ไลฟ์สไตล์

ห้องเรียนธรรมชาติที่ 'ลีเล็ด'

ห้องเรียนธรรมชาติที่ 'ลีเล็ด'

19 ก.ค. 2558

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ห้องเรียนธรรมชาติที่ 'ลีเล็ด' : เรื่อง...สินีพร มฤคพิทักษ์ / ภาพ...วัชรชัย คล้ายพงษ์

 
                      แผ่นพับแนะนำตำบลลีเล็ดบอกว่าเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมชาติ มหัศจรรย์ป่าชายเลนไทย” ถามว่าหมายถึงอะไร? ประเสริฐ ชัญจุกรณ์ กำนันตำบลลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ตอบว่าที่นี่เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่สุดในจังหวัด เป็นห้องเรียนทางธรรมชาติที่มีคนจากสถาบันการศึกษานับพันมาศึกษาเรียนรู้
 
                      “ลีเล็ด” เป็นชื่อตำบลชายฝั่งทะเลของ อ.พุนพิน มีอายุราว 2,200 ปี ด้วยเคยพบหลักฐานลูกปัดยุคทวารวดีจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 4,000 คน ประกอบอาชีพปลูกมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน 50 เปอร์เซ็นต์, ทำประมงพื้นบ้าน 20 เปอร์เซ็นต์, เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอื่นๆ
 
                      เสน่ห์ของที่นี่คือ ธรรมชาติ สายน้ำใสในลำคลอง ผืนป่าชายเลนขนาด 7,818 ไร่ อันเปรียบเสมือนบ้านของสัตว์และไม้น้ำนานาพันธุ์ อากาศบริสุทธิ์ วิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้านที่ยึดอาชีพประมงพื้นบ้าน ทั้งหมดนี้ทำให้ลีเล็ดเป็น “ชุมชนตัวอย่างด้านการอนุรักษ์” และได้รับรางวัลจากหน่วยงานหลายแห่ง รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีที่พักแบบโฮมสเตย์ มีกิจกรรมล่องเรือยามเย็นชมหิ่งห้อยบนต้นลำพู ลิงแสมที่ห้อยโหนอยู่ชายป่าริมน้ำ ทั้งหมดนี้ให้บริการโดยคนในชุมชน
 
                      คนขับเรือซึ่งมีทั้งหมด 11 ลำ ก็เป็นชาวประมงที่ต้องเคลียร์คิว นำอุปกรณ์หาปลาออกจากเรือก่อนมารับนักท่องเที่ยว !
 
                      “คม ชัด ลึก” ได้ล่องเรือชมป่าชายเลนผืนใหญ่ในโอกาสที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นำสื่อมวลชนศึกษาดูงาน ความเข้มแข็งของคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่จัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและบริหารกิจกรรมในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอ ทำให้ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน สภาพของป่ารุกทะเล (พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นในทะเล) และพื้นที่กำเนิดหอยแครง อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน
 
                      ก่อนหน้านี้ลีเล็ดก็เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ที่ชาวบ้านตัดโค่นต้นไม้เพื่อนำมาใช้ทำเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ใช้เผาถ่าน เนื่องจากในอดีตไม่มีไฟฟ้าหรือแก๊ส ตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมาเทคโนโลยีด้านการประมงที่พัฒนาให้สามารถจับสัตว์น้ำได้เป็นจำนวนมากต่อครั้ง มีการใช้อวนรุน อวนลาก ไฟฟ้า เครื่องมือเหล่านี้ไปพลิกหน้าดินใต้น้ำทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสัตว์และพืชน้ำ ประกอบกับมีการทำลายป่าชายเลนมากขึ้น ระบบนิเวศจึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
 
                      ปี 2533-2539 สภาพแวดล้อมเสียหายมากขึ้นจากการเลี้ยงกุ้งส่งออก เนื่องจากขายได้ราคาดี จากกิโลกรัมละร้อยกว่าบาทเป็น 400-500 บาท ชาวบ้านจึงพากันเลี้ยงกุ้ง ปัญหาที่ตามมาคือมีการทิ้งน้ำเสียและขี้กุ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ภายในเวลาไม่กี่ปีน้ำในคลองรอบ ต.ลีเล็ด เกิดการเน่าเสียเกือบทั้งหมด
 
                      ทว่า ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน ผู้มีส่วนได้เสีย คนในชุมชน จึงช่วยกันพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นปัจจุบัน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งผืนป่า ผืนน้ำ เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ นกหายากหลายชนิด เป็นที่อยู่ของหิ่งห้อยนับล้านๆ ตัว นำมาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวได้
 
                      เมื่อป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้มีกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำอาชีพประมงพื้นบ้าน และรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว จากเดิมเฉลี่ยประมาณ 27,000 บาท/คน/ปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 93,338 บาท/คน/ปี
 
                      กำนันประเสริฐบอกว่า ได้ใช้การท่องเที่ยวเป็น “กุศโลบาย” เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านหันมาอนุรักษ์ทรัพยากร และพัฒนาชุมชนทุกด้าน
 
                      “เราทำจนได้รับรางวัลระดับประเทศหลายรางวัล แต่นี่ไม่ใช่สิ่งสูงสุด ที่สูงสุดคือได้คน เรามีกิจกรรมต่อเนื่อง วันนี้เราทำสิ่งแวดล้อม ตอนที่วิ่งเรือผ่านจะเห็นว่าขยะในพื้นที่ในแม่น้ำลำคลองมีน้อยมาก เราควบคุมได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนการทำผิดกฎหมายโดยใช้เครื่องมือจับปลาอย่าง โพงพาง อวนรุน การตัดไม้ไม่มีเลย เรามีคณะกรรมการดูแลป่าชายเลน มาจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ละ 3 คน จาก 8 หมู่บ้านรวมเป็น 24 คน ระบบนิเวศป่าชายเลนใช้เวลาฟื้นฟูไม่นาน แต่ป่าต้นน้ำใช้เวลานาน เราสามารถอนุรักษ์และเกิดประโยชน์กลับมาที่ชุมชน พื้นที่ตรงนี้เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต มีกุ้ง หอย ปูปลา ถ้าดูแลดีก็ได้ใช้ประโยชน์นาน”
 
                      ต.ลีเล็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอนุรักษ์มาตั้งแต่ ปี 2547 มีการจัดตั้ง “กลุ่มท่องเที่ยวลีเล็ดเพื่อการอนุรักษ์” ขึ้น และสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวต่างๆ ภายใต้นิยามของคำว่า “การท่องเที่ยวในชุมชน” กล่าวคือ เป็นการจัดการการท่องเที่ยวโดยใช้ของดีในชุมชน ซึ่งรวมถึงคน ศิลปวัฒธรรม เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี การละเล่น วิถีชีวิตเฉพาะถิ่น การดำเนินชีวิตแบบชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ภูมิปัญญาในการหากุ้ง หอย ปูปลา โดยใช้เครื่องมือที่คิดค้นเอง
 
                      ในการดำเนินการจัดการดูแลรักษาทรัพยากรและป่าชายเลน มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรของ ต.ลีเล็ด โดยเน้นเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการดูแลทรัพยากรชายฝั่งเป็นหลัก ประกอบด้วย
 
                      1.คณะกรรมการชุมชนประมงต้นแบบ ควบคุมเครื่องมือประมงพื้นบ้านประเภทที่ไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมาย 2.กลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์  3.สภาเด็กและเยาวชน ดูแลรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลขยะในแม่น้ำลำคลอง 4.คณะกรรมการดูแลป่าชายเลน ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ละ 3 คน ดูแลควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่าในตำบล 5.สภาที่ปรึกษาการจัดการทรัพยากรตำบลลีเล็ด
 
                      6.อาสาสมัครอนุรักษ์สัตว์น้ำ ประกอบด้วยชาวบ้านในชุมชนที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านทั้ง 8 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 45 คน ทำหน้าที่สอดส่องดูแลชาวประมงพื้นบ้านให้ทำมาหากินอย่างถูกต้อง เฝ้าระวังไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่าหรือทำผิดกฎหมายประมง 7.กลุ่มชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อรณรงค์และให้ความรู้แก่ชุมชนเรื่องการเลี้ยงกุ้งอย่างถูกวิธี โดยเน้นการควบคุมปริมาณเคมีที่ใช้ และควบคุมไม่ให้มีการทิ้งขี้เลนหรือขี้กุ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
 
                      ปี 2551 องค์กรโครงการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยชายฝั่งและทรัพยากรนานาประการ (Coastal Habitat and Resources Management Project) หรือ CHARM แห่งสหภาพยุโรปได้ประกาศให้ลีเล็ด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยอดเยี่ยม ที่มีชาวท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง อีกทั้งคนในชุมชนยังนำทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยว
 
                      ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้เสียและคนในชุมชน ที่ช่วยกันพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง !
 
 
 
 
-----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ห้องเรียนธรรมชาติที่ 'ลีเล็ด' : เรื่อง...สินีพร มฤคพิทักษ์ / ภาพ...วัชรชัย คล้ายพงษ์)