ไลฟ์สไตล์

'Needle Biopsy'เจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อที่เต้านมเช็กก่อนผ่าตัด

'Needle Biopsy'เจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อที่เต้านมเช็กก่อนผ่าตัด

27 เม.ย. 2558

Needle Biopsy เจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อที่เต้านม...เช็กก่อนผ่าตัด : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ

 
          ปัญหาของเต้านมกับผู้หญิง ดูไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้เลย ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ผู้หญิงมีความใส่ใจในสุขภาพของตัวเองมากขึ้น การคลำเต้านมด้วยตัวเอง ก็ทำให้ผู้หญิงหลายคนพบก้อนที่เต้านม หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ก็ทำให้หลายคนเจอหินปูน หรือก้อนเล็กๆ ที่คลำไม่ได้ในเต้านมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
 
          หากเป็นในอดีตปัญหาดังกล่าวอาจต้องอาศัยการติดตามเป็นระยะ หรือหากกังวลมาก ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ บวกกับความสามารถของรังสีแพทย์ ทำให้สามารถนำเอาชิ้นเนื้อดังกล่าวมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ ด้วยการทำ Needle biopsy หรือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็ม โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด
 
          Needle biopsy หรือจะเรียกแบบเต็มๆ ว่า Image-guided Percutaneous Breast Biopsy ก็คือการเจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อที่เต้านมโดยใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยาช่วยในการชี้ตำแหน่งรอยโรค ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว ได้แก่ เครื่องอัลตราซาวนด์ และเครื่องเอกซเรย์ stereotactic unit ข้อดีของการทำ Needle biopsy คือ สามารถใช้กับรอยโรคที่ทั้งคลำได้และคลำไม่ได้ ให้ความถูกต้องเฉพาะรอยโรคสูงกว่าการเจาะโดยใช้การคลำด้วยมือ และลดจำนวนเคสในการทำผ่าตัดเล็กเฉพาะรอยโรค (Open Surgical Excisional Biopsy) ซึ่งอาจจะใช้เวลานานกว่า แผลขนาดใหญ่กว่า และอาจก่อให้เกิดร่องรอยแผลเป็นภายในเต้านมให้เห็นในการตรวจ แมมโมแกรมในครั้งต่อๆ ไป
 
          การทำ Needle Biopsy มี 2 วิธี ซึ่งการทำ Needle Biopsy สามารถเลือกทำได้ทั้ง 2 วิธี คือ Fine Needle Aspiration (FNA) และ Core Needle Biopsy (CNB) ซึ่งวิธีแรกจะใช้เข็มเล็กเจาะดูดเซลล์บางส่วนจากรอยโรคที่สงสัยส่งตรวจทางห้องตรวจด้านเซลล์วิทยา ส่วนวิธีหลังจะใช้เข็มขนาดใหญ่เจาะเก็บชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาจากรอยโรคที่สงสัยส่งตรวจทางห้องพยาธิวิทยา
 
          สำหรับข้อดีของวิธี Fine Needle Aspiration (FNA) คือ ทำได้สะดวก รวดเร็ว อุปกรณ์ไม่ยุ่งยาก ราคาถูกกว่า บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อบริเวณรอยโรคน้อยกว่า แผลหลังจากทำวิธีนี้จะเล็กเหมือนรอยถูกเข็มเจาะเลือด และภาวะแทรกซ้อนหลังการทำหัตถการต่ำเช่น การเสียเลือด แผลติดเชื้อ เป็นต้น ในขณะที่ข้อเสียของการทำ Fine Needle Aspiration (FNA) ก็คือ ต้องอาศัยความชำนาญของทั้งแพทย์ผู้ตรวจ และผู้อ่านผล (Cytopathologist) ในการวินิจฉัยค่อนข้างมาก รอยโรคบางอย่างไม่เหมาะกับการพิสูจน์ชิ้นเนื้อด้วยวิธีนี้ เช่น หินปูนขนาดเล็ก หรือรอยโรคบางอย่างที่มีเซลล์เยื่อบุค่อนข้างน้อย เช่น Infiltrative Lobular Carcinoma นอกจากนี้วิธีนี้อุปกรณ์ที่ใช้คือเข็มเล็กขนาดพอๆ กับเข็มฉีดยาจึงมีโอกาสที่จะดูดได้เซลล์ปริมาณไม่มากพอต่อการวินิจฉัยค่ะ
 
          ส่วนข้อดีของวิธี Core Needle Biopsy (CNB) คือ สามารถใช้กับรอยโรคหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นก้อน หินปูนขนาดเล็ก โครงสร้างเนื้อเต้านมผิดรูป หรือเนื้องอกในท่อน้ำนม เป็นต้น นอกจากนี้วิธีนี้ให้ความจำเพาะ (specificity) และความไว (Sensitivity) ในการวินิจฉัยสูงกว่า FNA และที่สำคัญชิ้นเนื้อที่ได้จากวิธีนี้สามรถนำไปตรวจหาค่า ER PR และ HER2 ต่อไปได้ ซึ่งค่าเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาเรื่องการให้ยาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ข้อเสียของการทำ Core Needle Biopsy (CNB) นั้นคือ ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความจำเพาะ วิธีการทำยุ่งยากกว่า ราคาแพงกว่า เกิดบาดแผลที่กว้างกว่า มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้มากกว่า เช่น เลือดออก แผลติดเชื้อ ต้องมีการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำหลังการเจาะ นอกจากนี้วิธีนี้อาจทำให้ผลทางพยาธิวิทยาของรอยโรคถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการตรวจนี้จะเลือกสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากแค่เพียงบางส่วนของรอยโรคค่ะ
 
          “จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้เราสามารถที่จะให้การวินิจฉัยสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในเต้านมของผู้หญิงส่วนใหญ่ได้ก่อนที่จะทำการผ่าตัด ด้วยการทำ Needle Biopsy เราคงไม่อยากที่จะไปผ่าตัด แล้วมาพบภายหลังว่าเป็นมะเร็งเต้านม ทำให้ต้องมาผ่าตัดซ้ำเป็นครั้งที่สอง หรือในบางครั้งยังอาจสูญเสียโอกาสในการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไปอีกด้วย”
 
พญ.วศิญาภาณิ์ พัฒนจารีต 
รังษีแพทย์ 
โรงพยาบาลไทยนครินทร์ 
 
.......................................
(หมายเหตุ