ไลฟ์สไตล์

ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก เหมาะเกษตรกรผลิตปุ๋ยชีวภาพเอง

ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก เหมาะเกษตรกรผลิตปุ๋ยชีวภาพเอง

15 ก.ค. 2558

ทำมาหากิน : ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก เหมาะเกษตรกรผลิตปุ๋ยชีวภาพเอง : โดย...โต๊ะข่าวเกษตร

 
                      ท่ามกลางกระแสที่หลายภาคส่วนต่างรณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ด้วยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพมาใช้เอง ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ "ผศ. ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์-ผศ.ดร.เทพปัญญา เจริญรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา “ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ” ที่เกษตรกรสามารถสามารถดูแลระบบและผลิตสาหร่ายได้ด้วยตนเอง ใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วย
 
                      รศ.ดร.สุเปญญา เล่าว่า คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นจากการคัดแยกและศึกษาการเจริญเติบโตสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หรือไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากพื้นที่เกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตร โดยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้นี้จะทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศที่มีอยู่กว่า 70% แล้วให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังสามารถผลิตฮอร์โมนพืชเพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ผลิตพอลิแซ็กคาไรด์เพื่อช่วยปรับปรุงดินให้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มอินทรียสารในดินได้อีกด้วย ดังนั้นปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเหมาะกับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ซึ่งห้ามใช้ปุ๋ยเคมี จากนั้น คณะผู้วิจัยได้คิดค้นระบบที่สามารถเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณสาหร่ายได้อย่างต่อเนื่อง 
 
                      สำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายจะเน้นความเรียบง่ายของระบบ การควบคุมไม่ซับซ้อนและสามารถนำระบบเพาะเลี้ยงนี้ไปใช้ได้จริงในพื้นที่การเกษตร โดยใช้อุปกรณ์ที่ทนทานแต่ราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ประกอบด้วย ถังน้ำพลาสติกใสขนาด 18.9 ลิตร วางบนขาตั้งเหล็กซึ่งออกแบบมาให้สามารถปรับเอียงองศาได้และให้อากาศโดยใช้ปั๊มอากาศขนาดเล็ก เป็นระบบที่เคลื่อนย้ายได้ ประกอบได้ง่าย สามารถเพาะเลี้ยงในภาคสนามกลางแจ้งได้  
 
                      “ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพนี้เป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เพาะเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากสาหร่ายได้ด้วยตัวเอง ลดขั้นตอนในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ระบบนี้มีราคาต่อหน่วยประมาณ 3,153 บาท ใช้กับพื้นที่ขนาด 200 ตารางวา หรือ 0.5 ไร่ หากได้รับการดูแลระบบที่ถูกต้อง ระบบจะไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเลย นอกจากค่าไฟเดือนละ 18 บาทต่อระบบเท่านั้น และระบบนี้ยังมีความทนทานและสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องมากกว่า 6 ปีขึ้นไป” ผศ.ดร.สุเปญญา กล่าว
 
                      ส่วนการที่เกษตรกรที่ได้เพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพในพื้นที่จริงนั้น ผศ.ดร.สุเปญญา ยืนยันว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ที่จะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ แต่สามารถใช้ได้กับปุ๋ยเคมีในอัตราส่วนที่ลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลงแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพของดินในพื้นที่เกษตรแบบดั้งเดิมได้อีกด้วย
 
                      จากความสำเร็จในการพัฒนา “ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ” ทำให้ผลงานวิจัยได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ในงาน 43rd International Exhibition of Inventions of Geneva ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และรางวัลพิเศษจาก Association of Polish Inventors and Rationalizers จากประเทศโปแลนด์เมื่อไม่นานมานี้
 
                      ปัจจุบันมีการติดตั้งระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพที่ห้องปฏิบัติการสาหร่ายและแพลงก์ตอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่พื้นที่เกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา หากเกษตรกรหรือผู้สนใจ สอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2452 หรือ 2463 
 
 
 
 
---------------------
 
(ทำมาหากิน : ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก เหมาะเกษตรกรผลิตปุ๋ยชีวภาพเอง : โดย...โต๊ะข่าวเกษตร)