ไลฟ์สไตล์

กาดบ้านเก่า หัวเวียงใต้ ถนนคนเดินเมืองน่าน

กาดบ้านเก่า หัวเวียงใต้ ถนนคนเดินเมืองน่าน

08 มี.ค. 2558

ถิ่นไทยงาม : กาดบ้านเก่า หัวเวียงใต้ ถนนคนเดินเมืองน่าน

 
                              พูดถึงเมืองท่องเที่ยวตามหัวเมืองเก่าๆ เดี๋ยวนี้หลายแห่งจัดเป็นถนนคนเดิน เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาพบปะซื้อของจากพ่อค้าแม่ค้าพื้นเมือง ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้คนพื้นถิ่นมีรายได้จากการขายของ 
 
                              เมืองน่าน ที่ใครๆ บอกว่า น่านเนิบเนิบ หรือ น่านเนิบช้า จะอะไรก็แล้วแต่ ก็ยังจัดถนนคนเดินด้วยเหมือนกัน ในสไตล์เมืองน่าน ข้าวของที่นำมาวางขาย แม้จะมีพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว ของกิน ไม่ต่างจากตลาดทั่วไป แต่หน้าตาของสินค้าส่วนใหญ่ยังให้อารมณ์พื้นเมืองอยู่มาก  
 
                              ถนนคนเดินเมืองน่าน จัดขึ้นที่บริเวณหน้า วัดหัวเวียงใต้ ถนนสุมนเทวราช ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน ยาวไปจนถึง สามแยกสวนตาล ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ทุกวันเสาร์ โดยจะเปิดถนนเส้นหลัก แล้วตั้งโต๊ะขายของกันทั้ง 2 ข้างทาง และกลางถนน โดยโซนด้านหน้าวัดจะกันพื้นที่ไว้สำหรับตั้งโต๊ะขันโตก ใครเข้ามาเที่ยวงานจะซื้ออาหารมานั่งรับประทานกันได้แถวนี้  นั่งกับพื้น ดูรำไทยและฟ้อนแง้น จากนักศึกษาที่มาแสดงโชว์ แสะผลัดเปลี่ยนกันไปแต่ละชุด 
 
                              ถัดเข้าไปด้านในเป็นร้านขายอาหารและของกินเล่น มีสารพัดพื้นเมือง ทั้งข้าวจี่ ไข้ป้าม ข้าวกั้นจิ้น เป็นต้น สมัยใหม่ขึ้นมาก็เป็นพวกไก่อบโอ่ง โรตีมะตะบะ ข้าวเหนียวปิ้งแค่อันละ 2 บาทก็มี นอกจากนี้ยังมีพวงกุญแจทำมือ ลูกค้านั่งเลือกตั้งอักษร แม่ค้านั่งทำให้ทันที เครื่องเงินที่ขึ้นชื่อของเมืองน่าน มีมาขายในราคาไม่แพงนัก ลุงกับป้าคนขายบอกว่า เป็นคนทำเงินเอง แล้วยังมีพวกเสื้อรูปกว่าง หน้าตาคล้ายด้วงที่คนสมัยก่อนเอามาเล่นชนกันนั่นล่ะ 
 
                              เสื้อผ้าแบบสมัยใหม่และแบบพื้นเมือง ปลอกหมอน กระเป๋าใส่ของสไตล์รักน่าน มีวางขายให้เลือกซื้อกันตามสบาย แถมพ่อค้า แม่ค้ายิ้มแย้มแจ่มใส ริมฟุตบาทยังมีเด็กนักเรียนมานั่งเล่นดนตรีไทยขับกล่อม แลกกับสินน้ำใจแล้วแต่ใครจะหยิบยื่นให้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาของพวกเขาต่อไป 
 
                              แต่ทั้งหมดนี่เป็นการค้าขายในแบบใหม่ในสถานที่ที่เป็นตลาดเก่า ด้วยเพราะในอดีต บริเวณหน้าวัดหัวเวียง ได้ชื่อว่าเป็น "กาดบ้านเก่า หัวเวียงใต้" ถือเป็นย่านการค้า เพราะอยู่ใกล้กับท่าน้ำน่าน (ปัจจุบันเรียก ท่าน้ำศรีน่าน) ซึ่งจะมีพ่อค้าจากต่างอำเภอ เช่น ทุ่งช้าง ปัว ท่าวังผา นำสินค้าบรรทุกแพล่องมาตามลำน้ำน่าน มาขึ้นที่ท่านี้ พอขายของหมดก็ซื้อสินค้าจำเป็นกลับไปบ้าน หรือชาวบ่อเกลือจะบรรทุกเกลือบนหลังม้า หลังวัว นำมาขายที่หน้าวัดนี้เหมือนกัน ทำให้ย่านนี้คึกคักมาตั้งแต่อดีต โดยที่วัดเองก็จัดที่ทางให้คนต่างถิ่นได้พักแรมด้วย  
 
                              วัดหัวเวียงใต้ มีอายุมากกว่า 273 ปี ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนหลังคาทรงมะลิลา ซึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีต มีพระประทานเป็นปูนปั้นศิลปะแบบพม่าหน้าตัก 6 ศอก สูง 8 ศอก โดยหม่องส่า พ่อค้าไม้ชาวพม่าสร้างถวาย ซึ่งใน จ.น่าน เหลืออยู่แค่สองวัด คือที่วัดหัวเวียงใต้ และวัดกู่คำ อ.เมืองน่าน ส่วนกำแพงวัดก็มีอายุเก่าแก่กว่า 160 ปี มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัว เลื้อยอยู่บนกำแพง ตัวโบสถ์ด้านหน้ามีลาดลายจิตรกรรมฝาผนังดูสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืนของวันที่มีถนนคนเดินจะเปิดไฟส่องสว่างดูสวยงาม 
 
                              อารมณ์ใหม่ๆ ที่เสริมเข้ามา ช่วยให้สถานที่เดิมๆ เติมเต็มได้ แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม