ไลฟ์สไตล์

ฝีมือชนคนสร้างชาติ

ฝีมือชนคนสร้างชาติ

15 ก.ค. 2558

ฝีมือชนคนสร้างชาติ : เกศกาญจน์ บุญเพฺ็ญ เรื่อง ประชาสัมพันธ์ สอศ. ภาพ15ก.ค.

             “ปัญหานักเรียนตีกัน นักเรียนเกเรไม่ใช่มีแต่เฉพาะเด็กอาชีวะ แต่ในความเป็นจริงสังคมวัยเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับม.ต้น ม.ปลาย ก็มีปัญหาแบบนี้เช่นกัน หนูอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและเพื่อนๆ เปิดใจและมองอาชีวะใหม่ เพราะการมาเรียนอาชีวะ่เราจะได้กลับไปมากกว่าความรู้ในวิชาการก็คือประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบการจริง การเรียนที่ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เรามีทักษะและความเชี่ยวชาญในงานมากกว่าคนอื่น” มุมมองต่อภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ของน้องพลอย หรือ น.ส.แพรพลอย พรมบุตร ระดับปวช.ปีที่ 3 สาขาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ

             น้อยพลอย บอกอีกว่า สำหรับเธอครอบครัวเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเรียนอาชีวะ เพราะทุกคนในครอบครัวก็จบอาชีวะทุกคน ประกอบกับตอนเด็กๆ เวลาพ่อออกไปทำงานไซต์งานต่างๆ มักจะพาไปด้วยเลยได้ซึมซับภาพการทำงานต่างๆ ของพ่อ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนรู้เพื่อจะเป็นอย่างพ่อด้วย ซึ่งเมื่อเลือกเรียนอาชีวะครอบครัวก็ไม่คัดค้าน

             เช่นเดียวกับ นายรตนากร อักษรวรรณ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นปวช.ปีที่ 3 สาขาไฟฟ้ากำลัง วิิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) บอกว่า การเรียนอาชีวะมีความหมายไม่น้อยไปกว่าการเรียนสายสามัญ ทุกวันนี้การขับเคลื่อนประเทศด้านต่างๆ จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะฝีมือ และตนตั้งใจจะเรียนสายอาชีวะเมื่อเรียนจบม.3(เกรด3)เพราะอยากเรียนจบให้เร็วที่สุดจะได้ออกมาทำงานช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ทำให้การเรียนที่นี่ไม่น่าเบื่อ ตรงกันข้ามเป็นการเรียนที่สนุกมาก ได้คิดได้ฝึกฝนฝีมืออยู่ตลอดเวลา อยากฝากบอกกับทุกคนว่าเรียนอาชีวะไม่ยากและไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายๆ คนคิด

             ภาพลักษณ์ “เด็กอาชีวะ” ที่ไม่ชวนฝันมีแต่ใช้ความรุนแรง เรียนแย่ เรียนเพราะไม่มีที่ไปและทัศนคติครั้งเก่าที่ฝังใจพ่อแม่ว่าต้องให้ลูกเรียนสูงจบปริญญาตรีจะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีเงินเดือนสูง กลายเป็นการตัดสินคุณค่าของเด็กอาชีวะอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่ง น.ส.สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เล่าว่า มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างบุคลากรในสายช่างซึ่งตลาดมีความต้องการอยู่กว่า 190,000 คนต่อปี แต่มีผู้เรียนปวช.สายช่างอยู่ที่ 9 หมื่นคน ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเอสซีจีได้จัดทำโครงการฝีมือชน คนสร้างชาติ ให้ทุนการศึกษาผูัเรียนปวช.-ปวส.สายช่าง จำนวน 1,500 ทุน ระยะเวลา 5 ปี (2556-2560) ใช้งบประมาณ 165 ล้านบาท รับมาแล้ว 3รุ่น

             “เพื่อปรับทัศนคติมุมมองการเรียนอาชีวะ มูลนิธิเอสซีจีได้จัดกิจกรรมหลากหลายผ่านโลกโซเชียลมีเดียที่ประชาชนเข้าถึงง่าย อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม ฯลฯ จัดทำมินิซีรีส์สะท้อนภาพการเรียนอาชีวะด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย ตรงใจของวัยรุ่น และที่ได้รับความสนใจอย่างมากก็คือเพลงฝีมือชนคนสร้างชาติ มีการอัพโหลดลงยูทูบ พบว่ามียอดเข้าชมกว่า 1 แสนครั้ง” น.ส.สุวิมลกล่าว

             ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมของประเทศต้องแรงงานสายช่างจำนวนมาก จาก 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ประเมินว่าอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี2558-2560) ต้องการสูงถึง 187,960 คน สาขาที่ต้องการมากที่สุด คือ สาขาช่างกลโรงงาน 50% รองลงมา ได้แก่ สาขาช่างเชื่อม 20% สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 10% สาขาแมคคาทรอนิกส์ 10% และสาขาแม่พิมพ์ 10% โดยที่ผ่านมาสภาอุตฯ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีจับคู่สถานประกอบการกับวิทยาลัยในสังกัด สอศ. เพื่อส่งนักเรียน นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง เพราะมีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยทำให้เด็กได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อจำกัดของวิทยาลัยหลายแห่ง

             สอดคล้องกับ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ความร่วมมือจัดทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ปฏิรูปอาชีวศึกษา ซึ่งดำเนินการมากว่า 3 ปีได้ผลดี ล่าสุดปี 2558 มีสถานประกอบการเข้าร่วม 13,680 แห่ง มีนักเรียนเข้าร่วม 79,643 คน ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะมีเด็กเข้าร่วมทวิภาคีถึง 2 แสนคน มีสถานประกอบเข้าร่วมมากกว่า 2 หมื่นแห่ง ส่วนภาพลักษณ์อาชีวะที่ผ่านมาไม่เป็นที่ประทับใจเท่าใดนัก ซึ่งสอศ.ก็ได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและดึงดูดให้ผู้ปกครองและเด็กหันมาเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น เช่น โครงการเตรียมอาชีวศึกษา หรือ พรีอาชีวะ ที่นำเด็กมาเข้าค่ายฝึกการอยู่ร่วมกันสร้างความสามัคคี หวังลดปัญหาการทะเลาะวิวาทด้วย นอกจากนี้ สอศ.ได้จัดทำโครงการช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ เป็นการให้ทุนระยะยาว 15 ปี จำนวน 11,500 ทุนใช้งบประมาณ 29,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งทุนดังกล่าวจะส่งเสริมให้เด็กสายช่างได้พัฒนาตนเองทั้งในและต่างประเทศ

             “ที่ผ่านมา 9 ปี เด็กเรียนอาชีวะลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการแรงงานของประเทศไทย แต่จากที่เราได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสะท้อนภาพลัักษณ์ของอาชีวะในเชิงบวก พบว่ายอดผู้เรียนเพิ่มขึ้นโดยในปีการศึกษา 2558 มีผู้เรียนอาชีวะ 202,410 คนจากที่คาดการณ์ไว้ 178,538 คนเพิ่มขึ้น 26.04% ขณะที่ปีการศึกษา 2557 อยู่ที่ 160,590 คน ไม่รวมเด็กระดับปวช.ในระบบทวิภาคีและเด็กในโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ทวิศึกษา จำนวน 3 หมื่นคน แต่จากนี้ไม่ใช่เพียงการพัฒนาทักษะฝีมือเด็กอาชีวะให้มีทักษะฝีมือและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการประเทศเท่านั้น แต่เราจะเร่งสื่อสารให้ทุกคนให้สังคมได้เห็นศักยภาพของเด็กอาชีวะในบทบาทของ ”ฝีมือชน คนสร้างชาติ“ ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่เด่นชัดของเด็กอาชีวะและคำดังกล่าวก็ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

             ถึงเวลาที่สังคมไทยควรปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีต่อเด็กอาชีวะ เพราะปัญหาเด็กตีกัน เด็กทะเลาะวิวาท มีเพียง 1% เท่านั้น ขณะที่เด็กอาชีวะที่เหลือล้วนเป็น “ฝีมือชน” ที่จะร่วมสร้างชาติให้เข้มแข็งและก้าวทันต่อกระแสโลก