เครื่องปั้นดินเผา 'บ้านวังถั่ว' ศิลปะอนุรักษ์-สร้างอาชีพ
10 มิ.ย. 2558
ทำมาหากิน : เครื่องปั้นดินเผา 'บ้านวังถั่ว' ศิลปะอนุรักษ์-สร้างอาชีพ : โดย...จิติมา จันพรม
ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่ ทำให้อาชีพ "ปั้นหม้อ" ทุกวันนี้แทบจะเลือนหาย แต่ที่หมู่บ้านวังถั่ว หมู่ 5 ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ยังมีชาวบ้านยึดอาชีพนี้ขายส่งที่ตลาดทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด สร้างรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านมายาวนานเกือบ 1 ศตวรรษ
นางศรี อ้นไธสง วัย 54 ปี นั่งคุมคนงานให้ผลิตตามออเดอร์อยู่ภายในบ้านซึ่งจัดทำเป็นโรงงาน บอกว่า ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่รุ่นพ่อซึ่งมีพื้นเพมาจาก จ.นครราชสีมา ทว่า ได้มาตั้งรกรากและสร้างหมู่บ้านอยู่ที่ อ.น้ำพอง เพราะเห็นว่าทำเลดี มีดินเหนียวริมแม่น้ำ เหมาะทำเครื่องปั้นดินเผา จึงชักชวนพี่น้องญาติๆ มาอยู่ด้วยเพราะต่างถนัดอาชีพเดียวกัน ซึ่งทุกครอบครัวได้ผลิตเร่ขายตามหมู่บ้านต่างอำเภอเช่นเดียวกับตนเอง แต่ได้เลิกเร่ขายมา 7 ปีหันมาผลิตขายส่งอย่างเดียว ซึ่งจะมีออเดอร์จากพ่อค้าต่างจังหวัด เช่น เลย หนองคาย อุดรธานี สั่งเข้ามา
"สินค้าที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ กระถางต้นไม้ทรงสตรอเบอร์รี่ กระถางดินทั่วไป หม้อดินทุกขนาด รวมทั้งที่ใช้ทำแจ่วฮ้อน กระถางธูป ซึ่งราคากระถางและหม้อจะขายส่งในตั้งแต่ 20-60 บาท แต่มีบางงานที่รับทำตามแบบเช่น อ่างบัว ราคาตั้งแต่ 200-300 บาท" ศรี กล่าว
เธอยังบอกอีกว่า อาชีพปั้นดินเผาได้สร้างรายได้ให้แก่คนในครอบครัว คนงานที่มาช่วยงานที่บ้านเป็นญาติพี่น้องกัน ทั้งงานผสมดิน ขึ้นรูปตามรูปทรงแบบสำเร็จ รวมทั้งที่นี่จะทำแบบโบราณคือการใช้ไม้ตีหม้อให้เข้ารูปร่างตามขนาดด้วยมือ
ขณะที่ นางปอก บัวบู่ วัย 58 ปี ช่างปั้นซึ่งเชี่ยวชาญการตีหม้อแบบโบราณ บอกว่า ยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่เรียนจบชั้น ป.4 โดยรับจ้างน้องสาว สร้างรายได้ให้แก่ตนเองมาโดยตลอด จะตีหม้อได้วันละ 35 ใบ เฉลี่ยรายได้ 200-300 บาท ถือว่าอยู่ได้ เพราะทำอยู่กับบ้าน ทำไปก็เพลิดเพลินฟังเพลงจากวิทยุเครื่องเล็กๆ ประจำกายไปด้วย
“การตีหม้อแบบนี้มีคนทำน้อยมาก เด็กๆ ไม่ค่อยทำ เราก็ต้องทำต่อเพื่อไม่ให้อาชีพนี้สูญหายไป เพราะที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ มีนักเรียน นักศึกษา หรือคนที่สนใจมาดูงาน มาดูการผลิตบ่อยๆ” นางปอก บอก
ด้าน นายบุญสวน แสนแก้ว วัย 40 ปี ซึ่งกำลังตั้งใจขึ้นรูปกระถาง บอกว่า ทำงานนี้มา 5 ปีแล้ว จะทำตามออเดอร์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเราจะปั้นทุกแบบตามที่ลูกค้าสั่ง สนนราคาก็เริ่มตั้งแต่ 10 บาทจนถึงราคาหลัก 100 บาท แล้วแต่ขนาด
สำหรับวัตถุดิบนั้น เขาบอกว่า ใช้ดินเหนียวที่อยู่ริมแม่น้ำพอง โดยจะจ้างรถสิบล้อไปขนมาให้คันละ 250 บาท จะใช้ประมาณสัปดาห์ละ 1 คันรถ นำมานวดด้วยเครื่องก่อนมาขึ้นรูป และเมื่อขึ้นรูปขึ้นลายเสร็จ ใบหนึ่งใช้เวลา 1.30 นาที ก่อนนำไปวางเรียงผึ่งลมให้แห้ง 2 วัน ทว่า ต้องรอให้ได้จำนวนมากที่จะเผา ซึ่งเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้างานมาก งานเร่ง ก็จะเผามากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งในหมู่บ้านจะทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หยุดทุกวันพระ ส่วนไฟที่เผาจะใช้เชื้อเพลิงจากไม้ไผ่ที่มีผู้ตัดมาขายมาส่งให้ถึงที่ คันรถละ 800 บาท
ส่วน นายสุรศักดิ์ อ้นไทสง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บอกว่า หมู่บ้านวังถั่วมี 60 ครัวเรือน ในอดีตแทบทุกครัวเรือนต่างทำเครื่องปั้นดินเผา แต่ระยะหลังมีหลายครอบครัวเลิกไปลูกหลานไม่ทำต่อ หันไปประกอบอาชีพอื่น จึงเหลือคนที่ทำจริงๆขณะนี้มี 20 ครอบครัว ปัจจุบันได้ตั้งเป็นกลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผาบ้านวังถั่ว เพื่อให้การประกอบอาชีพมีความมั่นคง ที่สำคัญเพื่ออนุรักษ์อาชีพนี้ไม่ให้สูญหายไป ท่านใดที่สนใจในผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
---------------------
(ทำมาหากิน : เครื่องปั้นดินเผา 'บ้านวังถั่ว' ศิลปะอนุรักษ์-สร้างอาชีพ : โดย...จิติมา จันพรม)