ไลฟ์สไตล์

เปิดคู่แฝดความเหลื่อมล้ำ'คุณภาพการศึกษา-เศรษฐกิจ'

เปิดคู่แฝดความเหลื่อมล้ำ'คุณภาพการศึกษา-เศรษฐกิจ'

             เปิดคู่แฝดความเหลื่อมล้ำ “คุณภาพการศึกษา-เศรษฐกิจ” พบเด็กไทยเกือบครึ่งประเทศสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ เป็นสัดส่วนเดียวกับครัวเรือนยากจนครึ่งประเทศ ชี้แก้ปัญหาคุณภาพเด็กไทยต้องแก้ให้ลึกถึงรากของปัญหา การสอนในโรงเรียนต้องเตรียมพร้อมเด็ก 60% ก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน
 
             นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวภายหลังจากผู้แทนจากองค์การยูเนสโก ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สสค.และแลกเปลี่ยนสถานการณ์เด็กและเยาวชนของประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากข้อมูลการวัดผลระดับนานาชาติผ่านการสอบ PISA ปี 2555 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปี พบว่า เยาวชนไทยเกือบครึ่งประเทศสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ มีเพียง 8% เท่านั้นที่ได้คะแนนระดับดี (คะแนนระดับ 4-6) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลของมูลนิธิกองทุนไทย ปี 2554 พบว่า ครัวเรือนไทยถึง 50% มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,300-13,774 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวม 19% ของประเทศ ขณะที่ครัวเรือน 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้เฉลี่ย 90,000 บาทต่อเดือน ถือครองรายได้รวมถึง 38% ของประเทศ ประชากรกลุ่มรายได้สูงสุดของประเทศ 10% แรกนี้ ถือครองรายได้ถึง 2 เท่าของประชากรครึ่งประเทศ

             “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษากลายเป็นกลุ่มคนที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ หรือเรียกว่า เป็น “คู่แฝดความเหลื่อมล้ำทั้งคุณภาพการศึกษาและเศรษฐกิจ ดังนั้นการแก้ปัญหาคุณภาพเด็กไทยจึงต้องแก้ให้ลึกถึงรากของปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยมีมาตรการที่ไม่ให้ความยากจนเป็นอุปสรรคของโอกาสทางการศึกษา” นพ.สุภกร กล่าว

             ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า นอกจากนี้สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยต้องมองออกจากรั้วสถานศึกษา เพื่อทำให้เห็นภาพรวมของเด็กและเยาวชนทั้งหมด ซึ่งพบว่า ในจำนวนเด็กที่เกิดในรุ่นเดียวกันในแต่ละปี มีถึง 60% ที่ยุติการศึกษาในระดับ ม.6/ปวช.หรือต่ำกว่า มีเพียง 40% เท่านั้นที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เมื่อเด็กส่วนใหญ่ไปไม่ถึงอุดมศึกษา ในขณะที่หลักสูตรการจัดการศึกษามุ่งสอนเพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย คำถามที่ตามมาคือ การสอนในรั้วโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมแก่เด็กส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 60% ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานไว้อย่างไร ในขณะที่การเลือกเรียนสายอาชีวะของประเทศไทย ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดแรงงานก็ยังไม่เป็นที่นิยม ที่สำคัญเด็กที่เลือกเรียนสายอาชีวศึกษาก็เลือกเรียนสายบัญชี ธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการสายช่างเทคนิค

             "และโจทย์สำคัญคือ ลักษณะแรงงานไทย 60% เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีนายจ้างหรือสวัสดิการใดๆ ซึ่ง สสค.กำลังพัฒนาการทำงานร่วมกับจังหวัดเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานร่วมกับภาคธุรกิจ เพื่อนำมาปรับหลักสูตรในโรงเรียนให้ตอบสนองกับตลาดแรงงานในท้องถิ่น รวมถึงการศึกษาในระบบต้องผลิตครูแนะแนวเพื่อดูแลให้คำปรึกษาในเรื่องพฤติกรรม เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบและการแนะนำอาชีพต่อไป" ผู้จัดการ สสค. กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม