ไลฟ์สไตล์

ดูแลสุขภาพสตรี เริ่มที่ระบบประจำเดือน (จบ)

20 มี.ค. 2558

ดูแลสุขภาพ : ดูแลสุขภาพสตรี เริ่มที่ระบบประจำเดือน (จบ)

 
                            โดยธรรมชาติแล้ว สตรีจะมีความแตกต่างต่างจากบุรุษ และมีความเปลี่ยนแปลงของเลือดลมได้ง่ายกว่า ในสมัยก่อนความแข็งแรงของผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ซึ่งต้องใช้กำลังและความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมถึงยังต้องดูแลครอบครัวและตั้งท้อง ซึ่งล้วนแล้วต้องการการดูแลทั้งสิ้น ดังนั้น จึงมียาตำรับเพื่อการดูแลสุขภาพของสตรี หรือยาบำรุงสตรี เกิดขึ้นมากมาย และมีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน เช่น 
 
                            ใช้แก่นฝางตากแห้ง 1 ชิ้น ขนาด 3 นิ้ว น้ำประมาณ 1 ลิตร ต้มหลังจากน้ำเดือดประมาณ 15-20 นาที จนได้น้ำฝางสีแดง ดื่มเป็นประจำ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดเสมหะ เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี
 
                            ใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอม อย่างละเท่ากัน ต้มกิน บำรุงร่างกายได้ทั้งสตรีและบุรุษ แก้ประดง
 
                            ใช้ดอกคำไทย ดอกคำฝอย แก่นฝางเสน ทำเป็นผงละลายด้วยน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาว อาจผสมน้ำผึ้งลงไปด้วย กินครั้งละประมาณครึ่งช้อนชา วันละ 3 เวลา
 
                            ใช้อีเลี่ยน (ชะเอมไทย) เฮื้อนกวาง (ตัวเต่าต้น) เอนอ้าขน ยาหัว อ้อยสามสวน อย่างละเท่าๆ กัน ต้มกินเช้า เย็น
 
                            ใช้รากเอนอ้าขาว รากเอนอ้าแดง รากกะเบื้อขาว ต้มกินเป็นประจำ  
 
 
ตำรับยาบำรุงหลังคลอด เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังนี้
 
                            ยาอบ-อาบหลังคลอด
 
ตำรับยาอบ
 
                            ตำรับที่ 1 ใช้ใบตะไคร้เครื่องแห้ง (ตะไคร้หอม) ใบแมงลักแห้ง ใบตะไคร้แห้ง ใบเปล้าแห้ง ใบหนาดแห้ง อย่างละ 1 กำมือ ใบมะนาวแห้ง ใบมะกรูดแห้ง ใบส้มโอแห้ง ต้มอบ
 
                            ตำรับที่ 2 ใช้ใบหนาดสด ใบเปล้าสด ใบผีเสื้อ (คนทีสอ) สด ใบบูอา อย่างละ 1/2 กก. ต้มอบ
 
                            ตำรับที่ 3 ใช้ใบและรากพวงพี อย่างละ 1/2 กำมือ ใบและรากสะมัด ใบและรากส่องฟ้า ต้มอบ
 
ตำรับยาอาบ
 
                            ตำรับที่ 1 ใช้ใบข่า ใบยอ ใบตะไคร้หอม ใบกล้วยแห้ง ต้มอาบ
 
                            ตำรับที่ 2 ใช้ใบข่า ใบเตย หัวเปราะ พิมเสนต้น ต้มอาบ
 
                            ตำรับที่ 3 ใช้ตองกล้วยตีบแห้ง ใบมะขาม ใบหนาด ใบเปล้า ต้มอาบ อาบได้ทั้งแม่ทั้งลูก คนทั่วไปก็อาบได้
 
                            ตำรับที่ 4 ใช้ใบหนาด ใบเปล้า ขมิ้นขึ้น ว่านไพล ใบเตย ว่านไพลใจดำ ยาหัว ว่านหอม แหน่งหอม ใบส้มป่อย ใบมะขามป้อม ใบส้มลม ใบส้มกบ เปลือกดู่ เปลือกแดง ต้มอาบ
 
                            ตำรับที่ 5 ใช้ใบมะขาม ต้มอาบ
 
                            ยารมด้วยหญ้ายุ้ม โดยนำหญ้ายุ้มต้มในหม้อ ให้แม่หลังคลอดนั่งเหนือไอ จะช่วยให้ช่องคลอดกระชับ
 
                            ใช้เสน่ห์จันทร์ขาว นำเหง้าตากแดด 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร พอเดือดหรี่ไฟ ต้มต่อไปอีก 15 นาที ยกลง กินครั้งละครึ่งแก้ว เช้า เย็น เป็นประจำ ในช่วงหลังคลอด 20-40 วัน เพื่อบำรุงแม่หลังคลอด ช่วยกระชับ นอกจากนี้ยังใช้ทำลูกประคบ โดยนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ วางบนผ้าขาว แล้วนำหินกลมเท่ากำปั้นมาเผาไฟจนร้อนแล้วนำมาทับบนสมุนไพรที่สับไว้ห่อรวมกัน ใช้ประคบสตรีหลังคลอด
 
                            ใช้ขมิ้นชันหรือกูยิ ซึ่งชาวมุสลิมจะให้สตรีหลังคลอดทุกคนรับประทาน โดยเมื่อคลอดหมอตำแยจะนำขมิ้นที่เตรียมไว้แล้วให้รับประทานทันที และรับประทานตลอดระยะเวลา 40 วัน โดยการตำขมิ้นให้ละเอียดแล้วผสมน้ำเล็กน้อยให้ดื่ม
 
 
ภาวะหมดประจำเดือน (Menopause)
 
                            ส่วนสตรีวัยหมดประจำเดือน จะมีความเปลี่ยนแปลงของสมดุลร่างกาย เนื่องจากความไม่สมดุลของธาตุ โดยเฉพาะธาตุลม ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะทางอารมณ์และร่างกายที่ปรวนแปร มีอาการเหงื่ออกกลางคืน ประจำเดือนไม่ปกติ น้ำหนักขึ้น ปวดเต้านม ปวดหัว นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดแห้ง อ่อนเพลีย ความจำและสมาธิสั้นลง กระดูกบางลง ไม่ควรรับประทานอาหารที่เย็นหรือร้อนเกินไป ไม่ควรอยู่ในสภาวะเครียด ไม่อยู่ในที่เย็นหรือร้อนเกินไป ควรรับประทานอาหารที่สมดุล รักษากายใจให้สมดุล ได้รับแสงแดดที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรมีการปรับสมดุลของธาตุลมในอยู่ในภาวะปกติ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทยจะใช้สมุนไพรที่มีรสสุขุม
ภาวะหลังหมดประจำเดือน
 
                            ในวัยหลังหมดประจำเดือน ธาตุทุกธาตุในร่างกายจะอ่อนกำลังลง สตรีในวัยนี้จะมีการทนร้อน ทนหนาว ทนความเครียดได้น้อยลง ผิวแห้ง เกิดความเสื่อมไปทุกระบบ ท้องอืดง่าย ปัสสาวะคั่ง ท้องผูกง่าย การทรงตัวไม่ดี อารมณ์เปราะบาง โดยมีข้อควรงดและข้อควรปฏิบัติเช่นเดียวกับภาวะหลังหมดประจำเดือน และมีสมุนไพรที่แนะนำ คือ
 
                            ใช้รากสามสิบต้มกิน หรือแช่อิ่มกิน
 
                            ใช้ยอจิ้มเกลือ หรือยอกวนกับพริกไทยตามตำรับกุลกา
 
                            ใช้มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก กระพังโหม ต้มรวมกัน รับประทานเป็นประจำ
 
                            รับประทานยาหอมที่มีรสร้อน ยกตัวอย่างเช่น ยาหอมนวโกฐ เป็นต้น
 
                            อย่าให้ผิวแห้ง โดยทาผิวด้วยน้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าวอย่างสม่ำเสมอ
 
                            รับประทานสมุนไพรอย่าง บัวบก ขิง ขมิ้น พริกไทย เป็นประจำ