้งานเป็นกลุ่มครูอาจจะเข้าไปแนะนำกระจัดการระบบการทำงานในกลุ่ม หรืออาจจะลดปริมาณงานเด็กกลุ่มแอลดี และเพิ่มเวลาในการแบบทดสอบให้มากขึ้น ครูอาจจะให้งานที่หลากหลายแตกต่างไประดับความสามารถของผู้เรียน หรือใช้เทคโนโลยี บอร์ดความรู้ ในการติดต่อข้อมูลที่ช่วยให้เด็กเข้าใจความคิดรวบยอดเนื้อหาในบทเรียน
สิ่งที่เด็กแอลดีต้องการคือกำลังใจ การคิดบวกช่วยได้ เด็กๆ มีจุดอ่อน ขณะเดียวกันก็มีจุดแข็ง ขอเพียงทำความเข้าใจ และให้โอกาสเด็กแอลดี “ทำได้” แน่นอน
ต้องการข้อมูล หรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเด็กบกพร่องการเรียนรู้ หรือสมาธิสั้น ดูได้ที่เว็บไซต์ www.manarom.com