ไลฟ์สไตล์

'มะรุม' สุดยอดผักใบเขียว ต้านความดันโลหิตสูง

'มะรุม' สุดยอดผักใบเขียว ต้านความดันโลหิตสูง

24 ก.ค. 2558

ดูแลสุขภาพ : 'มะรุม' สุดยอดผักใบเขียว ต้านความดันโลหิตสูง

 
                      มะรุม ถือได้ว่าเป็นผักใบเขียวที่มีโปรตีนมากที่สุด คนไทยใหญ่เรียกมะรุมว่า “ผักเนื้อไก่” ส่วนคนภูไท หรือคนในแถบสกลนครจะนำมาทำผงนัว ไว้ปรุงรสอาหารแทนผงชูรส มะรุมสามารถกินเป็นผักได้แทบทุกส่วน ตั้งแต่ใบอ่อน ช่อดอก ฝักอ่อน โดยนำมาลวก นึ่ง กินกับน้ำพริก แจ่ว กินแนมกับลาบ ก้อย หรือจะนำช่อดอกทำแกงส้ม แกงอ่อม นำมาดองเพื่อกินกับน้ำพริก ส่วนฝักอ่อนซึ่งมีวิตามินซีสูงมาก นิยมแกงส้มกินตอนต้นฤดูหนาว เพื่อป้องกันหวัด และเป็นช่วงที่มะรุมจะเริ่มมีฝักอ่อนนั่นเอง นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการกินมะรุมจะช่วยรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน ช่วยบำรุงสายตา บำรุงน้ำนม ช่วยย่อยอาหาร และช่วยระบายท้อง
 
                      จากประสบการณ์ในการคลุกคลีกับหมอยาพื้นบ้าน เห็นว่าโรคความดันโลหิตสูง เหมาะที่จะกินมะรุมเป็นอาหารสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากมีประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับการศึกษาทางเภสัชวิทยา ที่พบว่า ในส่วนของ “ใบ” และ “ราก” ของมะรุม มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตได้ โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ niazininA, niazininB, niazimicin และ niaziminin A and B
 
 
มะรุมจัดเป็นยาร้อน ซึ่งสรรพคุณตามตำรายาไทย ดังนี้
 
 
                      - เปลือก มีรสร้อน ช่วยขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมและเรอ คุมธาตุอ่อนๆ
 
                      - กระพี้ มีรสร้อนเฝื่อน แก้ไข้สันนิบาต
 
                      - ราก มีรสเผ็ดหวานขม แก้บวม แก้ลมเข้าข้อ บำรุงไฟธาตุ
 
                      - ฝักมะรุม มีรสหวานเย็น ดับพิษถอนไข้ แก้ปัสสาวะไม่ปกติ
 
                      - เมล็ด มีรสมัน ถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน แก้ขัดเบา
 
 
                      ทุกส่วนของมะรุม ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับลม บำรุงธาตุ แก้อาการหวัด หอบหืด หมอยาไทยสมัยก่อนนิยมต้มเปลือกหรือรากมะรุมให้คนไข้ที่มีอาการข้ออักเสบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ชาตามปลายมือเท้ากิน หรือเข้ายาตัวอื่นเป็นยาประคบภายนอก ช่วยการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
 
                      เมื่อไม่นานมานี้ มีการเผยแพร่สรรพคุณของใบมะรุม ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังต่างๆ มากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปวดข้อ ชะลอความแก่ ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลาย และอื่นๆ อีกมากมาย แต่การศึกษาส่วนใหญ่ยังอยู่ในห้องทดลอง หรือหากจะใช้ให้ได้ผลต้องกินในปริมาณสูงมากๆ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ การกินมะรุมเป็นผัก เป็นอาหารสุขภาพ
 
 
ตำรับยา
 
 
ตำรับยาความดันโลหิตสูง (ต้องกินต่อเนื่อง)
 
                      1. ใช้รากต้มกินเป็นซุป
 
                      2. ใช้ยอดต้มกิน
 
                      3. ใช้ยอด อุ๊บใส่เนื้อวัว (ต้องเป็นเนื้อวัวเท่านั้น)
 
                      4. ใช้รากมะรุมต้มกับรากย่านางกิน
 
                      5. ใช้ยอดมะรุมสด ยอดอ่อนหรือแก่ก็ได้ นำมาโขลกคั้นน้ำ ผสมน้ำผึ้งพอหวาน กินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว
 
 
ตำรับยาแก้ปวดเมื่อย
 
                      ใช้เปลือกมะรุมต้มอาบ ก่อนอาบกินสามวัก แก้เมื่อย
 
 
ตำรับยาแก้ชาปลายมือ-เท้า
 
                      1. ใช้เปลือกต้นมะรุม กับต้นเหงือกปลาหมอสด หนักอย่างละเท่าๆ กัน หรือหนักอย่างละ 60 กรัม สับเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่น้ำท่วมยา ต้มเดือด 15 นาที กินครึ่งแก้วกาแฟ ก่อนอาหาร 3 มื้อ ต้มกินเรื่อยๆ จนจืด กินต่อเนื่อง 1 หม้อ จะเริ่มสังเกตอาการชาลดลง
 
                      2. ใช้เปลือกมะรุม และไพล ตำ ทำเป็นลูกประคบ
 
 
ตำรับยาแก้หอบ
 
                      เมื่อเป็นหวัดแล้วมีอาการหอบ ให้นำฝักมะรุมแกงกินหลายๆ ครั้ง อาการจะทุเลา
 
 
ตำรับยาผิวหนังถูกน้ำร้อนลวก
 
                      ใช้เปลือกมะรุม ฝนกับน้ำปูนใสทา ฝนให้น้ำยาออกข้นๆ อาการจะทุเลาใน 15 นาที ทาบ่อยๆ
 
 
ตำรับยาบำรุงสายตา
 
                      ใช้รากมะรุม ขนาดเท่าข้อมือ ยาว 1 คืบ ล้างน้ำสะอาด หั่นเนื้อและเปลือก ตากแดดให้แห้ง แล้วบดผสมพริกไทยล่อน 1,000 เม็ด ผสมน้ำผึ้งแท้ ปั้นเท่าเม็ดพุทรา กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหาร
 
 
                      ข้อควรระวัง มะรุมเป็นยาร้อน ทุกส่วนของมะรุมสามารถทำให้แท้งได้ โดยเฉพาะเปลือกรากและเปลือกต้น ผู้ป่วยที่ใช้มะรุมติดต่อเป็นเวลานานๆ ควรตรวจการทำงานของตับ เพราะมีการพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ใช้มะรุมติดต่อกันเป็นเวลานาน มีปริมาณเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น
 
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
 
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
 
โทร.0-3721-1289