ไลฟ์สไตล์

บำเหน็จบำนาญกับบำเหน็จรายเดือนต่างกัน

บำเหน็จบำนาญกับบำเหน็จรายเดือนต่างกัน

09 เม.ย. 2558

เปิดซองส่องไทย : บำเหน็จบำนาญกับบำเหน็จรายเดือนต่างกัน

 
                           ผมมีความข้องใจแต่ไม่รู้จะถามใคร อ่านหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" เจอคอลัมน์ "เปิดซองส่องไทย" มีคำถามคำตอบ และตอบจบในวันเดียวเลย จึงอยากให้ลุงแจ่มช่วยเป็นสื่อกลาง ช่วยถามกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้ผมด้วย ผมมีความข้องใจและมีปัญหากับ คำว่า บำเหน็จบำนาญ และบำเหน็จรายเดือน นั้นแตกต่างกันอย่างไร
 
                           ผมจะเล่าประวัติโดยสังเขปของตัวผมดังนี้ ผมรับราชการเป็นลูกจ้างประจำของสถานศึกษาของรัฐแห่งหนึ่ง เกษียณอายุเมื่อ พ.ศ.2553 และผมรับเงินแบบบำเหน็จบำนาญ แต่กรมบัญชีกลาง กลับเรียกว่า บำเหน็จรายเดือน (เป็นลูกจ้างประจำ) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 คำสั่งของ คสช.ได้ประกาศว่า ผู้รับเงินเดือน บำเหน็จบำนาญต่ำกว่า 9,000 บาท ให้ได้รับเป็น 9,000 บาททุกคน ปัจจุบันผมรับบำเหน็จรายเดือน เดือนละ 7,500 กว่าบาทเท่านั้นเอง ยังได้ไม่ถึง 9,000 บาทเลย หรือคำว่าบำเหน็จรายเดือนไม่มีสิทธิรับเพิ่ม
 
                           จึงอยากทราบว่า บำเหน็จบำนาญ และบำเหน็จรายเดือน นั้น แตกต่างกันอย่างไร เพราะอะไรถึงต้องแตกต่างกันด้วย ก่อนเกษียณผมมีสิทธิเบิกได้ทุกอย่างเหมือนข้าราชการทั่วๆ ไป ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล ภรรยา ลูก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้หมด หลังจากเกษียณแล้วเบิกอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ตัวเองเข้าโรงพยาบาลยังต้องไปทำบัตรผู้สูงอายุใช้เลย นี่หรือลูกจ้างประจำของรัฐที่ทุ่มเททำงานให้แก่รัฐมาทั้งชีวิต
 
                           วิงวอนท่านหัวหน้า คสช. ท่านนายกรัฐมนตรี ช่วยสั่งกระทรวงการคลัง หรือกรมบัญชีกลางให้ด้วยเถิดว่าให้ได้รับเงินตามที่มีคำสั่งของ คสช. เพราะจะทำให้ผมมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็ยังดี
 
                           ผมเคยโทรไปถาม 1111 ก็มีเสียงผู้หญิงรับสาย พูดว่าขออภัยเจ้าหน้าที่กำลังทำงานอยู่ ผมโทรไปหลายครั้งแล้วก็เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ซึ่งทำให้ผมต้องเสียเงินกับการโทรศัพท์ถาม 1111 อยู่หลายบาทเหมือนกัน และก็ไม่ได้ทำให้ผมได้เข้าใจอะไรเลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะโกหกกันทำไม
 
 
ประเสริฐ
 
 
ตอบ
 
 
                           กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วขอเรียนชี้แจง ดังนี้
 
                           1.สิทธิในบำเหน็จบำนาญเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนความชอบให้แก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ส่วนบำเหน็จรายเดือนเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำที่ออกจากงาน ซึ่งเดิมระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ.2519 กำหนดให้ลูกจ้างประจำที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับเฉพาะบำเหน็จซึ่งเป็นเงินก้อนที่จ่ายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีสิทธิได้รับบำนาญเหมือนเช่นข้าราชการ 
 
                           แต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างประจำที่ออกจากงานแล้วให้เพิ่มมากขึ้น โดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2552 กำหนดให้ลูกจ้างประจำที่ออกจากงานและมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และมีสิทธิได้รับบำเหน็จปกติแล้วสามารถแสดงความประสงค์ขอรับบำเหน็จรายเดือนแทนได้ โดยบำเหน็จรายเดือนจะคำนวณจากบำเหน็จปกติหารด้วย 50 และจะจ่ายให้ต่อเนื่องไปทุกเดือนจนกว่าผู้รับบำเหน็จรายเดือนจะถึงแก่ความตาย บำเหน็จรายเดือนจึงมิใช่บำนาญ สิทธิของผู้รับบำเหน็จรายเดือนจึงมีความแตกต่างกับสิทธิในบำนาญของข้าราชการในบางประการ
 
                           2.อย่างไรก็ดีแม้บำเหน็จรายเดือนจะมิใช่บำนาญ แต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้รับบำเหน็จรายเดือนมีสิทธิที่ใกล้เคียงกับผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้นแล้วหลายประการ ได้แก่ 
 
                           การกำหนดให้ในกรณีที่ผู้รับบำเหน็จรายเดือนถึงแก่ความตาย ทายาท มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจำนวน 15 เท่าของบำเหน็จรายเดือนที่ได้รับอยู่ได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2554 และการกำหนดให้ผู้รับบำเหน็จรายเดือนสามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับลูกจ้างประจำ จึงได้ดูแลให้ได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเหมาะสมและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
 
                           สำหรับข้อร้องเรียนให้มีการปรับบำเหน็จรายเดือนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการปรับเงินเดือน หรือเงินค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการหรือผู้รับบำนาญนั้น เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบกับภาระงบประมาณในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้โดยละเอียดก่อน 
 
                           อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางขอรับข้อเสนอแนะดังกล่าวไว้เป็นข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป