ไลฟ์สไตล์

สัตหีบโมเดลสร้างงานสร้างอาชีพ

26 มิ.ย. 2558

สัตหีบโมเดลสร้างงานสร้างอาชีพ : 0 สราวุฒิ ประทุมชัน 0นศ.ม.เนชั่น เรื่อง -ภาพ

              วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งหมด 5 สถานประกอบการ จัดทำ โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ “สัตหีบโมเดล” เพื่อพัฒนากำลังคนให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงานนั่นเอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ "พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย"  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี ในโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ “สัตหีบโมเดล” รับฟังเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติของโครงงาน โดยมีนักศึกษาคณะการโรงแรมและการท่องเที่ยว ต้อนรับ หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมวิธีการเรียนภายในห้องเรียนเครื่องกลโรงงาน
 
              “วัชรินทร์ ศิริพานิช” ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อธิบายว่า โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ “สัตหีบโมเดล” คือ การจัดการศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เน้นเรียนจริง รู้จริง และทำจริง โดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สถานศึกษา สถานประกอบการ และสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ โดยมีรูปแบบ S-M-L ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาโดยใช้ระยะเวลาการเรียนเป็นตัวกำหนดโครงการสร้างหลักสูตร และใช้ค่าตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนและได้ทำงานระหว่างเรียน ระยะเวลาของแต่ละช่วงมีดังนี้
 
              โปรแกรม Short Plan (S) คือ หลักสูตร 2 ปี สำหรับนักเรียนนักศึกษาระดับ ปวส., Middle Plan (M) คือ หลักสูตร 3 ปี สำหรับนักเรียนนักศึกษาระดับ ปวส. ส่วน Large Plan (L) คือ หลักสูตร 5 ปี สำหรับนักเรียนประดับ ปวช.1 ต่อเนื่องถึง ระดับ ปวส. ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมการจัดการศึกษา SML Sattahip Model 5 สถานประกอบการ ได้แก่ บริษัทสยามมิชลิน ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ท็อปเทร็นด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทยญี่-ปุ่น) และบริษัทยูนิค ซี โปรดักส์ จำกัด เพื่อผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพ สมรรถนะ และทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ
 
              ส่วนสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ คือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมและภาคบริการที่มีหน้าที่ประสานนโยบายภาครัฐให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนโดยเข้ามาทำหน้าที่่กำหนดสมรรถนะวิชาชีพให้เกิดขึ้นในระบบการเรียนการสอน ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (สวทน.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก, สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น), สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก และสมาคมกลุ่มโรงแรมภาคใต้
 
              ผู้เรียนจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าล่วงเวลา ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน เป็นต้น จากสถานประกอบการโดยไม่มีข้อผูกมัด นอกจากนี้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นสถานศึกษาซึ่งจัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรีย และมีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Training : DVT) โดยเปิดสอนใน 4 ประเภทวิชา คือ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และพณิชยกรรม -บริหารธุรกิจ
 
              ด้าน นนธวัช วิชิตบุตร นักศึกษาปวส. สาขาการโรงแรม กล่าวว่า การเรียนสายอาชีพสอนให้รู้จักความรับผิดชอบ และรู้จักวางแผนอนาคต เน้นทฤษฎีและการฝึกงาน เพราะต้องการให้ทุกคนจบออกไปมีความชำนาญจริงๆ เรียนจบอาชีวศึกษาแล้วจะได้มีงานทำ
 
              “ตอนแรกก็ยังรู้สึกงงๆ อยู่ว่าคณะนี้เป็นยังไง จบไปแล้วได้อะไร การเรียนนั้นมีความยากพอสมควรและไม่ถนัดเลย แต่ยังมีเพื่อนๆ ที่คอยช่วยเหลือกัน สอนให้รู้จักความรับผิดชอบ และรู้จักวางแผนอนาคต ถึงที่นี่จะเข้าง่ายแต่ก็ออกยากเพราะต้องการให้ทุกคนจบออกไปมีความชำนาญจริงๆ ฝากถึงน้องๆ ผู้ที่สนใจในการเรียนอาชีวศึกษาว่า ถึงจะเหนื่อยและยาก แต่ถ้ามีความพยายามและลงมือทำก็จะผ่านมันไปได้” นนธวัช กล่าว
 
              ทั้งนี้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เชื่อมั่นว่า  โครงการ SML Sattahip Model จะสามารถยกระดับการเรียนการสอนและยกระดับฝีมือช่างเฉพาะสาขาวิชาให้มีทักษะฝีมือทัดเทียมนานาประเทศได้ สามารถผลิตแรงงานวิชาชีพได้ตรงตามสมรรถนะวิชาชีพที่สถานประกอบการต้องการ สามารถลดปัญหาการผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ สามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ
 
              น้องๆ ที่สนใจเรียนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.038-435993, 08-5255-3682 08-7132-3762, 08-1435-6985