ไลฟ์สไตล์

'แพรวา' ผ้าไหมทอมือชนเผ่าภูไท ผ่านออกแบบลายทายาท 'ครูช่าง'

01 เม.ย. 2558

ทำมาหากิน : 'แพรวา' ผ้าไหมทอมือชนเผ่าภูไท ผ่านออกแบบลายทายาท 'ครูช่าง' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                          ไหมแพรวา ได้ชื่อว่าสุดยอดผ้าไหมทอมือของชนเผ่าภูไทที่มีฝีมือการถักทออันประณีต โดยมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ที่ผ่านการสานต่อมาหลายชั่วอายุคน จนปัจจุบันได้มีการนำลวดลายอันทันสมัยโดยผ่านคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของชนเผ่า
 
                          จิตนภา โพนะทา หรือนก ลูกสาวของครูช่างวรรณภา โพนะทา หรือป้าตุ๋ เจ้าของร้าน "ตุ๊แพรวา” (TUHPRAEWA) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ถือคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญในการสานต่อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ด้วยการหันมาเอาดีทางด้านออกแบบลวดลายผ้าไหม หวังสืบสานงานฝีมือของชนเผ่าภูไทให้เป็นที่รู้จักของคนไทยและทั่วโลก
 
                          “แพรก็คือผ้าไหมนี่แหละ คนภูไทเขาจะเรียกแพรวา แพรวาดั้งเดิมมาจากแพรและวา แต่ละผืนมีความยาวแค่วาเดียว นิยมใส่ในงานมงคล เช่นงานบวช งานแต่ง ผู้หญิงจะใช้เป็นสไบพาดไหล่ ส่วนผู้ชายใช้คาดสะเอว มีที่กาฬสินธุ์ที่เดียว หมู่บ้านโพน อ.คำม่วง จะทอกันมากที่สุด ส่วนที่อื่นก็จะไม่ใช่ผ้าไหมแพรวา”
 
                          จิตนภาย้อนอดีตไหมแพรวาที่ปัจจุบันกลายเป็นแพรหลายวาที่ถักทอขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลายไม่ใช่แค่ใช้เป็นผ้าสไบหรือผ้าคาดสะเอวเท่านั้น จุดเด่นของไหมแพรวานอกจากเป็นผ้าทอมือที่ประณีตสวยงามแล้ว ลวดลายก็เป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาดให้ได้รับความสนใจจากลูกค้า
 
                          จากอดีตที่แค่ลายข้าวหลามตัด แต่ปัจจุบันกลับมีให้เห็นลวดลายที่หลากหลายมากขึ้น หลังเด็กสาวจากหมู่บ้านโพน แหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาแห่งเดียวในประเทศไทยได้มุ่งมั่นในการศึกษาออกแบบลวดลายสมัยใหม่เพื่อนำเอาไปพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่บ้านเกิด
 
                          เธอเล่าว่าหลังจบมัธยมศึกษาก็เข้าศึกษาต่อที่คณะคหกรรมศาสตร์ สาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นคณะวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร แล้วมาต่อในระดับปริญญาโทด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยออกแบบลวดลายผ้าและหาตลาดเพื่อจำหน่าย โดยรับสินค้ามาจากหมู่บ้านโพน อ.คำม่วง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีอาชีพทอผ้าไหมเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว
 
                          “ผ้าไหมแพรวาเมื่อก่อนจะเป็นลายเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ข้าวหลามตัด พอเวลาเราเรียนเรื่องผ้า เราเห็นลวดลายของต่างประเทศเยอะ อย่างอินเดียมันดูโค้งๆ สวยๆ จัง ทำไมของบ้านเราข้าวหลามตัด”
 
                          จิตนภาเผย จากนั้นก็มุ่งมั่นในการเรียนรู้ในเรื่องการออกแบบลายในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยออกแบบใส่กระดาษกราฟ ก่อนนำไปแกะแล้วต่อให้ชาวบ้านทอผ้าตามลายที่กำหนด โดยเริ่มจากลายดอกไม้ ลายพุ่มดอกไม้ ลายก้ามปู ลายดอกผักแว่น เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10 ลายที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า
 
                          “เราได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าว่าทำไมผ้าไหมแพรว่าใส่แล้วดูอ้วน ก็เพราะเป็นข้าวหลามตัด ก็คือเหตุผลที่เราพยายามให้มีลายที่หลากหลาย นี่คือจุดเด่นของเราก็คือเรื่องลายผ้า” 
 
                          ไม่เพียงแค่การออกแบบลายผ้าเท่านั้น แต่เธอยังมีความสามารถในการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าผ้าไหมแพรวา โดยมุ่งเป้าไปที่ห้างสรรพสินค้าดังเพื่อสนองลูกค้าในระดับไฮเอนด์ หลังจากครอบครัวเปิดร้านจำหน่ายผ้าไหมแพรวาที่ดิโอลด์สยาม ภายใต้ชื่อตุ๊แพรวา ซึ่งได้รับการต้อนรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
 
                          จากนั้นเธอก็ออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นกระเป๋าหลากสไตล์ โดยใช้วัตถุดิบจากเศษผ้าเหลือใช้จากการตัดเย็บมาทำเป็นกระเป๋าสำเร็จรูปส่งจำหน่ายที่ร้านคิงเพาเวอร์ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าชาวต่างชาติ ส่วนราคากระเป๋าก็มีตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน 
 
                          “บางผืนที่ราคาหลักแสนต้องใช้ระยะเวลาการทอเป็นปี สินค้าที่นำมาขาย เราไม่ได้ผลิตเอง ชาวบ้านโพน อ.คำม่วง เป็นผู้ผลิต เราเพียงเป็นผู้ทำตลาดให้ชาวบ้าน โดยแม่เป็นครูช่างของจังหวัดและเป็นผู้บุกเบิกตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ ดังนั้นรายได้จากการขายก็จะลงไปสู่ชาวบ้าน เป็นรายได้ของคนในชุมชนอีกด้วย” จิตนภากล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
 
 
---------------------
 
(ทำมาหากิน : 'แพรวา' ผ้าไหมทอมือชนเผ่าภูไท ผ่านออกแบบลายทายาท 'ครูช่าง' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)