ไลฟ์สไตล์

เทคนิคใหม่ผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแผลเล็ก

เทคนิคใหม่ผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแผลเล็ก

31 มี.ค. 2558

ดูแลสุขภาพ : เทคนิคใหม่ผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแผลเล็ก

 
                          โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุหรือจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาการจะเริ่มจากการปวดหลังบริเวณเอว ปวดขา เดินลำบาก ปวดเมื่อย มักจะปวดมากเวลานั่งนานๆ หรือเดินไกลๆ และจะมีอาการปวดมากหลังจากที่เดินไปสักระยะ เมื่อมีการเคลื่อนตัวของกระดูกมากขึ้นจนมีการกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ปวดร้าวลงขา ขาชาหรือมีความรู้สึกเหมือนเข็มตำบริเวณขาหรือเท้า กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ซึ่งอาการมักจะเป็นที่ขาทั้ง 2 ข้าง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลัง 
 
                          เรื่องโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนว่า “กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือคนที่มีน้ำหนักตัวมาก กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง ใช้กล้ามเนื้อผิดประเภท กลุ่มคนที่ใช้งานในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น นั่งนานๆ ไม่มีการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกระดูกสันหลังจะรับน้ำหนักมากขึ้นทำให้เกิดความเสื่อมเร็ว จึงเกิดโรคนี้ได้เร็วขึ้นแต่โรคนี้มักพบในวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ ช่วงอายุ 40-50 ปี เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อม 
 
 
 
การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
 
 
                          ด้านการรักษาถ้าเพิ่งเริ่มเป็น อาการไม่มาก รักษาด้วยการรับประทานยาและให้ลดน้ำหนัก พร้อมกับรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ปลาเล็ก กระดูกอ่อน เม็ดยาแคลเซียม เป็นต้น  
 
                          ในส่วนของผู้ที่มีอาการหนักสังเกตได้จากขาทั้งสองข้างมักปวดเหมือนไฟช็อต เนื่องจากเส้นประสาทด้านหลังถูกกดทับจากกระดูกสันหลังที่เคลื่อนตัว จึงต้องทำการผ่าตัด ซึ่งเดิมการผ่าตัดแผลผ่าตัดจะเป็นแนวยาวกว่า 1 คืบ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียเลือดมากและเจ็บมาก เนื่องจากต้องยกกล้ามเนื้อที่ติดอยู่กับกระดูกออกเพื่อยึดสกรูกับกระดูกสันหลังให้เข้าที่เหมือนเดิม 
 
 
 
วิวัฒนาการที่ก้าวไป
 
 
                          ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เหมือนในอดีต การผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบเปิดแผลเล็ก (Transforaminal lumbar interbody fusion หรือ TLIF) โดยมีกล้องขนาดเล็กส่องภายในเพื่อหาบริเวณที่กระดูกเคลื่อนก่อนจะนำสกรูเข้าไปยึดกระดูกใหม่ โดยใช้การเจาะผิวหนังเป็นแผลเล็ก ทำให้ไม่เจ็บปวดมากและไม่ต้องเสียเลือดจากการผ่าตัดมากเหมือนก่อน เหมาะกับคนไข้ที่มีอายุมาก หลังจากผ่าตัดเสร็จสามารถเดินได้ทันที ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ต้องพักฟื้นนาน ขณะเดียวกันแผลเล็กจะทำให้เชื้อโรคเข้าบาดแผลได้น้อยลงกว่าแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ในวันรุ่งขึ้น
 
                          อย่างไรก็ตาม หากต้องการหลีกเลี่ยงการเป็นโรคกระดูกสันหลัง ควรหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ต้องควบคุมน้ำหนักตัว และอย่านั่งท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า นอกจากนี้ต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังแข็งแรง สิ่งเหล่านี้จะช่วยพยุงกระดูกสันหลังไว้ได้ และจะช่วยป้องกันภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง 
 
 
 
 
นพ.ธีรชัย  ผาณิตพงศ์  
 
ศัลยแพทย์ด้านสมอง และกระดูกสันหลัง