
แห่ไม้ค้ำสะหลี-ปาร์ตี้โฟมในสงกรานต์ไทย
แห่ไม้ค้ำสะหลี-ปาร์ตี้โฟมสิ่งพบเห็นในสงกรานต์ไทย : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร รายงาน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีนั้นกิจกรรมที่คนไทยนิยมทำคือการทำบุญตักบาตรเสริมสิริมงคลในชีวิตโดยถือคติโบราณคือเป็นวันขึ้นปีใหม่ก็ต้องการให้สิ่งดีเข้ามาในชีวิต มีการสรงน้ำพระรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ขอพร
ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่ก็มีกิจกรรมแต่ต่างกันออกไปเพื่อเป็นการดึงนักท่องเที่ยวร่วมงาน เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศเช่นกัน
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไดเเปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวรายงานยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยช่วงสงกรานต์ว่า มีมากกว่า 4.7 แสนคน เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีที่ผ่านมา
“นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมประชาชนคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกันเป็นเจ้าของบ้านที่ดี มีน้ำใจไมตรีและแสดงวัฒนธรรมอันงดงามที่เป็นเสน่ห์มัดใจนักท่องเที่ยว” พลตรีสรรเสริญ กล่าว
พลตรีสรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 7.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่กระจายไปสู่ท้องถิ่นและพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่เพียงภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ ยังรวมไปถึงประชาชนที่จำหน่ายอาหารสินค้าพื้นเมือง และให้บริการรถโดยสารในท้องถิ่นอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมตลาดดังกล่าวให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นที่รับรู้ของประชาชนอย่างกว้างขวาง
ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กระทรวงมหาดไทยจัดตลาดนัดชุมชน ไทยช่วยไทย คนไทยยิ้มได้ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รัฐบาลจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนแวะเที่ยวชมและให้การสนับสนุนสินค้าของเกษตรกร สินค้า OTOP และสินค้าท้องถิ่นได้ในระหว่างการเดินทาง อาทิ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลาดนัดหลวงปู่ทวด พุทธอุทธยานมหาราช ถนนสายเอเชีย กม.44 ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช ซึ่งจัดกิจกรรมตลาดนัดเป็นพิเศษในช่วงวันที่ 11-15 เมษายน โดยมีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น ผลิตภัณฑ์อรัญญิก, โรตีสายไหม, ปลาย่าง, ปลาแดดเดียว, เครื่องจักรสานจากไม้ไผ่, งอบ, พัดบ้านแพรก
จังหวัดสระบุรี ตลาดนัด 4 ภาค ศูนย์พักรถสวนริมเขา อำเภอเมืองสระบุรี ซึ่งเปิดทำการทุกวัน โดยมีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น กะหรี่ปั๊บ, สินค้าเกษตรออร์แกนิกส์, สินค้าอาหารแปรรูป
จังหวัดชัยภูมิ ตลาดนัดชุมชนบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จัดงานเทศกาลหม่ำใหญ่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-17 เมษายน โดยมีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น อาหารแปรรูป หม่ำชนิดต่างๆ
จังหวัดนครราชสีมา ถนนคนเดินเมืองย่า (ข้างอนุสาวรีย์ย่าโม) อำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของครอบครัวยามเย็น ทุกบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ โดยมีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น ขนมจีนประโดก, ผัดหมี่โคราช, ส้มตำ, ผักปลอดสารพิษ
จังหวัดปราจีนบุรี ตลาดนัดศูนย์โอทอปพลาซ่า บริเวณแยกนเรศวรก่อนขึ้นเขาใหญ่ หน้า สนง.เกษตรจังหวัด จัดทุกวัน โดยมีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ อาทิ อาหาร, ผัก, ผลไม้
จังหวัดปทุมธานี 1. ตลาดนัดวัดโบสถ์ อ.สามโคก จัดในวันเสาร์-อาทิตย์/วันหยุดนักขัตฤกษ์ สินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น อาหารอร่อย, สินค้า OTOP ,ของฝากของที่ระลุก เช่น เครื่องจักสาน กระเป๋า ข้าวหลาม พืชผักปลอดสารพิษ 2. ตลาดนัดระแหง ตลาดสินค้าเก่าแก่ 100 ปี อำเภอลาดหลุมแก้ว จัดทุกวัน มีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำคือ สินค้าโบราณสำหรับตกแต่งบ้าน, เครื่องปั้นดินเผา, ผ้าไหม, ไวน์
จังหวัดสมุทรปราการ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง ทุกเสาร์,อาทิตย์,วันหยุดนักขัตฤกษ์ สินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น ลูกประคบสมุนไพร,บริการนวด, สมุนไพรธัญพืช, ผักปลอดสารพิษของกลุ่มบางน้ำผึ้งพอเพียง
จังหวัดนครพนม ตลาดนัดชุมชนลานจอดรถห้าง Big C อำเภอเมืองนครพนม ทุกวันศุกร์,เสาร์,อาทิตย์ (ไม่หยุดช่วงสงกรานต์) มีสินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น ผักปลอดสารพิษ, สับปะรดหวาน, แตงโมไร้เมล็ด, ข้าวไรซ์เบอรรี่, ข้าวฮางงอก, กาละแม, ผ้าไหมมุก, ผลิตภัณฑ์จากกก, ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ, เครื่องดนตรีพื้นเมือง, เครื่องจักรสาน
จังหวัดลำพูน บริเวณศูนย์ท่องเที่ยวตรงข้ามวัดพระธาตุ อำเภอเมืองลำพูน จัดในช่วงวันที่ 12-15 เมษายน (จัดพิเศษช่วงเทศกาลสงกรานต์) สินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น ลำใยอบแห้งเนื้อสีทอง, อาหารพื้นเมือง, สินค้าหัตถกรรม 80 บูธ
จังหวัดพะเยา ตลาดนัดชุมชนวัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) ช่วงปีใหม่เมือง 7 เม.ย. – 2 พ.ค. สินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น ผ้าทอไทลื้อ/เสื้อไทลื้อ, ผ้าพื้นเมืองสำเร็จรูป
จังหวัดพิษณุโลก 1. มหกรรมอาหาร ณ สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ 9-15 เมษายน สินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น เสื้อทอมืออำเภอนครไทย, กรอบพระใบโพธิ์, OTOP 2. ตลาดนัดชุมชน ไทยช่วยไทย คนไทยยิ้มได้ บริเวณรอบศาลหลักเมือง ทุกวันศุกร์ สินค้าเด่นและสินค้าแนะนำ เช่น กล้วยแปรรูป, เสื้อผ้าฝ้ำดอกไม้ายทอมือ, ข้าวไรซ์เบอรรี่, ข้าวกล้อง, มะม่วงน้ำดอกไม้, เครื่องจักรสาน, ผักสวนครัวจากหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง, ผักปลอดสารพิษจากสำนักงานเกษตร, ไข่ไก้จากกรมการค้าภายใน และสินค้าอุปโภค บริโภค ราคาโรงงาน
พร้อมกันนี้ในแต่ละจังหวัดจึงยุทธวิธีที่แตกต่างกันส่งผลให้มีการตั้งชื่อถนนเกิดขึ้นมากมายตามถนนข้าวสารในกรุงเทพฯที่นักท่องเที่ยวไปร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทุกปี ที่จังหวัดขอนแก่นก็ผุดถนนข้าวเหนียว ที่มหาสารคามก็ถนนข้าวเม่า อ่างทองถนนข้าวสุก ลพบุรีถนนดินสอพอง นครพนมถนนข้าวปุ้นมีพี่น้องชาวลาวร่วมด้วย
พร้อมกันนี้ยังมีการจัดปาร์ตี้โฟมขยายวงไปในหลายจังหวัดเช่นกันที่เห็นก็เช่นที่ กทม. และจังหวัดพิจิตรแม้ว่าจะอากาศร้อนก็ตามซึ่งมีการทำมาหลายปีแล้ว เลยจับเต่ากว่า 100 ตัวแต่งงาน
ที่จังหวัดนครพระนครศรีอยุธยาก็ได้นำช้างออกมาเช่นน้ำที่พิเศษกว่าทุกปีเห็นจะเป็นการวาดลายไทยในตัวช้างก็เป็นจุดสนใจอีกแบบ เช่นเดียกับที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่วัดสำโรง บ้านสำโรง หมู่ 4 ต.ถลุงเหล็ก อ.เมือง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลถลุงเหล็กร่วมกับชาวบ้าน 3 หมู่บ้านมี บ้านสำโรง หมู่ 4 บ้านดอนดู่แดง หมู่ 13 และบ้านสระล้อม หมู่ 14 ต.ถลุงเหล็ก จัดงานบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยชาวบ้านได้ร่วมกันแต่งเครื่องทรงเป็นพระเวสสันดร ตามด้วยบริวารนั่งบนหลังช้าง 9 เชือก แห่ออกจากหน้าวัดสำโรง ไปเชิญผะเหวด เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานให้คงอยู่ ทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
ไปทางใต้แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด แต่ที่ อ.เบตง จ.ยะลาก็มีนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ร่วมเป็นจำนวนมาก และวันที่ 14 เม.ย. ที่วัดนิโคธาวาส บ้านหัวควน ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธาน ในกิจกรรมสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ พร้อมมอบถุงพระราชทาน และของขวัญแก่ผู้สูงอายุด้วย
ที่จังวัดเชียงใหม่มีการแห่ไม้ค้ำสะหลีพร้อมกับขนทรายเข้าวัดที่เป็นประเพณีล้านนาที่จะกระทำเป็นประจำทุกปี ซึ่งการแห่ไม้ค้ำสะหลีซึ่งเป็นไม้ง้ามขนาดใหญ่ที่มีเครื่องบูชา ประกอบด้วย หมอน ต้นหมาก ต้นเทียน ตุงปีเกิด ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ฯลฯ เพื่อค้ำยันใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ภายในวัด
ประเพณีแห่ไม้ค้ำยันนี้เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา ตามความเชื่อที่ว่าการค้ำไม้สะหลีตามต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ทำช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีละครั้งเดียวเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ตลอดจนชุมชนที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีความอยู่เย็นเป็นสุข และยังเป็นการช่วยค้ำจุนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่สืบไป
คำว่า”สะหลี” เป็นภาษาพื้นเมืองมาจากคำว่า"ศรี" ทั้งนี้คงจะเป็นอุบายของคนโบราณที่ทิ้งปริศนาของการค้ำต้นโพธิ์ก็คือการค้ำจุนศาสนานั่นก็คือพระพุทธศาสนา ซึ่งการจะการค้ำจุนศาสนาที่ดีที่สุดก็คือการศึกษาหลักธรรมและปฏิวัติตามหลักธรรมนั้นถึงจะสามารถนำไปแก้ปัญหาชีวิตสังคมการเมืองและประเทศชาติได้
......................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/cm-arabica/2013/04/12/entry-1)