ไลฟ์สไตล์

'กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด' สัตว์น้ำมหัศจรรย์เลี้ยงได้ทุกพื้นที่

'กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด' สัตว์น้ำมหัศจรรย์เลี้ยงได้ทุกพื้นที่

05 ก.ค. 2558

ท่องโลกเกษตร : แกะรอยบ่อ 'กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด' สัตว์น้ำมหัศจรรย์เลี้ยงได้ทุกพื้นที่ : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                      ท่ามกลางกระแสของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง (เครย์ฟิช) หรือล็อบสเตอร์น้ำจืด กำลังมาแรงในยุคเศรษฐกิจฝืด ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังข้องใจว่ากุ้งชนิดนี้จะเป็นกุ้งเศรษฐกิจที่เลี้ยงมาเพื่อบริโภค หรือเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม และจะเลี้ยงง่ายหรือไม่อย่างไร และมีตลาดรองรับที่ไหนบ้าง ทำให้ทีม "ท่องโลกเกษตร" ต้องเสาะแสวงหาความจริงจากผู้ที่เลี้ยงกุ้งชนิดนี้โดยตรงในพื้นที่ภาคตะวันออก จากแหล่งที่เลี้ยงในรูปแบบต่างๆ ทั้งในนาข้าว บ่อดิน บ่อซีเมนต์ และบ่อพลาสติกในพื้นที่ จ.ชลบุรี และจ.สระแก้ว 
 
                      เราเริ่มต้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ที่บ้านห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ของ "ประทีป มายิ้ม" ที่ใช้บ้านตัวเองกว่า 1 ไร่ มาทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดวิชาด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
 
                      การเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนบ้านห้วยใหญ่นั้น ประทีป จำลองพื้นที่นาขนาดย่อม 3X5 เมตร ขังน้ำลึกราว 10-15 ซม. ภายในนาจำลองปลูกข้าวหอมนิล แหน สาหร่ายหางกระรอกรกพื้นที่เต็มไปหมด รอบๆ พื้นที่นากั้นด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันศัตรูของกุ้งไม่ว่าจะเป็นแมว นก และหนู ที่อาจเล็ดลอดเข้าไปกินกุ้งที่เลี้ยงไว้ 500 ตัว 
 
                        "ผมไม่รู้จักกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดมาก่อน เมื่อ 4 ปีก่อน ลูกสาวไปเที่ยวงานเกี่ยวกับการเกษตร ที่.สระแก้ว ซื้อลูกกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดมา 4 ตัว ขนาด 1 นิ้วกว่า ราคาตัวละ 30 บาท ตอนแรกคิดว่าเป็นกุ้งสวยงาม เลยไปปล่อยในอ่างเลี้ยงปลาหางนกยูง โดยที่ไม่ให้อาหาร เพราะไม่ทราบว่ากินอะไร เลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งสังเกตเห็นสาหร่ายหางกระรอกลดน้อยลง สงสัยว่ากุ้งชนิดนี้คงกินแน่นอน จน 3 เดือนผ่านไป กุ้งตัวโตเท่าหัวแม่มือยาวราว 3-4 นิ้ว จึงย้ายลงบ่อปูนที่มีขนาดใหญ่กว่า ผ่านไป 2 เดือนเห็นลูกกุ้งเต็มบ่อไปหมด" ประทีบ ย้อนถึงการเริ่มเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด
 
                      จากการสังเกตพฤติกรรมเห็นกุ้งกินสาหร่ายหางกระรอกได้ ประทีบ จึงคิดว่าน่าจะกินพืชอื่นได้ จึงทดลองเอาแหนมาใส่ ปรากฏว่ากุ้งกินเหมือนกัน จนลูกกุ้งโตขึ้นมาก และมีบรรดาผู้ที่ไปอบรมได้พบเห็นต่างชอบใจ และขอซื้อลูกกุ้งไปเลี้ยง ตรงนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ประทีบ มองถึงอนาคตในการเลี้ยงชนิดนี้ บางครั้งอาจเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ เพราะราคาดีพอสมสมควร ที่สำคัญสามารถขยายพันธุ์รวดเร็ว แม่กุ้ง 1 ตัว จะออกไข่ให้ปีละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งจะออกหลายร้อยตัว และถึงหลักพันตัว 
 
                      "ตอนหลังผมทราบว่าเป็นกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดและมีการเลี้ยงในนาข้าวที่สระแก้ว ผมเลยทำแปลงนาจำลอง เพื่อเป็นแปลงสาธิตในการเลี้ยงแบบชีววิถี จากนั้นปล่อยกุ้งลงไปจำนวน  500 ตัว โดยภายในแปลงมีการนำสาหร่ายหางกระรอก จอกแหน ลงไปให้รก เพราะยิ่งรก ยิ่งจะรอด เพราะกุ้งจะกินพืชเหล่านี้เป็นอาหาร ผมเลยเลี้ยงแบบชีววิถีปล่อยให้กินพืช เวลาผ่านไปสามารถสร้างรายได้ให้ปีละกว่า 2 แสนบาท หลังข่าวแพร่กระจายออกไป มีโรงแรมชั้นนำในพัทยา สั่งกุ้งเพื่อเป็นอาหารต้องการขนาด 2 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม เสนอราคามากิโลกรัมละ 1,200 บาท แต่ยังผลิตไม่ทัน" ประทีบ กล่าว
 
                      ออกจากศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน บ้านห้วยใหญ่ มุ่งหน้าสู่ จ.สระแก้ว จุดหมายปลายทางที่สหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จำกัด ที่บ้านระเบาะหูกวาง หมู่ 6 ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งมีสมาชิกจำนวนหนึ่งเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดในนาข้าว อีกส่วนหนึ่งเลี้ยงในบ่อดิน บ่อปูน และบ่อสพลาสติก จุดแรกที่เราไปดูที่บ่อเลี้ยงในนาข้าวของประธานสหกรณ์" อำนาจ ยาสา ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ในการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ด้วย
 
                      อำนาจ บอกว่า เริ่มศึกษาการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด จากสถานีเกษตรกรหลวงอินทนนท์ หรือโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ที่ทดลองเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2549 จึงมองว่าสมาชิกของสหกรณ์กว่า 50 คน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก บางปีประสบปัญหาขาดทุน จึงมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในนาข้าว จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง ไปดูวิธีการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ลูกกุ้งและนำมาทดลองเลี้ยงร่วมกับสมาชิกจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
 
                      "กุ้งชนิดนี้มีจุดเด่นคือ ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ จึงสามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปได้ แม้แต่ในนาข้าว ในบ่อดินหรือกระชังในแม่น้ำ มีอัตราการตายน้อยมาก อย่างในนาของผม พื้นที่ 1 ไร่ เราสามารถปล่อยกุ้งได้ 2,000-4,000 ตัว เลี้ยง 4 เดือน ตัวผู้ได้ 8-12 ตัวต่อกิโลกรัม ตัวเมีย 14-20 ตัวต่อกิโลกรัม เลี้ยง 4 เดือน อย่างน้อยต้องได้กว่า 100 กิโลกรัม ขายง่ายๆ ราคากิโลกรัมละ 500 บาท เราจะมีรายได้ 5 หมื่นบาท ถ้าปลูกข้าวอย่างเดียวมีกำไรไม่เกิน 2,000 บาท ถ้าขายแม่พันธุ์ขนาด 4 นิ้ว ขายตัวละ 100 บาท" อำนาจ กล่าว
 
                      สำหรับการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในน้ำจืด ต้องยกคันล้มให้สูง เพื่อขังน้ำให้สูงกว่าระดับน้ำในนาข้าวทั่วไป และป้องกันศัตรูธรรมชาติ บริเวณรอบขอบบ่อ 1 ใน 4 ส่วน ขุดให้ลึก 50-70 ซม. เพื่อเป็นที่อาศัยของกุ้งในช่วงกลางวัน เพราะกุ้งชนิดนี้จะนอนพักในระดับน้ำที่ลึกลงไป ส่วนพื้นที่ตรงกลางบ่อ ระดับน้ำสูง 30 ซม. ซึ่งเป็นระดับน้ำในการทำนาปกติ พื้นที่ส่วนนี้กุ้งจะขึ้นมาอาศัยและหากินในช่วงกลางคืนนั่นเอง
 
                      จากแปลงนาของอำนาจ เราไปดูการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในบ่อปูน และบ่อพลาสติกของ สมศักดิ์ กันอาอางค์ เกษตรกรวัย 75 ปี ที่ ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร หนึ่งในสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง ซึ่งเลี้ยงในบ่อขนาด 5X5 เมตร เพิ่งเลี้ยงมาได้ 2 รุ่นแล้ว โดยครั้งแรก สมศักดิ์ลงทุนสร้างบ่อพลาสติก 2 บ่อ เป็นเงิน 2 หมื่นบาท ปล่อยกุ้งบ่อละ 1,500 ตัว เลี้ยงชุดแรก 3 เดือน ขายได้ 3.5 หมื่นบาท คุ้มทุนแล้ว และรุ่นต่อไปจะเลี้ยง 4 เดือน คาดว่าจะได้หลักแสนบาท ถือว่ารายได้ดีกว่าทำนาหลายเท่าตัว
 
                      ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆ ของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงหรือล็อบสเตอร์น้ำจืด ที่ทีมงานสำรวจมา แต่เวลามีจำกัดใกล้จะมืดค่ำเราจึงอำลาบ่อกุ้ง มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมไปทำงานตามปกติในวันรุ่งขึ้น
 
 
 
 
 
-----------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : แกะรอยบ่อ 'กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด' สัตว์น้ำมหัศจรรย์เลี้ยงได้ทุกพื้นที่ : โดย...ดลมนัส กาเจ)