เทคนิคผลิต 'กล้วยไข่คุณภาพ' มุ่งเกษตรกรไทยขยายส่งออก
23 เม.ย. 2558
ทำมาหากิน : เทคนิคผลิต 'กล้วยไข่คุณภาพ' มุ่งเกษตรกรไทยขยายส่งออก
จากที่ "กล้วยไข่" ผลไม้ไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในหลายมณฑลของประเทศจีนในปี 2557 ที่ผ่านมา จากการรายงานของฝ่ายการเกษตร ประจำกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป กรมวิชาการเกษตรจึงเตรียมพร้อมรองรับการส่งออก ด้วยมีคำแนะนำพร้อมเทคนิกการปลูกกล้วยไข่แก่เกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2557 ไทยส่งออกกล้วยไข่ไปยังจีนปริมาณ 21,741.18 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 201.03 ล้านบาท ปี 2558 นี้คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกไปจีนจะเติบโตมากขึ้นช่วงพฤษภาคม-พฤศจิกายน อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากกล้วยไข่และกล้วยชนิดต่างๆ อาทิ กล้วยฉาบ กล้วยตาก กล้วยอบน้ำผึ้ง ก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีนด้วย โดยเฉพาะในมณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอันฮุย
ทั้งนี้ จากที่ฝ่ายการเกษตรประจำกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ รายงานว่า กล้วยไข่ของไทยได้รับความนิยมอย่างมากในมณฑลต่างๆ จึงมีข้อแนะนำว่า เกษตรกรไทย ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพสินค้า ขั้นตอนกรรมวิธีผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญต้องมีชื่อสินค้า คำอธิบายคุณค่าทางโภชนาการ วิธีบริโภคเป็นภาษาจีน และต้องระบุวันเดือนปีที่ผลิตกำกับไว้ด้วยจะช่วยให้กล้วยไข่และผลิตภัณฑ์จากกล้วยไทยแข่งขันได้ในตลาดจีน และสามารถรุกเข้าสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนที่มีกำลังซื้อได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ด้านทวีศักดิ์ แสงอุดม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร แนะเทคนิคการปลูกกล้วยไข่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ว่าเกษตรกรควรจัดการการผลิตตามมาตรฐานจีเอพี โดยก่อนปลูกควรเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์และปรับปรุงดินให้เหมาะสม กรณีปลูกกล้วยไข่เป็นพืชเดี่ยว ควรปลูกอัตรา 400 ต้นต่อไร่ หากปลูกเป็นพืชแซมในสวนผลไม้ไม่ควรต่ำกว่า 250 ต้นต่อไร่ อีกทั้งควรเลือกหน่อที่สมบูรณ์และขนาดสม่ำเสมอ ควรให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกว่าการให้ปุ๋ยทางดินถึง 10-50%
"หลังปลูก 3-4 เดือน กล้วยจะแตกหน่อ เกษตรกรต้องตัดหน่อที่ขึ้นใหม่ออกเหลือไว้เฉพาะต้นแม่ เลือกหน่อที่สมบูรณ์ที่สุด จากนั้นหมั่นตรวจแปลงเพื่อสำรวจโรคในระยะการเจริญเติบโตของกล้วย เช่น โรคใบจุดซิกาโตก้าสีเหลือง ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Pseudocerospora musae ป้องกันได้โดยตัดใบที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทำลาย พ่นการด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา อีกทั้งควบคุมเพลี้ยไฟที่เข้าทำลายผิวผลตั้งแต่ระยะออกปลี โดยพ่นสารอิมิดาคลอพริด 3 ครั้ง ตั้งแต่ระยะกาบปลีเริ่มบานและห่างกันทุก 7 วัน" นักวิชาการแจง
พร้อมแจงอีกว่า หลังปลีบานให้ตัดปลีและควรตัดผลของหวีตีนเต่า เหลือไว้ 1 ผลเพื่อช่วยเพิ่มขนาดผลของหวีที่เหลือ จากนั้นควรห่อเครือกล้วยเพื่อให้ผิวผลสวยและป้องกันแมลงเข้าทำลาย โดยกล้วยไข่ที่จะส่งออกควรเก็บเกี่ยวที่ความสุกแก่ 70-80% หรือหลังตัดปลี 33-45 วันขึ้นกับฤดูกาล โดยช่วงฤดูฝนเก็บเกี่ยว 33-37 วัน ฤดูร้อน 37-40 วัน และฤดูหนาว 40-45 วัน ทั้งนี้ ควรสังเกตเหลี่ยมของผลร่วมด้วย และการขนส่งกล้วยไปยังโรงคัดบรรจุต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันการเสียดสีและทำให้ผิวผลช้ำระหว่างการขนส่ง