
ผักเชียงดา...นักฆ่าน้ำตาล
27 มี.ค. 2558
ดูแลสุขภาพ : ผักเชียงดา...นักฆ่าน้ำตาล
ผักเชียงดา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema innodorum (Lour.) Decne. อยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE ชื่ออื่นๆ คือ ผักจินดา ผักเซียงดา ผักเซ็ง ม้วนไก่ ผักว้น เครือจันปา ผักอีฮ่วน ผักฮ่อนไก่ เป็นไม้เถา น้ำยางใส ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ สีเหลืองง่อมส้ม ผลรูปหอก ขยายพันธุ์โดยการชำเถาที่แก่ และตัดจากลำต้นเลื้อยจากต้นแม่ที่มีหน่ออ่อนงอก
ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่มักขึ้นในป่าทางภาคเหนือของประเทศไทย และยังพบในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ศรีลังกา เวียดนาม แอฟริกา ผักเชียงดาที่ขึ้นในป่าจะมีรสขมกว่า ใบใหญ่กว่า และสีของใบจะเข้มน้อยกว่าพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกเป็นผักเพื่อบริโภค
ภาษาฮินดู เรียกผักเชียงดาว่า Gurmar แปลว่า ผู้ฆ่าน้ำตาล ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อลองเคี้ยวใบแก่ของผักเชียงดา แล้วลองชิมน้ำตาลทรายดู รสขมนิดๆ เฝื่อนติดลิ้นของผักเชียงดา ทำให้แทบไม่รู้รสของน้ำตาลทรายเลย และรสชาติของผักเชียงดายังติดลิ้นอยู่นาน ทำให้พลอยไม่อยากอาหารอย่างอื่นไปด้วย แต่หากเอามาผัดหรือแกงรวมกับผักอื่นๆ กลับทำให้รสชาติของผักอื่นๆ ดีขึ้น
หมอไทยใหญ่ เล่าว่า ผักว้น (ผักเชียงดา) เป็นยาแก้หลวง คือ รักษาโรคและอาการได้หลายอย่าง สรรพคุณยังคล้ายฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ แก้แพ้ แก้เบาหวาน หน้าแล้งจะขุดรากมาทำยา หน้าฝนจะใช้เถาและใบ โดยสับตากแห้งบดชงเป็นชาดื่ม นอกจากนี้ ยังใช้แก้แพ้ กินของผิด ฉีดยาผิด เวียนศีรษะ แก้ไข้สันนิบาต (ชักกระตุก) หรือเมื่อเกิดอาการคิดมาก มีอาการจิตฟั่นเฟือน ใช้รักษาอาการท้องผูกโดยการแกงผักเชียงดารวมกับตำลึงและยอดชะอมกิน นิยมกินในหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย
ตำรับยา
ตำรับยาแก้ไข้ ใช้รากผักเชียงดา รากเท้ายายหม่อม รากโกฏจุฬาลัมพา รากหรือตาต้นไผ่ไร่ขนาดเท่ากัน สับ ตาก บดเป็นผง ชงดื่มแก้ไข้
ตำรับยาแก้หย่อง (อาการจิตฟั่นเฟือนเป็นช่วงๆ) ใช้รากหน้าแล้งช่วงออกดอก สับตาก บดผงชงน้ำดื่ม
ตำรับยาแก้ไข้ แก้เบาหวาน ใช้ราก เถา หรือ ใบ ตากแห้ง บดชงเป็นชาดื่ม
ตำรับยาแก้แพ้ แก้กินผิด แก้อาการพะอืดพะอมอยากจะอาเจียน ให้เอาใบผิงไฟ แล้วแช่น้ำอุ่น บิดเอาน้ำกิน หรือเอารากของผักเชียงดามากัดกิน ยอดอ่อนและใบของผักเชียงดา นำมารับประทานเป็นผัก มีรสขมอ่อนๆ และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก โดยในผัก 100 กรัม มีวิตามินซี 153 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 5,905 ไมโครกรัม และวิตามินเอ 984 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุและสารโภชนาการอื่นๆ เช่น แคลเซียม 78 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร Crude fiber 2.5 กรัม โปรตีน 5.4 กรัม ไขมัน 1.5 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 8.6 กรัม
ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจผักเชียงดาของไทยเป็นอย่างมาก มีการนำเข้าใบและยอดอ่อนของผักเชียงดาจากประเทศไทย เพื่อนำไปผลิตเป็นชาชงสมุนไพร (Herbal tea) ใช้ชงดื่มเพื่อลดน้ำตาลในเลือด
ในอินเดียและประเทศในแถบเอเชียใช้ผักเชียงดาเป็นยารักษาเบาหวานมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว gymnemic acid สารสำคัญซึ่งสกัดมาจากรากและใบของผักเชียงดา ซึ่งมีรูปร่างเหมือนน้ำตาลกลูโคส จึงไปจับเซลล์รีเซพเตอร์ในลำไส้ ป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล The U.S. National library of Medicine (NLM) and the National Institutes of Health (NIH) พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า ผักเชียงดาสามารถที่จะช่วยคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งชนิดพึ่งอินซูลิน (type 1) และไม่พึ่งอินซูลิน (type 2) ได้ เมื่อให้ร่วมกับอินซูลินและยารักษาเบาหวานอื่นๆ และยังมีรายงานว่า มีบางรายใช้ผักเชียงดาตัวเดียวในการคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องบอกแพทย์ให้ทราบ เมื่อกินผักเชียงดาช่วยคุมเบาหวาน เพื่อที่จะลดอินซูลินและยาลง
ในคนปกติ การรับประทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาลสูงๆ หากรับประทานผักเชียงดาร่วมด้วย จะช่วยให้มีการนำน้ำตาลไปเผาผลาญมากกว่าการนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ด้วยกลไกนี้ การรับประทานผักเชียงดาจึงทำให้มีการสร้างมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น แคปซูลผักเชียงดายังถูกแนะนำให้เป็นสารช่วยลดน้ำหนักจากธรรมชาติอีกด้วย และยังพบว่ามีรายงานการศึกษาว่าผักเชียงดาสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการรับประทานผักเชียงดาจะช่วยในการลดคอเลสเตอรอลและไตรกรีเซอไรด์ แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ยังต้องการการวิจัยทางคลินิกสนับสนุนเพื่อยืนยันให้มากกว่านี้
แคปซูลผักเชียงดายังมีวางขายในร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในรูปแบบของผงแห้งที่มีการควบคุมมาตรฐานของ gymnemic acid ต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ซึ่งใน 1 แคปซูลส่วนใหญ่จะมีผงยาของผักเชียงดาอยู่ 500 มิลลิกรัม การศึกษาในคนพบว่าใช้สารออกฤทธิ์ประมาณ 400-600 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 8-12 กรัม ของผงแห้งต่อวัน โดยรับประทานครั้งละ 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหาร
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร